เวชศาสตร์การบิน (Aviation Medicine)

สารบัญ

เวชศาสตร์การบินคืออะไร?

ปัจจุบันการเดินทางที่สะดวกปลอดภัยและรวดเร็วคือ การเดินทางโดยทางอากาศ ด้วยเครื่องบิน จากสถิติพบว่า มีผู้โดยสารเครื่องบินจำนวนมากในแต่ละวัน ทำให้โลกเราทุกวันนี้แคบลง วิวัฒนาการด้านการบินได้เจริญรุดหน้าไปอย่างมาก วิศวกรสามารถประดิษฐ์และพัฒนาอากาศยานให้ล้ำหน้าไปมากเกินกว่าที่ร่างกายมนุษย์เราจะทนทานหรือปรับตัวได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยวิชาการด้านการแพทย์โดยเฉพาะเวชศาสตร์การบิน (Aviation medicine) เข้ามาช่วยปรับปรุงประยุกต์และพัฒนาเพื่อให้สรีระร่างกายของมนุษย์เรา สามารถบินไปได้กับอากาศยานต่างๆที่ได้พัฒนาไปมาก จึงเป็นแหล่งที่มาของวิชาการด้านเวชศาสตร์การบิน

เวชศาสตร์การบินเป็นวิชาทางการแพทย์สาขาหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อการทำ งานของร่างกายมนุษย์อันเนื่องมาจากการบิน เมื่อทำการบินหรือเดินทางโดยอากาศยาน ทำให้มนุษย์ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป จากสภาวะความเคยชินที่มนุษย์ดำรงอยู่ในช่วงวิวัฒนาการอันยาวนานของมนุษยชาติ สภาวะดังกล่าวได้แก่ การขึ้นไปที่ระยะสูง ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ เนื่องจากความกดบรรยากาศที่ลดลง ความหนาแน่นของอา กาศตลอดจนอุณหภูมิ และความชื้นที่ลดต่ำลงอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงของความเร็ว และถ้าเป็นการบินที่ซับซ้อน จะทำให้เกิดอาการหลงสภาพการบิน และผลกระทบจากอัตราเร่งของอากาศยาน อีกทั้งการที่เครื่องบินสามารถทำการบินได้เป็นระยะเวลานานและระยะ ทางที่ยาวไกล ทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าและยังมีผลจากการจำกัดพื้นที่และการเคลื่อนไหวของร่างกาย ตลอดจนการปรับเปลี่ยนเวลาของนาฬิกาชีวภาพของมนุษย์ ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายมนุษย์รวมเรียกว่า สรีระวิทยาการบิน (Aviation Physio logy)

นอกจากนี้ การทำการบินเป็นการปฏิบัติงานที่ยุ่งยากและซับซ้อน จึงต้องการบุคคลที่มีความเหมาะสมของพื้นฐานด้านบุคลิกภาพ ระดับเชาว์ปัญญา ตลอดจนปฏิกิริยาการตอบสนองของร่างกายที่เหมาะสมและรวดเร็ว เป็นต้น รวมเรียกว่า ปัจจัยด้านจิตวิทยาการบิน (Aviation Psychology)

กล่าวโดยสรุปเวชศาสตร์การบิน เป็นวิชาการด้านการแพทย์ซึ่งดำเนินการเกี่ยวข้องกับมนุษย์เพื่อที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยต่อการบิน และก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการปฏิบัติงานหรือเดินทางโดยอากาศยาน

ความเป็นมาของกิจการเวชศาสตร์การบินของโลก

ในปี ค.ศ. 1783 (พ.ศ. 2326) พี่น้องตระกูล Montgolfier ได้ปล่อยบอลลูนซึ่งบรรจุด้วยอากาศร้อน และบรรทุกเป็ด ไก่ และ แกะ ไปด้วย ลอยขึ้นไปสูง 1,500 ฟุต และกลับลงมาได้โดยปลอดภัย ต่อมาเมื่อเดือน ธันวาคม ค.ศ. 1783 เช่นกัน (พ.ศ. 2326) Pilatre De Rozier ได้โดยสารไปกับบอลลูน บรรจุด้วยแก๊สไฮโดรเจน (Hydrogen) ขึ้นไปที่ระยะสูง 8,800 ฟุตได้โดยปลอดภัย

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1903 (พ.ศ. 2446) พี่น้องตระกูล Wright ประดิษฐ์เครื่องบินซึ่งสามารถทำการบินได้นาน 12 วินาที เป็นระยะทาง 120 ฟุต ถือว่าเป็นการบุกเบิกสู่ยุคของอา กาศยานที่หนักกว่าอากาศ ต่อมาอากาศยานได้มีพัฒนาการอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง แต่กลับพบว่าอุปสรรคที่สำคัญ คือ ข้อจำกัดอันเนื่องมาจากร่างกายของมนุษย์นั่นเอง

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 กองกำลังทางอากาศของชาติต่างๆได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยเพื่อให้มีความเข้าใจถึงขีดจำกัด และความสามารถในการปรับตัวของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมต่างๆอันเนื่องมาจากการบิน เพื่อนำมาใช้เป็นมาตรการในการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานบนอากาศ อีกทั้งยังมีการตรวจคัดเลือกเพื่อให้ได้ผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะเป็นนักบินอีกด้วย มาตรการดังกล่าวทำให้กองทัพอากาศอังกฤษสามารถลดอัตราการเสียชีวิตเนื่อง จากอากาศยานอุบัติเหตุที่มีสาเหตุจากตัวนักบิน ลงจาก 90% เหลือเพียง 20% และ 12% ในอีก 2 และ 3 ปี ถัดมา ส่วนประเทศเยอรมัน ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ได้จัดให้มีแพทย์ประจำ การที่หน่วยบิน และจัดเป็นหน่วยงานเวชศาสตร์การบินขึ้นในกองทัพ

สงครามโลกครั้งที่ 2 กิจการเวชศาสตร์การบินได้เจริญรุดหน้าไปเป็นอย่างมาก เกิดความ รู้ด้านเวชศาสตร์การบิน และได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ใหม่ๆขึ้นหลายชนิด เช่น อุปกรณ์ออกซิเจน อุป กรณ์สายรัดตัว ตลอดจนการพัฒนาเป็นสถาบันวิจัยและฝึกอบรมสรีระวิทยาการบินขึ้น

สงครามเกาหลีเป็นยุคของเครื่องบินไอพ่น ทำให้มีประดิษฐ์กรรมใหม่ๆด้านเวชศาสตร์การบินเกิดขึ้น เช่น ระบบเกาอี้ดีด เป็นต้น และมีการพัฒนาต่อเนื่องไปสู่ระบบการยังชีพในอว กาศในยุคการส่งมนุษย์ขึ้นไปสู่อวกาศ จนกระทั่งไปลงบนดวงจันทร์ได้ในที่สุด

ส่วนการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศนั้น มีการดัดแปลงเครื่องบินเพื่อใช้ในการลำเลียงทหารที่บาดเจ็บจากสมรภูมิตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 หลังจากนั้นในปี ค.ศ.1921-1923 (พ.ศ. 2464-2466) กองทัพฝรั่งเศส ได้ใช้เครื่องบินลำเลียงทหารบาดเจ็บมากกว่า 1,000 คน กลับจากการรบในประเทศโมร๊อคโค ส่วนเยอรมันใช้ปฏิบัติการลำเลียงทางอากาศสำหรับผู้ป่วยจากสงครามกลางเมืองในสเปน เมื่อ ค.ศ. 1936–1938 (พ.ศ. 2479-2481) ซึ่งระยะเวลาในการบินเดินทางมากกว่า 10 ชั่วโมง ระยะห่างไกลถึง 1,600 ไมล์ สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมากกว่า 2,500 คน เมื่อปี ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2482) ระหว่างสงครามกับโปแลนด์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เอง สหรัฐอเมริกาให้หน่วย Medical Air Ambulance ในการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศจากทุกยุทธบริเวณ และให้การลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศเป็นภาระกิจที่สำคัญ ทำให้ลดอัตราการสูญเสียทหารที่ได้รับบาดเจ็บได้เป็นจำนวนมาก ตลอดจนช่วงสงครามเกาหลี สงครามเวียด นาม และสงครามอ่าวเปอร์เซีย ที่ผ่านมา

ประวัติกิจการเวชศาสตร์การบินของไทย

ประเทศสยาม นับเป็นประเทศแรกๆของเอเชียที่ได้มีโอกาสชมการแสดงการบิน ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆของโลกในขณะนั้น โดยชาวเบลเยียมได้นำเครื่องบินแบบ อองรี ฟาร์ม๊อง 4 เมื่อเดือน มกราคม – กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2453 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 พระราชวงศ์หลายพระองค์เสด็จเข้าร่วมชมการแสดงดังกล่าว ณ สนามม้าสระปทุม และได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของกำลังทางอากาศในการปกป้องอธิปไตยของชาติ ต่อมาทางราชการได้ส่งนายทหารไปศึกษาวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส และกลับมาพัฒนากิจการการบินขึ้นในประเทศ ขณะเดียวกันก็ได้จัดให้มีแพทย์ประจำหน่วยบินด้วย โดยเรียกกันง่ายๆว่า “หมอสำหรับนักบิน”

แม้กิจการเวชศาสตร์การบินในระยะแรกจะไม่ได้ตรวจรักษาหรือดูแลสุขภาพของผู้ทำการในอากาศหรือผู้ประจำหน้าที่แบบซับซ้อนมากนัก แต่โดยภาพรวมแล้วอดีตผู้บังคับบัญชาของกองทัพอากาศล้วนให้ความสำคัญต่อกิจการเวชศาสตร์การบินเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อมีการรับสมัครศิษย์การบินเป็นครั้งแรกในเดือน มกราคม พ.ศ. 2457 คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกซึ่งประกาศไว้คือ “..............นอกจากเป็นนายทหารสัญญาบัตร อายุไม่เกิน 25 ปี ยังต้องเป็นผู้ที่แพทย์ให้การรับรองว่ามีกำลังกาย บริบูรณ์แข็งแรง กล้ามเนื้อทั้งหลายดี หู ตา ปอด ไต เส้นประสาทดี มีสติมั่นคง กล้าหาญ ไม่ตกใจแก่เหตุที่จะเกิดขึ้นอย่างน่ากลัว ไม่สะเพร่า และมีเชาว์ไหวพริบดี............”

ขั้นตอนการเลือกผู้ทำการในอากาศ (นักบิน) เป็นกระบวนการที่เข้มข้นมาก ดังที่ผู้บังคับกองโรงเรียนการบิน กราบบังคมทูลเกล้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งเสด็จฯเยี่ยมชมกิจการของกรมอากาศยานพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2470 ว่า “………..การรับศิษย์การบินของกรมอากาศยาน นอกเหนือจากการคัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ ยังจะต้องผ่านการตรวจทางการแพทย์อีกถึง 3 ครั้ง โดยครั้งแรก จะตรวจในวันรับสมัครโดยแพทย์ของกรมอากาศยาน ครั้งที่ 2 จะต้องผ่านการเห็น ชอบจากคณะแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์โดยนายทหารอายุรแพทย์ ศัลยแพทย์และจักษุแพทย์ เมื่อผ่านแล้วจะต้องผ่านการตรวจซ้ำอีกครั้งโดยนายทหารนักบิน หากเห็นว่าผู้ใดมีลักษณะไม่เหมาะหรือคณะกรรมการลงความเห็นว่า เป็นนักบินขับไล่ไม่ได้ ก็จะไม่ยอมรับสมัครให้เข้าศึกษา.........”

ต่อมากองบินทหารบก ได้ย้ายจากปทุมวันไปเข้าที่ตั้งสนามบินดอนเมือง เมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2457 และยกฐานะเป็นกองทัพอากาศ เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2480 ส่วนกองเสนารักษ์ทหารอากาศ ได้เลื่อนฐานะเป็นกรมแพทย์ทหารอากาศ เมื่อ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491 และจากนั้นมีการตั้ง กองเวชศาสตร์การบิน กรมแพทย์ทหารอากาศ ขึ้นเมื่อ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2498 ซึ่งมีวัตถุประสงค์

  • เพื่อความปลอดภัยในการบิน ลดอุบัติเหตุจากการบินให้น้อยลง
  • เพื่อเพิ่มพูนสุขภาพและสมรรถภาพของนักบินและผู้ทำการในอากาศ
  • เพื่อเพิ่มพูนสมรรถภาพในการรบทางอากาศให้ได้ผลแน่นอน
  • เพื่อการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ

ต่อจากนั้น กองเวชศาสตร์การบิน กรมแพทย์ทหารอากาศก็ได้รับการพัฒนาและสนับ สนุนให้เป็นสถาบันเวชศาสตร์การบิน กรมแพทย์ทหารอากาศ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2519 และเป็นสถาบันเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศ ในปัจจุบัน

บรรณานุกรม

  1. สถาบันเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศ: 6 ทศวรรษเวชศาสตรืการบิน กองทัพอากาศ 2554
  2. Curdt-Christiansen,C., Draeger,J., Kriebel,J. Principles and practice of Avian Medicine.World Scientific Publishers,2010.
  3. Rayman,R. et al.Clinical Aviation Medicine. 3rd.edition.2010.