เวย์โปรตีน ตอน 1 ชนิดของเวย์โปรตีน

เวย์โปรตีนตอน-1

      

      ในอดีตเมื่อกล่าวถึงเวย์โปรตีน คนส่วนใหญ่จะนึกถึงการรับประทานเวย์โปรตีนเพื่อการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ หรือผู้ที่ออกกำลังกายเพาะกล้าม ในวงการกีฬาเท่านั้น แต่ปัจจุบันเวย์โปรตีนมีบทบาทมากในและมีความสำคัญต่อสุขภาพที่ช่วยในการบำบัดโรคและส่งเสริมภาวะโภชนาการในกลุ่มผู้ป่วย จากรายงานการศึกษาวิจัย พบว่ามีการใช้เวย์โปรตีนในทางการแพทย์กับโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไวรัสตับอักเสบ โรคเอดส์ โรคไต โรคมะเร็ง ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบันเราจะเห็นการใช้เวย์โปรตีนสำหรับผู้ป่วยเพื่อเสริมสร้างภาวะโภชนาการในโรงพยาบาลลอย่างแพร่หลาย เช่น นำเวย์โปรตีนมาผสมกับอาหารทางสายให้อาหารสำหรับผู้ป่วย ที่มีปัญหาขาดโปรตีน,ผู้ป่วยที่มีระดับอัลบูมินต่ำ (Albumin) , ผสมกับเครื่องดื่ม,อาหารเหลว, มีการดัดแปลงเป็นเมนูอาหารต่างๆทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาต่างๆได้มีทางเลือกในการรับประทานอาหาร

      เวย์โปรตีน

      เป็นโปรตีนคุณภาพสูงอุดมไปด้วยกรดอะมิโนจำเป็น สกัดมาจากนมวัว โดยสกัดส่วนที่เป็นคาร์โบไฮเดรตและไขมันออกให้คงเหลือส่วนที่เป็นโปรตีนและนำมาผ่านกระบวนการทำให้แห้งเพื่อให้อยู่ในรูปผงเวย์โปรตีนโดยเวย์โปรตีนเป็นโปรตีนที่ย่อยง่าย สามารถดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว

      ชนิดของเวย์โปรตีน

      เวย์โปรตีนมี 3 ชนิด ดังนี้

      1. เวย์โปรตีน คอนเซนเตรท (Whey Protein Concentrate ; WPC) มีความเข้มข้นของเวย์โปรตีนประมาณ 29-89% โดยน้ำหนัก มีลักษณะเป็นผงสีครีมอ่อนและมีกลิ่นรสตามธรรมชาติแบบนม อุดมไปด้วยกรดอมิโนครบถ้วนทั้ง 20 ชนิด ยังคงมีส่วนของคาร์โบไฮเดรตและไขมันอยู่บ้าง มี Brached Chain Amino Acid สูง ซึ่งกรดตัวนี้จะช่วยในการเพิ่มระดับ Growth Hormone ให้กับร่างกาย และช่วยเพิ่มการสังเคราะห์โปรตีนและไกลโคเจน เพื่อช่วยในการเพิ่มขนาดของกล้ามเนื้อ

      2. เวย์โปรตีน ไอโซเลต (Whey Protein Isolate;WPI) ได้จากการนำเวย์โปรตีนคอนเซนเตรท มาผ่านขบวนการผลิตเพิ่มเติม โดยผ่านขบวนการแยกน้ำตาลแลคโตสและไขมันออก เพื่อทำให้ความเข้มข้นของเวย์โปรตีนสูงขึ้น ประมาณ 90-95% มีลักษณะเป็นผงสีครีมอ่อนและมีกลิ่นรสธรรมชาติแบบนมเช่นกัน มีปริมาณเกลือโซเดียมน้อยกว่าเวย์โปรตีนคอนเซนเตรท

      3. เวย์โปรตีน ไฮโดรไลเซต (Whey Protein Hydrolysate; WPH) เป็นเวย์โปรตีนไอโซเลตที่ถูกผ่านกระบวนการ hydrolyze ทำให้โมเลกุลของเวย์โปรตีนที่มีขนาดใหญ่มากถูกย่อยจนอยู่ในรูปโมเลกุลขนาดเล็กๆ ที่เรียกว่าเปปไทด์ ข้อเสียของกระบวนการนี้คืออาจต้องสูญเสียวิตามินย่อยๆไปจนหมด และด้วยขนาดโมเลกุลที่เล็กกว่านั้นร่างกายจะสามารถดูดซึมไปใช้งานได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด ข้อดีคือลดการแพ้โปรตีนได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับเวย์โปรตีนชนิดอื่นๆ เวย์โปรตีนชนิดนี้นิยมใช้สำหรับอาหารทางการแพทย์ หรืออาหารทางหลอดเลือดดำ

แหล่งข้อมูล:

  1. เอกราช บำรุงพืช. (2561). Therapeutic Appplications of Whey Protein:From Research to Clinical Use. ว.สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย. ปีที่ 38.(ฉบับที่ 1-3 มกราคม-ธันวาคม):135