เวชศาสตร์การกีฬา (ตอนที่ 1)

นพ.ชาติชาย ภูกาญจนมรกต ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ-เวชศาสตร์การกีฬา โรงพยาบาลสมิติเวช กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลได้จัดตั้งหน่วยเวชศาสตร์การกีฬาหรือการแพทย์กีฬาขึ้นมา เพื่อให้คนไข้เล่นกีฬาหรือคนธรรมดาที่ไม่จำเป็นต้องเจ็บป่วยสามารถเดินเข้ามาในโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาเรื่องข้อจำกัดของการ เล่นกีฬาได้ เช่น อายุเท่านี้จะต้องเล่นกีฬาแบบใด หรือต้องระมัดระวังอะไรเป็นพิเศษ เพราะถ้าเราเล่นกีฬาได้ดีก็แทบจะไม่เจ็บป่วยไปหาหมอ หรือคนที่เล่นกีฬาอยู่แล้วก็สามารถเล่นได้ดียิ่งขึ้น

เวชศาสตร์การกีฬา (Sports medicine) เป็นสาขาทางการแพทย์สาขาหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับสมรรถภาพทางกาย โดยให้การรักษาและป้องกันการบาดเจ็บต่างๆ ที่เกิดจากการเล่นกีฬาและการออกกำลังกาย เป็นสาขาทางการแพทย์ที่เริ่มมีขึ้นในปลายศตวรรษที่ 20 เพื่อดูแลรักษาสุขภาพเฉพาะทางอย่างชัดเจน

แพทย์เวชศาสตร์การกีฬาจะเป็นแพทย์ที่เรียนวิชาหลัก ฝึกเป็นแพทย์ประจำบ้าน และเข้ารับการฝึกอบรมเฉพาะสาขา (Fellowship training) ทางด้านเวชศาสตร์การกีฬา แพทย์เหล่านี้จะมีการเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (Musculoskeletal medicine)

แพทย์เวชศาสตร์การกีฬาจะรักษาอาการบาดเจ็บเกี่ยวกับ กล้ามเนื้อ เอ็นกระดูก (Ligament) เอ็นกล้ามเนื้อ (Tendon) และกระดูก แต่ไม่ได้รักษาอาการเจ็บป่วยเรื้อรังที่มีผลต่อสภาพร่างกาย เช่น โรคหืด (Asthma) และโรคเบาหวาน (Diabetes) ฯลฯ นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการและการป้องกันการบาดเจ็บด้วย

การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬามักเกิดจากการใช้งานมากเกินไป (Overuse) หรือเกิดการบาดเจ็บอย่างรุนแรงในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น การเจ็บเข่าหลังจากการวิ่ง (Runner's knee) การเจ็บข้อศอกหลังจากการเล่นเทนนิส (Tennis elbow) เป็นต้น

แผลฟกช้ำ (Contusion) เกิดจากหลอดเลือดฝอยแตกในเนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อล้า (Muscle strain) เป็นอาการที่ฉีกขาดเล็กน้อยของกล้ามเนื้อ ส่วนเอ็นเคล็ด (Ligament sprain) เป็นอาการที่เนื้อเยื่อเส้นเอ็นฉีกขาดเล็กน้อย ร่างกายจะสนองตอบต่อการบาดเจ็บภายใน 5 วัน นับแต่เกิดเหตุ ด้วยอาการอักเสบ ปวด บวม ร้อน แดง และ อวัยวะนั้นใช้งานไม่ได้

การบาดเจ็บเป็นสาเหตุในการทำลายเซลล์ที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อน เซลล์ที่ตายและถูกทำลาย จะปล่อยสารเคมีซึ่งเป็นตัวก่อให้เกิดอาการอักเสบ หลอดเลือดฝอยที่ถูกทำลายจะเปิดและเลือดจะไหลออกไปยังเนื้อเยื่อ ในปฏิกริยาตอบสนองปกติ ร่างกายจะสร้างลิ่มเลือด (Blood clot) เพื่อหยุดการไหลของเลือด และเซลล์สร้างเส้นใย (Fibroblasts) จะเริ่มกระบวนการรักษาเซลล์ที่เป็นแผล

ดังนั้นอาการอักเสบก็คือขั้นแรกของกระบวนรักษา อย่างไรก็ดีการอักเสบที่มากเกินไปก็อาจทำให้การรักษานั้นใช้เวลานานขึ้นและกลับมาทำกิจกรรมได้ช้าลง ดังนั้นการรักษาอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาจึงมีเป้าหมายในการลดอาการอักเสบจากการบาดเจ็บ เพื่อกระบวนการรักษาจะได้ทำได้เร็วขึ้น

อาการบาดเจ็บที่พบโดยทั่วไปจากการเล่นกีฬา เช่น การกระแทกกระเทือนอย่างแรงบริเวณศีรษะ (Concussion) กล้ามเนื้อเป็นตะคริว (Muscle Cramps) เอ็นเข่าฉีก (Anterior cruciate ligament Sprains) ข้อเข่าเคล็ด (Ankle Sprain) หน้าแข้งแตก (Shin Splints) เป็นต้น

แหล่งข้อมูล:

  1. วัดสมรรถภาพหัวใจก่อนออกกำลังกาย สร้างสุขภาพดี - แข็งแรง - หุ่นเฟิร์ม http://www.dailynews.co.th/article/224/137113 [2012, August 2].
  2. Sports medicine. http://en.wikipedia.org/wiki/Sports_medicine [2012, August 2].
  3. Sports injury. http://en.wikipedia.org/wiki/Sports_injuries [2012, August 2].