เรื่องเฉพาะสตรี...วัยเด็ก ตอนที่ 4

รอยโรคที่อวัยวะเพศภายนอกในเด็กสาว มีอะไรบ้าง?

จากผลการตรวจร่างกาย แพทย์ก็จะสามารถจำแนกรอยโรคที่อวัยวะเพศภายนอกในเด็กสาว ซึ่งตามลักษณะของรอยโรค อาจพบเป็นแบบ เนื้อตัน/ก้อนเนื้อ ถุงน้ำ แผล การติดเชื้อ หรือรอยโรคที่คล้ายเนื้องอกได้ครับ ตัวอย่างรอยโรคที่เป็นแบบเนื้อตัน ได้แก่ ติ่งเนื้อ ไฝ หูดข้าวสุก หูดหงอนไก่ รอยโรคก่อนมะเร็งของอวัยวะเพศภายนอก และรอยโรคของเยื่อบุผิวที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น โรคผิวหนังแข็งไลเคน (Lichen planus) และการหนาตัวขึ้นของเยื่อบุผิว ในขณะที่โดยทั่วไปโรคผิวหนังแข็งไลเคนนั้น เชื่อกันว่าเป็นขึ้นมาจากอายุที่มากขึ้น แต่ก็ยังอาจเกิดขึ้นได้ในเด็กหญิงด้วยนะครับ รอยโรคนี้จะมีลักษณะการกระจายแบบ “รูกุญแจ” รอบปากช่องคลอดและปากทวารหนัก ร่วมกับมีการฝ่อบางลงของเนื้อเยื่อเหล่านั้น และมีการขาวขึ้นของเยื่อบุผิวในบริเวณนั้นครับ รอยโรคนี้มักดีขึ้นได้เมื่อเข้าสู่วัยสาว แต่ก็อาจยังคงมีอยู่ได้โดยไม่มีอาการ ความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในระยะยาวยังไม่เป็นที่ทราบกัน อย่างไรก็ตาม มีรายงานอยู่รายหนึ่งที่เกิดเป็นมะเร็งขึ้นมาในสตรีอายุ 32 ปี หลังจากที่เคยหายจากโรคนี้ไปแล้วในระหว่างช่วงอายุที่เริ่มเข้าสู่วัยสาว

รอยโรคชนิดที่เป็นแบบถุงน้ำก็ได้แก่ ถุงน้ำผิวม้วนเข้า ซึ่งสามารถพบได้หลังการบาดเจ็บหรือการคลอดบุตร ถุงน้ำบาร์โทลิน (Bartholin’s cyst,ถุงน้ำของต่อมที่สร้างน้ำหล่อเลี้ยงช่องคลอด)ที่ปากช่องคลอด และ ถุงน้ำการ์ทเนอร์ (Gartner cyst) ในช่องคลอด ซึ่งเป็นส่วนที่เหลืออยู่ของท่อวอล์ฟเฟี่ยน/ Wolffian duct (กลุ่มเซลล์ต้นกำเนิดของอวัยวะเพศชาย ที่พบได้ระหว่างเป็นทารกในครรภ์) ถุงน้ำเมโสเนฟริก (Mesonephric cyst, ถุงน้ำของเนื้อเยื่อบางชนิดของช่องคลอด) ที่อยู่ทางด้านหน้าค่อนไปด้านข้างอาจโผล่ยื่นออกมาให้เห็นทางปากช่องคลอดก็ได้ครับ ถุงน้ำเหล่านี้มีลักษณะร่วมกันคือล้วนมีผนังบางทั้งสิ้น การวินิจฉัยแยกโรคก็ได้แก่ เยื่อพรหมจารี (Hymenมเรื้อเยื่อบางๆรอบปากช่องคลอด) ไม่เปิด ซึ่งสามารถแยกออกได้จากการที่ไม่สามารถผ่านแท่งตรวจเล็กๆเข้าไปภายในช่องคลอดได้ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจรักษาตั้งแต่แรก ยังมีความท้าทายแฝงอยู่อีกมาก การผ่าตัดจึงไม่ควรเร่งรัดกระทำจนกว่าแพทย์จะได้ทำการประเมินทางกายวิภาคโดยละเอียดถี่ถ้วนแล้ว และควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่งที่จะพาผู้ป่วยไปพบสูตินรีแพทย์ผู้ที่มีประสบการณ์ในการตัดสินใจในเรื่องเหล่านี้นะครับ

แผลต่างๆ สามารถพบได้ในกรณีที่เป็นอาการร่วมของโรคอื่นๆ เช่น การติดเชื้อและเป็นหนองที่สามารถพบได้ในบริเวณนี้ ได้แก่ การมีรูขุมขนอักเสบติดเชื้อ ซึ่งอาจเกิดขึ้นมาจากการถอนขน ฝีฝักบัวจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟไฟโลคอคคัส (Staphylococcus) ต่อมเหงื่ออักเสบติดเชื้อ กลาก โรคเรื้อนกวาง และ จากโรคภูมิแพ้ต่างๆครับ

รอยโรคที่คล้ายเนื้องอกของบริเวณอวัยวะเพศภายนอกก็อาจพบได้หลายชนิด เช่น ช่องคลอดมีน้ำขัง เนื่องจากการมีแผ่นเนื้อกั้นขวางหรือเยื่อพรหมจารี ไม่เปิด ผู้ปกครองอาจมาพบแพทย์เร็วหากมีก้อนให้เห็นที่อวัยวะเพศภายนอกหรือคลำก้อนได้ทางหน้าท้อง (เพราะมดลูกก็จะโตขึ้นเนื่องจากมีน้ำหรือมูกขังอยู่ด้วยเช่นกันในบางรายครับ) หรืออาจไม่มาพบแพทย์เลยจนกระทั่งมีเลือดประจำเดือนขังในโพรงมดลูกเกิดขึ้นในตอนเข้าสู่วัยสาว รอยโรคที่มีลักษณะเป็นก้อนชนิดอื่นๆก็ได้แก่ ถุงน้ำ หรือติ่งเนื้อของเยื่อพรหมจารี เนื้องอกต่างๆ [เช่น เนื้องอกเทอราโตมา (Terratoma) เนื้องอกไขมัน (Lipoma) เนื้องอกกล้ามเนื้อลาย (Myoma) เนื้องอกกล้ามเนื้อเรียบ (Leiomyoma) เนื้องอกท่อน้ำเหลือง (Lymphangioma) เนื้องอกเส้นประสาท (Neuroma) เนื้องอกเส้นเลือด (Angioma)] ถุงน้ำข้างท่อปัสสาวะ ท่อปัสสาวะโผล่แลบ ถุงน้ำแต่กำเนิด และถุงน้ำบาร์โทลิน Bartholin’s cyst) โดยปกติแล้ว ถุงน้ำของเยื่อพรหมจารีจะสามารถหายไปได้เองและแทบไม่จำเป็นต้องทำการตัดออกเลยนะครับ ภาวะอื่นๆที่แพทย์ต้องนึกถึงในการวินิจฉัยแยกโรคของก้อนที่อวัยวะเพศภายนอก ได้แก่ ต่อมเพศที่เหลืออยู่ (อาจเป็นอัณฑะในรายที่มีโครโมโซมคล้ายเพศชาย) ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ รวมไปถึงเนื้องอกทั้งชนิดไม่ร้ายแรงและร้ายแรง (มะเร็ง) ซึ่งพบได้ยาก เนื้องอกหลอดเลือดชนิดรุนแรง ซึ่งจัดเป็นรอยโรคลุกลามเฉพาะที่ ก็เคยมีรายงานในเด็กหญิงอายุ 11 ขวบรายหนึ่งนะครับ มะเร็งของอวัยวะเพศภายนอกชนิดอื่นๆที่เคยมีรายงานในเด็กได้แก่ มะเร็งชนิดสแควมัส (Squamous cell carcinoma) มะเร็งชนิดอดีโน (Adenocarcinoma) มะเร็งเมลาโนมา (Melanoma) มะเร็งซาร์โคม่าโบทรีออยดีส์ (Botryoides sarcoma) และมะเร็งถุงไข่แดง (ยอล์คแสค, Yolk sac tumor) ครับ

ท่อปัสสาวะโผล่แลบ เป็นความผิดปกติของอวัยวะเพศภายนอกที่พบได้ในเด็ก เท่าๆกับที่พบได้ในสตรีวัยทองครับ ภาวะนี้พบได้บ่อยที่สุดในเด็กหญิงเชื้อสายอาฟริกันอเมริกัน (ผิวดำ) ก่อนเริ่มเข้าสู่วัยสาว และสตรีเชื้อสายคอเคเซียน (ผิวขาว/ Caucasian) วัยทอง/วัยหมดประจำเดือน โดยอาจสังเกตเห็นได้หลังจากที่มีการเพิ่มความดันในช่องท้องเนื่องมาจากการร้องไห้ การไอจาม หรือภาวะท้องผูก โดยมีลักษณะเป็นก้อนบวมแดงและมีเลือดซึมที่ปากช่องคลอด ช่วงอายุที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กคือช่วงอายุระหว่าง 5-10 ปี อาการที่นำมาพบแพทย์อาจเป็นการมีเลือดซึมออกมาจากก้อนโดยไม่รู้สึกเจ็บ หรือมีรอยเลือดเปื้อนกางเกงใน ปัสสาวะแสบขัด หรือเจ็บอวัยวะเพศภายนอก ในบางครั้งอาจทำให้ถึงกับปัสสาวะไม่ออกเชียวนะครับ การรักษาโดยปกติแล้วก็ไม่จำเป็นต้องทำการผ่าตัดแต่อย่างใดครับ โดยใช้เพียงการกดด้วยผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือนอร์มอล (Normal saline/ น้ำเกลือทำแผล) หรือนั่งแช่ในน้ำอุ่นแล้วดันกลับเข้าที่ด้วยการใส่สายสวนปัสสาวะ ร่วมกับการใช้ครีมฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ร่วมกับยาปฏิชีวนะทาเฉพาะที่ ในบางกรณีที่เป็นมากอาจจำเป็นต้องทำการตัดออกบ้างนะครับ การวินิจฉัยแยกโรคในกรณีนี้ได้แก่ การมีกระเพาะปัสสาวะโผล่แลบ ถุงน้ำข้างท่อปัสสาวะ ท่อไตอยู่ผิดที่ ติ่งเนื้อ หูด เยื่อพรหมจารีไม่เปิด มดลูกโผล่แลบ และเนื้องอกกล้ามเนื้อลายครับ

มดลูกโผล่แลบ มักพบร่วมกับความผิดปกติแต่กำเนิดอื่นๆ เช่น ความผิดปกติของระบบประสาท และความผิดปกติของโครงกระดูกหรือของกระดูกสันหลังส่วนล่าง เป็นต้นครับ แต่ถ้าหากเป็นภาวะกระเพาะปัสสาวะเปิดออกมาภายนอก และการมีฝีเย็บ (เนื้อเยื่อ/ผิวหนังที่อยู่ระหว่างปากช่องคลอดและปากทวารหนัก) ที่ไม่พัฒนามาแต่กำเนิดนั้น จำเป็นต้องได้รับข้อเสนอแนะในการดูแลรักษาจากแพทย์ที่มีความชำนาญเป็นพิเศษ เช่น กุมารศัลยแพทย์ หรือศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะครับ

ในขณะที่ความผิดปกติของอวัยวะเพศภายนอกบางชนิดที่พบในวัยเริ่มสาว คล้ายกับที่พบในวัยผู้ใหญ่ บางชนิดก็มีลักษณะเฉพาะวัย เช่นว่า เด็กหญิงในวัยเริ่มสาวอาจมาพบแพทย์เอง หรือผู้ปกครองพามาเนื่องจากเห็นว่าแคมเล็กมีขนาดโตมากเกินไป ภาวะนี้อาจทำให้มีอาการผิดปกติหรือเป็นปัญหาความงามก็ได้นะครับ ในกรณีเช่นนี้แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดตกแต่งให้ แต่หลังการผ่าตัดหากพบว่ามีการบวมก็อาจจำเป็นต้องใส่สายสวนคาท่อปัสสาวะเอาไว้นะครับ

บรรณานุกรม

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.