เลือดออกใต้เยื่อตา (Subconjunctival hemorrhage)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เลือดออกใต้เยื่อตา หรือเลือดออกใต้เยื่อบุตา (Subconjunctival hemorrhage) เป็นภาวะที่มีเลือดขังอยู่ใต้เยื่อตา/เยื่อบุตา (คนทั่วๆไปมักเรียกว่าตาขาว) เกิดเนื่องจากใต้เยื่อบุตาเรามีหลอดเลือดเล็กๆอยู่มากมาย หากหลอดเลือดเหล่านี้มีการฉีกขาด หรือมีเลือดรั่วซึมออกมาจากหลอดเลือด ตัวเลือดจะขังอยู่ใต้เยื่อตา หากการฉีกขาดของหลอดเลือดขนาดเล็กๆ อาจพบเป็นสีแดงใต้เยื่อบุตาเป็นปื้นๆ ขนาด 3-4 มม.(มิลลิเมตร) บางรายถ้าหลอดเลือดขนาดใหญ่ เลือดอาจกระจายตัวใต้เยื่อบุตา รอบๆตาดำ/กระจกตาจนเต็มพื้นที่ตาขาว ซึ่งสังเกตได้ง่ายโดยผู้ที่ใกล้ชิดผู้ป่วย และมีผู้ป่วยหลายรายเกรงว่า เลือดนั้นจะกระจายเข้าตาดำ แต่จะไม่เป็นเช่น นั้นเพราะมีเนื้อเยื่อกั้น กล่าวคือเยื่อบุตาจะมาสิ้นสุดที่ขอบตาดำ หากเลือดนี้ซึมเข้ามาจะอยู่เฉพาะชิดขอบตาดำเท่านั้น ไม่เข้าไปที่ตาดำหรือเข้าไปส่วนในของลูกตา

เลือดออกใต้เยื่อตาเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบในผู้ใหญ่บ่อยกว่าในเด็ก ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้ใกล้เคียงกัน

เลือดออกใต้เยื่อตามีสาเหตุจากอะไร?

เลือดออกใต้เยื่อตา

สาเหตุที่ทำให้เกิดมีเลือดออกใต้เยื่อตา คือ

1. อุบัติเหตุ เช่น ถูกกระแทกบริเวณศีรษะ บริเวณใบหน้า อาจมีหรือไม่มีการฉีกขาดของลูกตาก็ได้ หากได้รับอุบัติเหตุแล้วพบมีเลือดออกใต้เยื่อตามาก ต้องรีบพบแพทย์/จักษุแพทย์เพื่อตรวจสายตาและตรวจตาอย่างละเอียด เพราะอาจมีการแตกของลูกตาซึ่งเป็นภาวะที่ร้ายแรงมาก แต่ถูกบังด้วยเลือดออกใต้เยื่อตา

อีกประการ อุบัติเหตุที่เกิดการแตกหักของกระดูกเบ้าตาด้านล่าง (Fracture floor of orbit) โดยไม่มีการฉีกขาดของลูกตา มักจะมีเลือดออกใต้เยื่อตาได้มาก จึงต้องได้รับการตรวจจากแพทย์เพื่อวินิจฉัยภาวะนี้ด้วย

ทั้งนี้ รวมถึงการที่ตาได้รับกระทบกระเทือนจากการผ่าตัดภายในลูกตา อาจมีเลือดไหลซึมใต้เยื่อตาได้ แม้แต่การผ่าตัดบริเวณหนังตาก็ตาม วันรุ่งขึ้นอาจมีเลือดซึมจากบริเวณแผลผ่าตัดมาอยู่ใต้เยื่อตาได้

2. สาเหตุที่พบบ่อยสุดในคนที่ไม่ได้รับอุบัติเหตุ ได้แก่ การเพิ่มแรงดันภายในเบ้าตา เช่น จากการยกของหนักต้องออกแรงมาก, ไอ จาม อย่างรุนแรง, หัวเราะรุนแรง, อาเจียนรุน แรง, แม้แต่ท้องผูก หรือที่มีการเบ่งอุจจาระอย่างรุนแรง, หรือหญิงคลอดลูกที่ออกแรงเบ่งอย่างแรง ทั้งหมดเพิ่มแรงดันในหลอดเลือดใต้เยื่อตาทั้งสิ้น ทำให้หลอดเลือดฉีกขาดได้ ที่พบบ่อยในเด็ก เช่น ในโรคไอกรน ที่เด็กจะมีอาการไออย่างรุนแรงอาจพบเลือดออกใต้เยื่อตาทั้ง 2 ข้างได้

3. ขยี้ตารุนแรง

4. มีภาวะแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เช่น ในผู้ป่วยโรคเลือดที่มีเกล็ดเลือดต่ำ (ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ), ผู้ป่วยที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด /ยาต้านการแข็งตัวชองเลือด เพื่อรักษาโรคหลอดเลือดอุดตันจากลิ่มเลือดในบริเวณต่างๆของร่างกาย (เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ) เช่น ยา Aspirin และยาในกลุ่ม Anticoagulant ทั้งหลาย

5. มีความดันโลหิตสูง

6. ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ เพราะจะมีเลือดออกได้ง่าย จากไขกระดูกมีเซลล์น้อยลงกว่าในวัยหนุ่มสาว

7. ผู้ที่ขาดวิตามิน เค (Vitamin K) ซึ่งเป็นวิตามินที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด

8. มีโรคบางโรค เช่น Acute haemorrhagic conjunctivitis (AHC) ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด ที่บางราย เลือดอาจออกกระจายเป็นจุดเล็กๆ (Petechial hemorrhage) หรือ โรคฉี่หนู ซึ่งพบเลือดออกใต้เยื่อบุตาได้มากจากมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำร่วมด้วย

9. บางครั้ง แพทย์หาสาเหตุไม่พบ (Spontaneous subconjuntival hemorrhage)

เลือดออกใต้เยื่อตามีอาการอย่างไร? ควรไปพบแพทย์เมื่อใด?

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีเลือดออกใต้เยื่อตา จะไม่มีอาการอะไร บางคนอาจรู้สึกหนักๆที่ตา แต่จะไม่เจ็บ ไม่เคืองตา ไม่มีขี้ตา ไม่มีตามัว ส่วนมากรู้ตัวเพราะเห็นโดยบังเอิญจากไปส่องกระจกหรือจากคนใกล้ตัวบอก หรือคู่สนทนาสังเกตเห็น บางรายอาจมีอาการระคายเคือง/แสบตาเล็ก น้อยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์/จักษุแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม เมื่อ

1. หากผู้ป่วยมีอาการตาแดงมาก และ/หรือมีอาการทางตาอื่นๆมาก (เช่น เคืองตามาก น้ำตาไหลมาก ปวดตา) และ/หรือมีสายตาผิดปกติร่วมด้วย

2. เลือดออกหลังจากอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่ศีรษะและ/หรือใบหน้า

3. หากรอแล้วเลือดที่ออกไม่ยุบลงภายใน 1 สัปดาห์ หรือเมื่อเลือดออกมากขึ้น หรือผู้ป่วยมีความกังวลในอาการ

4. ไม่รู้ว่ามีเลือดออกใต้เยื่อตาจากสาเหตุอะไร

แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็นภาวะเลือดออกใต้เยื่อตา?

โดยทั่วไปภาวะเลือดออกใต้เยื่อตา สามารถให้การวินิจฉัยได้ง่ายโดยการตรวจดูตา ซึ่งพบเป็นเลือดแดงอยู่ใต้เยื่อบุตาชัดเจน แต่แพทย์จะต้องตรวจว่ามีสาเหตุ ตลอดจนมีความผิด ปกติอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะผู้มีเลือดออกจากอุบัติเหตุ

บางราย หากมีภาวะนี้ร่วมกับมีรอยเลือดออกตามผิวหนังที่อื่นในร่างกาย อาจจะต้องรับการตรวจร่างกาย ตลอดจนการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (เช่น การตรวจเลือด) หากสงสัยมีโรคเลือด (เช่น ภาวะแข็งตัวของเลือดผิดปกติ)

ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มเลือดจากโรคอื่นๆทางกายแล้ว กลับมาพบมีเลือดออกใต้เยื่อบุตา อาจไม่จำเป็นต้องงดหรือหยุดยาละลายลิ่มเลือด เพราะผู้ป่วยภาวะนี้ส่วนใหญ่อา การไม่สัมพันธ์กับยาเสมอไป อีกทั้งการให้ยาดังกล่าวจำเป็นในโรคทางกายมากกว่า แต่เพื่อความปลอดภัย ควรรีบพบแพทย์ผู้ให้การรักษาโรคเหล่านั้น (พบแพทย์ก่อนนัด) เพื่อขอคำปรึก ษาว่าสมควรหยุดยาที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และอย่างไร

รักษาภาวะเลือดออกใต้เยื่อตาอย่างไร? มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักเกิดในราย ขยี้ตามาก ไอ จามอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นเพียงหลอดเลือดเล็กๆใต้เยื่อบุตาฉีกขาด โดยไม่มีพยาธิสภาพของหลอดเลือดอื่นๆในร่างกาย ซึ่งกรณีเช่นนี้ ไม่จำเป็นต้องมีการรักษาแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะการพยากรณ์โรค จะเป็นภาวะที่หายได้เอง ซึ่งขณะที่มาพบแพทย์ เลือดได้หยุดไหลแล้ว แต่ยังคงมีเลือดที่ได้ออกมาแล้วค้างอยู่ใต้เยื่อตา ซึ่งขบวนการของร่างกายจะค่อยๆขจัดเลือดที่ค้างอยู่นี้ออกไป จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปริ มาณเลือดที่ค้าง ถ้าไม่มาก มักจะหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์ ในรายที่เลือดค้างอยู่มาก อาจมีอา การอยู่ได้นานถึงประมาณ 3 สัปดาห์

ในบางรายมีเลือดค้างมาก อาจมีอาการหนักๆ ไม่สบายตา อาจใช้น้ำตาเทียมหยอดตาได้ เพื่อให้ความสบายตา

อนึ่ง ภาวะนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ หรือยาหยอดตาในกลุ่มยาสเตียรอยด์ เพราะไม่มีประโยชน์ แต่อาจเกิดผลข้างเคียงจากยาดังกล่าวได้

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีเลือดออกใต้เยื่อตา ได้แก่

1. เมื่อมีอาการ

  • สังเกตตนเองว่า ตามี ขี้ตา น้ำตาออกมาหรือไม่ หากมีขี้ตา น้ำตาออกมากอาจเป็นโรคทางตาที่ทำให้เกิดเลือดออก เช่น โรคตาแดง ชนิด AHC จึงสมควรไปพบแพทย์/จักษุแพทย์เพื่อการรักษา
  • สังเกตว่า ตาข้างนั้นยังมีการมองเห็นปกติดีหรือไม่ ถ้าผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ /จักษุแพทย์
  • สังเกตว่า มองเห็นภาพซ้อนเมื่อลืมตา 2 ข้างหรือไม่ ถ้าเห็นภาพซ้อนให้รีบพบแพทย์/จักษุแพทย์

2. เมื่อไม่มีอาการผิดปกติ เพื่อไม่ให้มีเลือดออกเพิ่มเติม ควรดูแลตนเองดังนี้

  • อย่าขยี้ตา เพราะนอกจากอาจทำให้มีเลือดออกเพิ่มขึ้น ผิวตาดำ/กระจกตาอาจถลอก ทำให้เป็นแผล ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด ตลอดจนกระจกตาติดเชื้อตามมาได้
  • หากรู้สึกไม่สบายตา อาจใช้ประคบตาด้วยน้ำเย็น ช่วยบรรเทาอาการได้ หรือ หยอดตาด้วยน้ำตาเทียม
  • ถ้ามีอาการผิดปกติทางตา หรือ เลือดออกมากขึ้น หรือ กังวลในอาการ ให้รีบพบแพทย์/จักษุแพทย์

ป้องกันเลือดออกใต้เยื่อตาอย่างไร?

การป้องกันภาวะเลือดออกใต้เยื่อตา คือการป้องกันสาเหตุที่ป้องกันได้ที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • ระมัดระวังอุบัติเหตุที่ศีรษะและใบหน้า
  • ไม่ขยี้ตา
  • ไม่เพิ่มความดันโลหิต/ความดันหลอดเลือดในตา โดยพยายามไม่ ไอ จาม หัวเราะ อาเจียน เบ่งอุจจาระ/ปัสสาวะ รุนแรง และ/หรือ ยกของหนัก
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อลดโอกาสเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ (เช่น โรคความดันโล หิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูง) รวมทั้งป้องกันการติดเชื้อต่างๆ ด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)

สรุป

ภาวะเลือดออกใต้เยื่อตา อาจทำให้ผู้ป่วยตกใจเนื่องจากในตาขาวแดงมากจนน่ากลัว หากไม่มีภาวะผิดปกติอื่นดังได้กล่าวแล้ว เลือดที่ออกจะค่อยๆจางหายไป โดยไม่มีผลเสียอะไรตามมาภายในระยะเวลาประมาณ 1-3 สัปดาห์ ขึ้นกับปริมาณเลือดที่ออก