เวชศาสตร์การกีฬา (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

ความเสี่ยงจากการบาดเจ็บสามารถลดลงได้ด้วยการอุ่นเครื่องหรือที่เรียกว่า “วอร์มอัพ” (Warm up) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการยืดตัวในขณะเคลื่อนไหว (Stretches whilst moving) นอกจากนี้ควรใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการบาดเจ็บ เช่น การสวมปลอกเข่า หมวกนิรภัย เป็นต้น

การยืดกล้ามเนื้อ การเพิ่มความยืดหยุ่น ควรทำก่อนและหลังการเล่น ควรมีการพักระหว่างการเล่นเพื่อลดอาการบาดเจ็บและป้องกันการเจ็บป่วยที่เกิดจากอาการร้อนเกิน (Heat illness) ควรหยุดเล่นทันทีที่มีอาการปวด และควรสวมเสื้อผ้าที่เบาสบาย

ปัจจัยที่มีผลต่อโภชนาการของนักกีฬาจะรวมถึงประเภทของกีฬา เพศ น้ำหนัก ส่วนสูง ดัชนีมวลกาย (Body mass index : BMI) ระยะของการออกกำลังกาย (เช่น ก่อนออกกำลังกาย ระหว่างออกกำลังกาย หรือ ช่วงฟื้นฟู เป็นต้น) ช่วงเวลาของวัน (สารอาหารบางอย่างอาจให้ประโยชน์สูงสุดตอนนอนมากกว่าตอนตื่น)

นักกีฬาหลายคนมองหาอาหารเสริม (Dietary supplements) เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเล่นกีฬา บางคนอาจใช้ยาที่ผิดกฏหมาย เช่น ยาช่วยสร้างกล้ามเนื้อ (Anabolic steroids) ซึ่งอาจมีผลเสียหลายอย่าง เช่น ทำให้ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

อาหารเสริมโปรตีนเป็นสิ่งที่นิยมในนักกีฬา เพราะเป็นส่วนประกอบสำคัญของการฟื้นฟูและการเพิ่มสมรรถภาพ โดยช่วยสร้างกล้ามเนื้อและเพิ่มกำลัง อย่างไรก็ดีการได้รับโปรตีนและกรดอะมิโน (Amino acid) มากเกินไปก็สามารถทำให้เกิดโทษได้ เช่น ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ (Dehydration) โรคเกาต์ (Gout) การสูญเสียแคลเซียม ตับและไตถูกทำลาย

นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงต่อกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น ท้องเสีย (Diarrhea) ลำไส้ใหญ่บวม แก๊สในทางเดินอาหาร (Bloating) และสูญเสียน้ำ ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนควบคุมอาหารโปรตีนควบคู่ไปกับการออกกำลังกายด้วย เช่น ประเภทของการออกกำลังกาย ความเข้มข้น ระยะเวลา ตลอดจนปัจจัยเรื่องเพศและอายุ

อาหารเสริม ครีเอทีน (Creatine) ช่วยในการเพิ่มพลังและให้ผลอย่างมีประสิทธิภาพหากใช้ในระหว่างที่กำลังฝึก ครีเอทีนจะให้พลังงานแก่กล้ามเนื้อ จึงช่วยให้นักเพาะกายฝึกได้หนักและนานขึ้น ในปัจจุบันครีเอทีนคือโภชนาการที่สำคัญสำหรับนักกีฬาเพาะกาย

อาหารเสริม กลูตามีน (Glutamine) ที่พบในเวย์โปรตีน (Whey protein) มีส่วนผสมที่สมบูรณ์ของการรวมตัวกันของกรดอะมิโน ทั้งในปริมาณและอัตราส่วนที่เหมาะสม ยิ่งไปกว่านั้นเวย์โปรตีนยังให้ผลโดยตรงกับผู้บริโภคที่ใช้ เพื่อการสร้างมัดกล้ามเนื้อ

ดังนั้นสิ่งที่ควรระลึก ก็คือ ต้องมีการควบคุมการกินอาหารเสริม ซึ่งหากกินในปริมาณที่มากเกิน นอกจากจะเสียเงินมากขึ้นแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อร่างกายได้ด้วย เพราะสาเหตุส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับปัญหาสมรรถภาพ ก็คือ ความเหนื่อยล้า การบาดเจ็บ และอาการเจ็บปวด ซึ่งโภชนาการที่ถูกต้องจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้

การรับประทานอาหารให้หลากหลาย ครบหมู่รวมทั้งวิตามินและเกลือแร่ การรับประทานอาหารสดที่ไม่ผ่านการปรุงแต่ง เช่น การกินส้มสดแทนที่จะดื่มน้ำส้มกล่อง จะให้ประโยชน์มากกว่า เพราะการปรุงแต่งทำให้สารอาหารที่มีประโยชน์ลดน้อยลงไปด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. Sports nutrition. http://en.wikipedia.org/wiki/Sports_nutrition [2012, August 3].
  2. Sports injury. http://en.wikipedia.org/wiki/Sports_injuries [2012, August 3].