เลโวซาลบูทามอล (Levosalbutamol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเลโวซาลบูทามอล(Levosalbutamol หรือ Levalbuterol หรือ Levalbuterol Hydrochloride หรือ Levalbuterol sulfate หรือ Levalbuterol tartrate)เป็นยาในกลุ่ม β2-adrenergic receptor agonist มีการออกฤทธิ์เพียงระยะเวลาสั้นๆ ทางคลินิกใช้เป็นยาบรรเทาอาการป่วยจากโรคหืด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่เรียกย่อว่าโรคซีโอพีดี(COPD) ยาชนิดนี้จัดเป็นยาต้นแบบของตัวยาซาลบูทามอล(Salbutamol) ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าระหว่างยาเลโวซาลบูทามอลและยาซาลบูทามอล ยาตัวใดมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการโรคระบบทางเดินหายใจได้ดีกว่ากัน

ยาเลโวซาลบูทามอล มีการออกฤทธิ์ที่หลอดลม โดยทำให้หลอดลมคลายตัวเป็นผลให้ช่องทางเดินหายใจเปิดกว้าง ผู้ป่วยจึงหายใจได้สะดวกขึ้น ยานี้ใช้บำบัดอาการของผู้ป่วยทั้งในเชิงป้องกัน และใช้ช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังมีอาการหอบหืดที่เกิดขึ้นแบบ เฉียบพลัน รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเลโวซาลบูทามอลจะเป็นสารละลายสำหรับสูดพ่นเข้าทางปาก/เช้าทางช่องปาก และสามารถออกฤทธิ์อยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 3–4 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ

มีข้อจำกัดการใช้ยาเลโวซาลบูทามอลบางประการสำหรับผู้ป่วยที่ควรทราบดังต่อไปนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ร่วมกับยาขยายหลอดลมชนิดอื่นโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • มีโรคประจำตัวบางประเภทที่อาจกำเริบมากยิ่งขึ้นเมื่อใช้ยาเลโวซาลบูทามอล เช่น ผู้ที่มีภาวะเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในเลือดต่ำ มีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ โรคความดันโลหิตสูง โรคลมชัก โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ โรคไต และเนื้องอกของต่อมหมวกไต(เช่น Pheochromocytoma)
  • สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิด ผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยาหลายประเภทซึ่งรวมถึงยาเลโวซาลบูทามอลด้วย
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปีลงมา
  • การใช้ยาเลโวซาลบูทามอลร่วมกับยาหลายชนิดอาจได้รับผลข้างเคียงต่างๆที่รุนแรงตามมา ผู้ป่วยจึงควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาว่า ตนเองมียาประเภทใดที่ใช้อยู่ก่อนบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาขับปัสสาวะ , กลุ่มยาMAOIs , TCAs, Epinephrine, และ Digoxin
  • กรณีที่ผู้ป่วยใช้ยาเลโวซาลบูทามอลแล้วเกิดอาการวิงเวียน ควรเตรียมร่างกายก่อนใช้ยานี้ โดยควรอยู่ในท่าพักเมื่อใช้ยานี้ และห้ามขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆหรือทำงานกับเครื่องจักร ด้วยสามารถเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • หากใช้ยานี้แล้วพบว่าอาการโรคไม่ดีขึ้น หรือมีอาการแย่ลงกว่าเดิม ควรรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการใช้ยาให้เหมาะสม
  • โดยทั่วไป ยาสูดพ่นชนิดต่างๆ จะมีสารประกอบบางอย่างที่สร้างกลไกภายในกระบอกยาที่ทำให้เกิดแรงดัน ดังนั้นจึงไม่ควรวางกระบอกยาใกล้กับเปลวไฟ หรือใกล้อุปกรณ์ที่ก่อความร้อนชนิดต่างๆ เพื่อป้องกันการระเบิดของกระบอกยา
  • หลังการใช้ยานี้ ถ้าพบอาการ ตัวบวม ผื่นคัน เกิดลมพิษ หรือเกิดอาการเกร็งของหลอดลม/หายใจลำบากมากขึ้น ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

การใช้ยาเลโวซาลบูทามอลต้องอาศัยความต่อเนื่อง สม่ำเสมอ การหยุดใช้ยานี้กระทันหันโดยมิได้ปรึกษาแพทย์ อาจทำให้อาการหอบหืดหรืออาการของหลอดลมหดเกร็งกลับมาเป็นใหม่ได้ นอกจากนี้ยังห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเองเพราะนอกจากจะไม่ทำให้อาการป่วยของโรคดีขึ้นแล้ว ยังอาจเกิดอันตราย(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อผู้ป่วยได้อย่างมากมายตามมา

เลโวซาลบูทามอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เลโวซาลบูทามอล

ยาเลโวซาลบูทามอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาอาการโรคหืด(Asthma)
  • รักษาอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)

เลโวซาลบูทามอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเลโวซาลบูทามอลมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะกระตุ้นตัวรับ(Receptor)ในระดับเซลล์ของผนังหลอดลมที่เรียกว่า เบต้า2 รีเซฟเตอร์ (Beta2 receptor) ซึ่งอยู่บริเวณกล้ามเนื้อเรียบของผนังหลอดลม ทำให้หลอดลมคลายตัว จึงส่งผลให้ช่องทางเดินลมของหลอดลมขยายกว้างขึ้น ผู้ป่วยจึงหายใจได้สะดวกเป็นปกติและเป็นที่มาของสรรพคุณ

เลโวซาลบูทามอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเลโวซาลบูทามอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาประเภทสารละลายที่ต้องใช้เครื่องพ่นยา(Nebulizer) ซึ่งมีความเข้มข้น 0.31 , 0.63 และ 1.25 มิลลิกรัม/3 มิลลิลิตร
  • ยาพ่นเข้าทางปาก(Inhalation aerosol) ขนาดความเข้มข้น 45 ไมโครกรัมต่อการพ่นยา 1 ครั้ง

หมายเหตุ: Inhalation aerosol เป็นเภสัชภัณฑ์ยาพ่นที่มีสารประกอบที่ทำให้เกิดแรงดันอยู่ในกระบอกยา สารประกอบดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่จะมีหน้าที่นำตัวยาเข้าสู่ระบบการหายใจของผู้ป่วยเท่านั้น

เลโวซาลบูทามอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเลโวซาลบูทามอล มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาสำหรับบำบัดอาการโรคหืด และโรค ปอดอุดกั้นเรื้อรัง เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป: ให้ใช้ยาพ่นแบบ Inhalation aerosol ขนาด 45 ไมโครกรัมพ่นเข้าทางปาก 2 ครั้ง(90 ไมโครกรัม) ทุกๆ 4–6 ชั่วโมง หรือ พ่นยาเข้าทางปากขนาด 0.45 ไมโครกรัม 1 ครั้ง ทุกๆ 4 ชั่วโมง โดยจะพ่นยาขนาดเท่าไร ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง: วิธีการใช้ยาพ่นชนิด Inhalation aerosol ให้ปฏิบัติดังนี้

1. ถอดฝาครอบออกจากกระบอกยา

2. วางนิ้วกลางหรือนิ้วชี้ไว้ด้านบนของกระบอกยา

3. วางนิ้วหัวแม่มืออยู่ข้างใต้ปากเป่าของกระบอกยา

4. ก่อนใช้ยา เขย่ากระบอกยาประมาณ 5-10 วินาที

5. หายใจออกอย่างเต็มที่เพื่อเตรียมพร้อมที่จะสูดยา

6. วางปากเป่าของกระบอกยาไว้ในปากและปิดริมฝีปากรอบปากเป่าให้มิดชิด

7. กดด้านบนของกระบอกยาเพื่อปลดปล่อยตัวยาและหายใจเข้าลึกๆ

8. รอให้ยาผ่านช่องปากเพื่อเข้าหลอดลม

9. กลั้นหายใจประมาณ 5-10 วินาทีแล้วหายใจออก

  • ก่อนเปิดใช้ยาครั้งแรก ให้เขย่ากระบอกยาและพ่นทิ้ง 4 ครั้งเป็นอย่างต่ำ หรือกรณีไม่ใช้ยานานกว่า 3 วัน ก็ต้องพ่นยาทิ้งเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อให้ตัวยาสามารถขับเคลื่อนออกจากกระบอกยาได้อย่างเต็มที่ และทำให้ผู้ป่วยได้รับยาตรงตามขนาดการรักษา
  • ทำความสะอาดกระบอกยาและฝาครอบอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา
  • การใช้ยาชนิดสารละลายที่ต้องใช้กับเครื่องพ่นยา(Nebulizer) จะต้องกระทำที่สถานพยาบาล และใช้ขนาดยาตามคำสั่งแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเลโวซาลบูทามอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคเบาหวาน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเลโวซาลบูทามอล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมพ่นยาควรทำอย่างไร?

การใช้ยาเลโวซาลบูทามอลมีขนาดการพ่นและระยะเวลาที่เป็นไปตามคำสั่งแพทย์ แต่อย่างไรก็ดี กรณีลืมพ่นยา สามารถพ่นยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการพ่นยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดการพ่นยาเป็น 2 เท่าให้พ่นยาที่ขนาดปกติ

เลโวซาลบูทามอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเลโวซาลบูทามอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ทำให้ค่า ECG เปลี่ยนไป ความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริวที่ขา
  • ผลต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ระดับน้ำตาลในเลือด และระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดผิดปกติ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดภาวะกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท วิงเวียน ปวดหัวไมเกรน ตัวสั่น กระสับกระส่าย เกิดความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง คอแห้ง คลื่นไส้ กระเพาะอาหารอักเสบ ลำไส้อักเสบ อาเจียน ท้องผูก เบื่ออาหาร กรดไหลย้อน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น อาจเกิดหอบหืดขึ้นได้ คออักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ ไอ เจ็บหน้าอก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ผลต่อตา: เช่น เกิดอาการคันที่ตา
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล
  • อื่นๆ: เช่น ประจำเดือนขาดในสตรี

มีข้อควรระวังการใช้เลโวซาลบูทามอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเลโวซาลบูทามอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาเลโวซาลบูทามอล
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยาด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สี หรือ กลิ่นของยาเปลี่ยนไป
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ และผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แออัดหรือมีฝุ่นควัน
  • กรณีที่ใช้ยานี้แล้วไม่ได้ผล ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้งและต้องปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเลโวซาลบูทามอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เลโวซาลบูทามอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเลโวซาลบูทามอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเลโวซาลบูทามอลร่วมกับยากลุ่ม Beta-blockers ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาเลโวซาลบูทามอลด้อยลงไป
  • ห้ามใช้ยาเลโวซาลบูทามอลร่วมกับยา Digoxin เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยา Digoxin ลดลง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเลโวซาลบูทามอลร่วมกับยากลุ่ม MAOIs หรือ ยากลุ่ม TCAs เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาเลโวซาลบูทามอลมากยิ่งขึ้น
  • ห้ามใช้ยาเลโวซาลบูทามอลร่วมกับยาขับปัสสาวะ อย่างเช่น Furosemide และ Hydrothiazide ด้วยจะเกิดความเสี่ยงให้เกิดระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ

ควรเก็บรักษาเลโวซาลบูทามอลอย่างไร?

ควรเก็บยาเลโวซาลบูทามอลในช่วงอุณหภูมิระหว่าง 20–25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น

เลโวซาลบูทามอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเลโวซาลบูทามอล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Xopenex (โซพีเนกซ์)Sunovion Pharmaceuticals Inc.

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Aerozest, Alolax, Asmolex L,Brizy, Aire

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Levosalbutamol[2017,May13]
  2. https://www.drugs.com/cdi/xopenex-hfa-aerosol.html[2017,May13]
  3. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2012/020837s036lbl.pdf [2017,May13]
  4. http://www.med.umich.edu/1libr/COPD/Inhalers/XopenexHFA.pdf[2017,May13]