เล่าเรื่องไอโอดีน (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

เล่าเรื่องไอโอดีน

สถาบันการแพทย์ของสหรัฐ (The United States Institute of Medicine) ได้แนะนำว่า ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวัน (Dietary Reference Intake = DRI) ของไอโอดีนเป็นดังนี้

  • 110 - 130 ไมโครกรัม สำหรับเด็กอายุถึง 12 เดือน
  • 90 ไมโครกรัม สำหรับเด็กอายุถึง 8 ปี
  • 130 ไมโครกรัม สำหรับเด็กอายุถึง 13 ปี
  • 150 ไมโครกรัม สำหรับผู้ใหญ่
  • 220 ไมโครกรัม สำหรับหญิงมีครรภ์
  • 290 ไมโครกรัม สำหรับหญิงอยู่ระหว่างให้นมบุตร

ทั้งนี้ เกลือเสริมไอโอดีนปริมาณ 1/4 ช้อนชา จะให้สารไอโอดีนได้ประมาณ 95 ไมโครกรัม

และเพื่อไม่ให้เป็นการกระตุ้นการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนที่มากเกิน ปริมาณสูงสุดของสารไอโอดีนที่สามารถรับได้ในแต่ละวัน (The Tolerable Upper Intake Level = UL) ของผู้ใหญ่ไม่ควรเกิน 1,100 ไมโครกรัม (1.1 มิลลิกรัม)

การกินไอโอดีนในปริมาณที่แนะนำค่อนข้างจะปลอดภัย อย่างไรก็ดีไอโอดีนสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง น้ำมูกไหล (Runny nose) ปวดศีรษะ มีรสโลหะ (Metallic taste) และท้องเสีย

ในคนที่ไวต่อไอโอดีน (Sensitive people) ไอโอดีนสามารถทำให้เกิดอาการบวมที่ปากและหน้า (Angioedema) เลือดไหลและมีจ้ำเขียว เป็นไข้ ปวดข้อ ต่อมน้ำเหลืองโต แพ้เป็นลมพิษ (Hives) และเสียชีวิตได้

นอกจากนี้การได้รับปริมาณไอโอดีนที่สูง ยังอาจทำให้มีอาการปวดเหงือกและฟัน ปากและคอไหม้ มีน้ำลายมาก คออักเสบ เป็นโรคผอมแห้ง (Wasting) ซึมเศร้าหดหู่ และมีปัญหาผิวหนัง

หากมีการใช้ไอโอดีนกับผิวหนังโดยตรง อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง (Skin irritation) และเกิดปฏิกิริยาแพ้ (Allergic reactions) รวมถึงผลข้างเคียง ดังนั้นจึงควรระวังบริเวณแผลที่มีการรักษาด้วยสารไอโอดีน โดยไม่ใช้ผ้าพันแผลหรือรัดแผลแน่นเกินไป ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาผิวไหม้จากไอโอดีน (Iodine burn) ด้วย

ทั้งนี้ มีข้อควรระวังในการกินไอโอดีนร่วมกับยาที่ใช้รักษาไทรอยด์ทำงานเกินปกติ (Overactive thyroid) เพราะไอโอดีนสามารถลดการทำงานของไทรอยด์ได้ ดังนั้นการกินร่วมกันจึงอาจทำให้ไทรอยด์ฮอร์โมนลดต่ำลงในปริมาณที่มากเกิน เช่น ยา Methenamine mandelate ยา Methimazole ยา Potassium iodide

นอกจากนี้ต้องระวังการใช้ไอโอดีนร่วมกับยาซึ่งมีส่วนผสมของไอโอดีนด้วย อย่างเช่น ยา Amiodarone ยา Lithium ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACE inhibitor เช่น ยา Captopril ยา Enalapril ยา Lisinopril ยา Ramipril และยาลดความดันโลหิตกลุ่ม Angiotensin receptor blockers (ARBs) เช่น ยา Losartan ยา Valsartan ยา Irbesartan ยา Candesartan ยา Telmisartan และยา Eprosartan เป็นต้น

แหล่งข้อมูล

  1. Iodine. http://en.wikipedia.org/wiki/Iodine [2015, January 24].
  2. Iodine. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/natural/35.html [2015, January 24].
  3. Iodine in diet. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/002421.htm [2015, January 24].