เรื่องเฉพาะสตรี...วัยเด็ก ตอนที่ 1

กายวิภาคศาสตร์ของอวัยวะเพศภายนอกในเด็กหญิงเป็นอย่างไร?

กายวิภาค หรือลักษณะอวัยวะเพศภายนอกในเด็กหญิง มีลักษณะและองค์ประกอบเช่นเดียวกันกับในสตรีผู้ใหญ่ครับ เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่าและยังไม่มีขนหัวเหน่า (ขนที่อวัยวะเพศ) ขึ้นเท่านั้นเอง ซึ่งได้แก่ แคมใหญ่ แคมเล็ก คลิตอริส ท่อปัสสาวะ ปากช่องคลอด ต่อมบาร์โธลิน (Bartholin’s gland, ต่อมสร้างน้ำหล่อลื่นช่องคลอด) และเยื่อพรหมจารี (Hymen,เนื้อเยื่อบางๆอยู่รอบปากช่องคลอด ซึ่งแพทย์ยังไม่ทราบว่ามีหน้าที่อย่างไร) เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยสาว สิ่งแรกที่จะมีการเปลี่ยนแปลงคือ เต้านม ตามมาด้วยการมีขนหัวเหน่า/ขนอวัยวะเพศ ขนรักแร้ แล้วจึงจะมีประจำเดือน ตามลำดับครับ

การดูแลอวัยวะเพศภายนอกในเด็กหญิง ควรทำอย่างไร?

การดูแลอวัยวะเพศภายนอกในเด็กหญิง ที่สำคัญคือ อย่าใส่อะไรเข้าไปในช่องคลอด เช่นเดียวกันกับในผู้ใหญ่ครับ การใส่อะไรเข้าไปในช่องคลอดจะนำมาซึ่งการบาดเจ็บ เป็นแผลและอักเสบติดเชื้อรุนแรงได้ การสวนล้างช่องคลอดก็มักจะตามมาด้วยการลดปริมาณลงของเชื้อแบคทีเรียประจำช่องคลอด (แลคโตบาซิลลัส /Lactobaccillus) การติดเชื้อราก็จะเป็นไปได้ง่ายขึ้นครับ สบู่ที่ใช้จะเป็นแบบก้อนหรือเหลวก็ได้แต่ไม่ควรเป็นด่างจัด เนื่องจากจะทำให้เด็กรู้สึกแสบ ชำระล้างเฉพาะภายนอกแล้วซับให้แห้งก่อนสวมกางเกงในเสมอนะครับ จะด้วยกระดาษชำระ หรือผ้าสะอาด ที่อ่อนนุ่มก็ได้ เพราะความอับชื้นก็จะนำมาซึ่งการติดเชื้อราเช่นเดียวกันครับ

โรคของอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนล่างในเด็กหญิง มีความสำคัญอย่างไร?

ภาวะผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้นกับอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนล่าง หรืออวัยวะเพศภายนอกในเด็กหญิง มักมีความแตกต่างไปจากที่พบในสตรีผู้ใหญ่ครับ อย่างไรก็ตาม การไปพบแพทย์เพราะเหตุจากความผิดปกติดังกล่าวถือว่ายังพบได้น้อย และหากต้องไปพบแพทย์กันจริงๆแล้ว ท่านผู้ปกครองก็ควรที่จะพาไปพบแพทย์เฉพาะทางนะครับ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็ได้แก่ สูตินรีแพทย์ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ หรือกุมารแพทย์ที่มีความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับความผิดปกติเหล่านี้ เทคนิควิธีการในการตรวจทางนรีเวชที่แพทย์จะนำมาใช้ ก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมแก่อายุของผู้ป่วยรายนั้นๆด้วย ไม่ใช่จะทำเช่นกันเดียวกับในผู้ใหญ่ได้เลย

ความผิดปกติของอวัยวะเพศภายนอกในเด็กหญิง มีอะไรบ้าง?

เด็กหญิงอาจมีอาการผิดปกติของอวัยวะเพศภายนอกได้หลายอย่างครับ ปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุดก็คือปากช่องคลอดอักเสบ ส่วนที่พบรองลงไปก็คือการมีเลือดออก หรือตกขาวผิดปกติ การประเมินปัญหาของอวัยวะเพศภายนอกที่พบในเด็กหญิง แพทย์จะนำเอาองค์ประกอบทางฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปตามอายุของเด็กรายนั้นๆมาพิจารณาร่วมด้วยนะครับ กล่าวคือ อิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen, ฮอร์โมนเพศหญิงชนิดหนึ่ง) จากมารดาที่ยังคงเหลืออยู่ จะยังสามารถพบได้จนถึงอายุประมาณ 2-3 ขวบ หลังจากอายุนั้นแล้วไปจนถึงอายุประมาณ 8-10 ขวบ ระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ค่อยๆลดต่ำลง จะนำไปสู่การฝ่อบางลงเรื่อยๆของเยื่อบุผิว ซึ่งจะกลับได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน อีกครั้ง (จากการสร้างของรังไข่) และหนาตัวขึ้นใหม่เมื่อใกล้เข้าสู่วัยสาว ที่จะมาถึงโดยปกติก็หลังจากอายุได้ประมาณ 8-10 ขวบไปแล้วครับ

บรรณานุกรม

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.