เลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด (Irregular bleeding per vagina)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

เลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด หมายถึงอะไร?

เลือดออกกะปริบกะปรอย (หรือ กะปริดกะปรอย) ทางช่องคลอด (Irregular bleeding per vagina) เป็นการที่มีเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่สัมพันธ์กับการมีรอบประจำเดือน เลือดที่ออกจะมีจำนวนวันไม่แน่นอน อาจออกมา 3 วันหยุดไป 5 วัน แล้วมีเลือดมาอีก 10 วัน อย่างนี้เป็นต้น และปริมาณเลือดที่ออกมา ก็เป็นเพียงเล็กน้อยเพียงติดกางเกงชั้นในหรือแผ่นอนามัยแบบบาง

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด?

เลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด ไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการที่เกิดจากโรคต่างๆได้หลายสาเหตุมาก

ก. เลือดที่เห็นออกมาจากช่องคลอด: ถ้าแยกตามตำแหน่งอวัยวะเพศที่ทำให้เลือดออก อาจมีสาเหตุเกิดจากโรค/ภาวะผิดปกติของ

  • ปากช่องคลอด: เช่น มี แผลบริเวณนี้
  • ตัวช่องคลอด: เช่น ภาวะช่องคลอดอักเสบ หรือ มีสิ่งแลกปลอมในช่องคลอด
  • ปากมดลูก: เช่น ปากมดลูกอักเสบ หรือ มะเร็งปากมดลูก
  • โพรงมดลูก: เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ, มีเนื้องอก, มีมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
  • เป็นโรคเลือด หรือ มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ: เช่น โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ หรือ จากมะเร็งเม็ดเลือดขาว

ข. สาเหตุของโรคที่ทำให้เลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอดเมื่อแบ่งตามกลุ่มอายุ:

  • วัยรุ่น:
    • สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความไม่สมดุลของระบบฮอร์โมนเพศ ซึ่งพบได้บ่อยมากในวัยรุ่น (Dysfunctional uterine bleeding)
    • นอกจากนั้นยังอาจเกิดจาก
      • กลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ (โรคพีซีโอเอส: Polycystic ovary syndrome)
      • ช่องคลอดอักเสบ
      • การตั้งครรภ์
      • การแท้งบุตร
      • ท้องนอกมดลูก หรือ
      • เป็นโรคเลือด
  • วัยเจริญพันธุ์ (วัยมีประจำเดือน):
    • สาเหตุส่วนใหญ่สัมพันธ์กับการตั้งครรภ์ เช่น การแท้งบุตร, การท้องนอกมดลูก, การตั้งครรภ์,
    • นอกจากนั้น อาจเกิดจาก
      • ช่องคลอดอักเสบ
      • เนื้องอกมดลูก
      • ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
      • มะเร็งปากมดลูก
      • ผลข้างเคียงจาก การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด, ยาฉีดคุมกำเนิด, หรือยาฝังคุมกำเนิด
      • เป็นโรคเลือด
  • วัยใกล้หมดประจำเดือน:
    • สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความไม่สมดุลของระบบฮอร์โมนเช่นเดียวกับ ในวัยรุ่น เพราะเป็นช่วงที่รังไข่กลับมาทำงานไม่สม่ำเสมอ
    • นอกจากนี้ เช่น
      • เนื้องอก เนื้อร้าย/หรือมะเร็งสูงขึ้น เช่น เนื้องอกมดลูก, มะเร็งปากมดลูก
      • การอักเสบต่างๆของอวัยวะเพศ เช่น ช่องคลอดอักเสบ
      • การรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือ
      • เป็นโรคเลือด
  • วัยหมดประจำเดือน:
    • ในวัยนี้ความเสี่ยงต่อการเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งจะมากขึ้น เช่น มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก, มะเร็งปากมดลูก,
    • เป็นผลข้างเคียงจากการรับประทานฮอร์โมนเพศต่างๆ
    • เป็นโรคเลือด

ควรดูแลตนเองอย่างไรหากมีเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด?

เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้เลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอดมีมากมายทั้งที่เป็นโรคร้ายแรงและโรคไม่ร้ายแรง ผู้ที่มีอาการนี้จึงควรรีบไปพบแพทย์/สูตินรีแพทย์เสมอ เพื่อขอคำแนะนำ หรือรับการรักษาที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามการดูแลตนเองโดยทั่วไปสามารถทำได้ดังนี้

  • รักษาสุขอนามัยส่วนตัว อาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอนามัยตามความเหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานฮอร์โมนเพศโดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
  • หากอาการเกิดจากการรับประทานยาที่เป็นฮอร์โมนเพศ เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ควรรับ ประทานให้สม่ำเสมอ ห้ามลืม แต่ถ้าไม่ได้เกิดจากการกินยาไม่สม่ำเสมอ ควรรีบพบแพทย์/สูตินรีแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ

ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่ ?

เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้เลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด มีมากมายทั้งที่เป็นโรคร้ายแรงและโรคไม่ร้ายแรง จึงควรไปรีบพบแพทย์/สูตินรีแพทย์เสมอเพื่อขอคำแนะนำหรือรับการรักษาที่ถูกต้องจะเป็นการดีที่สุด

แพทย์ตรวจหาสาเหตุของเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอดอย่างไร?

เมื่อไปพบแพทย์/มาโรงพยาบาล แพทย์ตรวจหาสาเหตุโดย

  • จะทำการซักประวัติทางการแพทย์ ที่สำคัญเช่น ประวัติประจำเดือน การตั้งครรภ์ การคุมกำเนิด การใช้ยาต่างๆ อาการผิดปกติต่างๆ
  • การตรวจร่างกายทั่วไปว่า มีภาวะ/โรคซีดหรือไม่, มีก้อนผิดปกติในท้องหรือไม่,
  • ต่อจากนั้น ในสตรีที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว: แพทย์จะขออนุญาตทำการตรวจภายใน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด เพื่อตรวจ ดูแผล ดูก้อน ดูการติดเชื้อ ตรวจในช่องคลอด คลำมดลูก ปีกมดลูก ว่า มีความผิดปกติที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เลือดออกกะ ปริบกะปรอยทางช่องคลอดหรือไม่
  • สำหรับในสตรีที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์: แพทย์มักจะไม่ทำการตรวจภายใน ยกเว้นในรายที่จำเป็นจริงๆ หากแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้จากประวัติอาการและการตรวจร่างกาย ก็จะทำการรักษาไปเลย แต่หากยังวินิจฉัยโรคไม่ได้ชัดเจน เช่น สงสัยเนื้องอกมดลูก จะต้องมีการตรวจต่างๆเพื่อการสืบค้นหาสาเหตุกันต่อไป เช่น
    • การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์) โดยเฉพาะการตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอด (Transvaginal ultrasound) เป็นการตรวจที่มีประโยชน์มาก เพื่อดูว่ามดลูกปกติ หรือมีเนื้องอกมดลูก, เนื้องอกรังไข่, ติ่งเนื้อโพรงมดลูก, ความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก(เยื่อบุมดลูก)
    • แต่หากในสตรีที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ แพทย์จะตรวจอัลตราซาวด์ทางหน้าท้องแทน
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Papanicolaou smear) ต้องทำเป็นพื้นฐานในสตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้วทุกราย
  • การดูดชิ้นเนื้อในโพรงมดลูก หรือการขูดมดลูก (Endometrial sampling or endometrial curettage) จะทำในสตรีที่อายุมากกว่า 40 ปี (บางแห่งใช้เกณฑ์ 35 ปี) รูปร่างอ้วน หรือประจำเดือนมาไม่ปกติ เนื่องจากมีโอกาสที่จะมีความผิดปกติในโพรงมดลูกหรือเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมากกว่าคนไม่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้
  • การส่องกล้องตรวจในโพรงมดลูก (Hysteroscopy) เป็นการส่องกล้องเข้าไปดูพยาธิสภาพในมดลูกโดยตรง หัตถการชนิดนี้ทำได้เฉพาะโรงพยาบาลบางแห่งเท่านั้น
  • การตรวจเลือด เช่น ซีบีซี (CBC) เพื่อดูว่าซีดหรือไม่ มีความผิดปกติของเม็ดเลือดหรือไม่ มีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือดหรือไม่
  • การตรวจปัสสาวะ (ปัสสาวะ-การตรวจปัสสาวะ) เพื่อตรวจฮอร์โมนเพศเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในกรณีที่สงสัยเกี่ยวกับ การตั้งครรภ์, การแท้งบุตร, หรือ ท้องนอกมดลูก

รักษาอาการเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอดอย่างไร?

การรักษาอาการเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอดจะขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อสาเหตุมาจากการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียของปากมดลูก (ปากมดลูกอักเสบ)
  • การให้ยาฮอร์โมนเพศเพื่อการปรับสมดุลของฮอร์โมนเมื่อเกิดจากการขาดสมดุลของฮอร์โมนเพศหญิง
  • การรักษาด้วยรังสีรักษา (รังสีรักษา-ฉายรังสี-ใส่แร่)เมื่อสาเหตุเกิดจาก มะเร็งปากมดลูก

ทั้งนี้สามารถอ่านเพิ่มเติมในเรื่องวิธีรักษาโรคต่างๆได้ในบทความโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ (ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ) ในเว็บ haamor.com

บรรณนานุกรม

  1. http://www.emedicinehealth.com/vaginal_bleeding/article_em.htm [2020,March14]
  2. http://www.uptodate.com/contents/abnormal-uterine-bleeding-beyond-the-basics [2020,March14]