เลโวเมทาดิล (Levomethadyl)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเลโวเมทาดิล (Levomethadyl หรือ Levomethadyl acetate) หรือ Levaacetyl methadol หรือ Levo alpha acetylmethadol ย่อว่า LAAM เป็นสารสังเคราะห์ประเภทโอปิออยด์ (Synthetic opioid) ที่มีโครงสร้างเคมีคล้ายกับยาเมทาโดน (Methadone) ทางคลินิกใช้เป็นยาบำบัดอาการของผู้ที่ติดยาเสพติด โดยยานี้มีการออกฤทธิ์ที่สมองและที่ผนังกล้ามเนื้อเรียบของร่างกายได้ยาวนาน

เภสัชภัณฑ์ของยาเลโวเมทาดิลเป็นยาชนิดรับประทาน ภายหลังการถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยานี้ในกระแสเลือดจะถูกทำลายโดยเอนไซม์ในตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2.6 วันเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด ด้วยเหตุผลนี้เอง จึงไม่ต้องรับประทานยานี้ทุกๆวัน แต่ให้รับประทานอาทิตย์ละ 3 วัน หรือจะรับประทานยาวันเว้นวันก็ได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการสะสม เบตาโบไลท์(Metabolite,สารเคมีที่เกิดจากตัวยาถูกทำลาย)ของยาเลโวเมทาดิลในร่างกายจนสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆตามมาได้

สำหรับผู้ป่วยบางกลุ่มไม่สามารถใช้ยาเลโวเมทาดิลได้ หากผู้ป่วยดังกล่าวมีโรคหัวใจ เช่น หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น โดยทั่วไป การใช้ยา นี้ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร พร้อมกับต้องปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยเพื่อมิให้ผู้ป่วยกลับมาติดยาเสพติดซ้ำ

นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังบางประการที่แพทย์จะต้องนำมาพิจารณาร่วมกับการรักษา เช่น การใช้ยากับผู้ที่บาดเจ็บทางศีรษะ อาจทำให้อาการบาดเจ็บดังกล่าวรุนแรงขึ้นเพราะยานี้เพราะยานี้สามารถเพิ่มความดันภายในสมอง หรือการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหอบหืด หรือมีอาการของปอดอุดกั้นเรื้อรัง ก็อาจกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบขึ้นได้ด้วยยาเลโวเมทาดิลสามารถออกฤทธิ์กดการทำงานของระบบทางเดินหายใจได้นั่นเอง

นอกจากนี้การใช้ยาเลโวเมทาดิลร่วมกับผู้ป่วยที่มียาอื่นๆใช้อยู่ก่อนล่วงหน้า แพทย์อาจต้องพิจารณาอย่างละเอียดว่า ยาอื่นๆกลุ่มดังกล่าวสามารถก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)จนอาจส่งผลกระทบ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อผู้ป่วยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาอื่นๆในกลุ่ม Calcium channel blockers , ยาต้านซึมเศร้า , กลุ่มยาบรรเทาปวด/ยาแก้ปวด , ยาสลบ หรือ ยาต่อต้านวัณโรค/ยารักษาวัณโรค อย่างเช่นยา Rifampin เป็นต้น และสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จัดเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงที่ห้ามใช้ยานี้ ด้วยอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกตามมา และยังห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมาอีกด้วย

ยาเลโวเมทาดิลยังอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้หลายประการ อาทิเช่น ปวดหลัง หนาวสั่น มีอาการคล้ายโรคหวัด ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งโดยทั่วไป อาการเหล่านี้สามารถหายได้เองเมื่อหยุดการใช้ยานี้

หลังจากผู้ป่วยหายจากการติดยาเสพติดแล้ว ควรต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล และต้องมีจิตใจเข้มแข็ง ไม่กลับไปเสพยาเสพติดอีก

อนึ่ง การใช้ยาเลโวเมทาดิล จะต้องกระทำแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น เราจึงไม่พบเห็นการจำหน่ายยาชนิดนี้ตามร้านขายยาทั่วไป และหากผู้ป่วยมีข้อสงสัยการใช้ยานี้ ผู้ป่วย/ผู้บริโภคสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้จากแพทย์ที่ดูแลรักษาอาการป่วย หรือสอบถามจากเภสัชกรได้ทั่วไป

เลโวเมทาดิลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เลโวเมทาดิล

ยาเลโวเมทาดิลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดผู้ที่ติดยาเสพติดประเภทอนุพันธ์ของฝิ่น(Opioid)

เลโวเมทาดิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเลโวเมทาดิลคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่สมอง และที่กล้ามเนื้อเรียบ ซึ่งนอกจากจะทำให้ลดอาการปวด และเกิดอาการสงบประสาทส่วนกลางแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยสามารถปรับตัว และลดอาการถอนยาจากยาเสพติดได้ตามสรรพคุณ

เลโวเมทาดิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเลโวเมทาดิลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาน้ำที่เป็นสารละลายและประกอบด้วย Levomethadyl ขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

เลโวเมทาดิลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเลโวเมทาดิล มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยาในขนาดต่ำๆก่อน เช่น 20–40 มิลลิกรัม 3 ครั้ง/สัปดาห์ หรือรับประทานยาแบบวันเว้นวัน
  • เด็กและผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ห้ามใช้ยานี้

อนึ่ง:

  • ระยะเวลาของการใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • รับประทานยานี้ ก่อน หรือ หลังอาหารก็ได้ แต่ไม่ควรรับประทานพร้อมอาหาร หรือในเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานอาหาร

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเลโวเมทาดิล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหืด รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเลโวเมทาดิล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเลโวเมทาดิล สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า

อนึ่ง การหยุดรับประทานยาเลโวเมทาดิลกะทันหัน อาจก่อให้มีอาการถอนยาเกิดขึ้น

เลโวเมทาดิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเลโวเมทาดิลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดหลัง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดข้อ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ท้องผูกหรือท้องเสีย ปากแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ฝันประหลาด อารมณ์ทางเพศน้อยลง ปวดศีรษะ ประสาทหลอน รู้สึกเคลิบเคลิ้ม นอนไม่หลับหรือง่วงนอน ปวดศีรษะไมเกรน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอ เยื่อจมูกอักเสบ และมีอาการหาวบ่อยผิดปกติ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน และมีเหงื่อออกมาก
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
  • ผลต่อหัวใจ: เช่น เกิดความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

*อนึ่ง กรณีที่ได้รับยานี้เกินขนาด จะก่อให้เกิดอาการ ง่วงนอน หายใจไม่/หายใจลำบาก หายใจช้าลง ผิวตัวเย็น หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ หัวใจหยุดเต้น อาการต่างๆเหล่านี้อาจ ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หากพบผู้ป่วยอยู่ในอาการดังกล่าว ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้เลโวเมทาดิลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเลโวเมทาดิล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตต่ำ
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก และผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติหรือได้รับบาดเจ็บในบริเวณศีรษะ ผู้ป่วยหอบหืด
  • ขณะที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรได้รับการบำบัดอาการทางจิตและพฤติกรรมร่วมด้วยเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้ป่วยกลับไปติดยาเสพติดซ้ำ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเลโวเมทาดิลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เลโวเมทาดิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเลโวเมทาดิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาเลโวเมทาดิลร่วมกับยาRitonavir ด้วยจะทำให้ระดับยาเลโวเมทาดิล ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาเลโวเมทาดิลสูงขึ้นตามมา
  • การใช้ยาเลโวเมทาดิลร่วมกับยาแก้ปวด เช่นยา Tramadol จะก่อให้เกิดความเสี่ยงของอาการชัก ร่วมกับมีการหายใจที่ผิดปกติ หากไม่ความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน
  • การใช้ยาเลโวเมทาดิลร่วมกับยาปฏิชีวนะบางตัว เช่น Azithromycin สามารถเพิ่มความเสี่ยงของอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ จึงควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาเลโวเมทาดิลร่วมกับยาที่เพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่นยา Cisapride ด้วยการใช้ร่วมกัน สามารถกระตุ้นให้หัวใจทำงานผิดปกติจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต ต่อผู้ที่ใช้ยาได้

ควรเก็บรักษาเลโวเมทาดิลอย่างไร?

ควรเก็บยาเลโวเมทาดิล ตามเงื่อนไขหรือคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

เลโวเมทาดิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเลโวเมทาดิล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
ORLAAM (ออลาม)Roxane

บรรณานุกรม

  1. http://docs.boehringer-ingelheim.com/Prescribing%20Information/PIs/Roxane/Orlaam/Orlaam%20Oral%20Solution%2010mg%20per%20mL.pdf[2017,May20]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Levacetylmethadol[2017,May20]
  3. https://www.drugs.com/cons/levomethadyl.html[2017,May20]
  4. http://www.rxlist.com/orlaam-drug/overdosage-contraindications.html[2017,May20]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/levomethadyl-acetate,orlaam-index.html?filter=3&generic_only=[2017,May20]