เรื่องเฉพาะสตรี...วัยสาว ตอนที่ 3

ลักษณะของประจำเดือนที่ผิดปกติเป็นอย่างไร?

ดังได้กล่าวไปแล้วว่า ลักษณะของประจำเดือนที่ปกติ ควรมีปริมาณไม่เกิน 80 ลูกบาศก์เซนติเมตรต่อรอบ ระยะเวลานานไม่เกิน 7 วัน ระยะห่างของแต่ละรอบอยู่ระหว่าง 21-40 วัน อาจมีก้อนเลือดออกมาปนได้บ้างในวันแรกๆ การปวดประจำเดือนก็ควรมีเพียงในวันแรกๆเท่านั้น หากมีปริมาณมากกว่านี้ ถี่กว่านี้ หลายวันกว่านี้ มีก้อนเลือดออกมาในวันหลังๆ ปวดประจำเดือนมากทุกวันหรือขนาดประจำเดือนหมดไปแล้วก็ยังปวดอยู่เลย ควรไปปรึกษาแพทย์/สูตินรีแพทย์ดูนะครับ ถึงไม่พบโรคอะไรก็คงจะมีคำแนะนำหรือวิธีการต่างๆที่แพทย์พอจะแนะนำให้สามารถลดความทุกข์ทรมาน หรือความผิดปกติเกี่ยวกับการมีประจำเดือนลงได้บ้าง

การใช้ยาแก้ปวดประจำเดือนมีวิธีการอย่างไร?

ในระหว่างการมีประจำเดือน ควรงด ชา กาแฟ โกโก้ และเครื่องดื่มบำรุงกำลัง หากปวดประจำเดือนมาก รับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ขนาด 500 มิลลิกรัม 2 เม็ดแล้วไม่หาย ก็ให้รับประทานยา เมเฟเนมิกเอสิด/Mefenamic acid (ชื่อการค้าคือ พอนสแตน/Ponstan) ขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ด 3 เวลา หลังอาหารทันที ในช่วงที่ปวดประจำเดือน หรือรับประทานนำมาก่อน 1-2 วันล่วงหน้าการมีประจำเดือนก็ได้ พึงจำไว้ว่า หากปวดทุกวัน หรือขนาดประจำเดือนหมดแล้วก็ยังปวดอยู่ หรือรับประทานยาดังที่แนะนำแล้วก็ยังไม่หาย ควรปรึกษาแพทย์/สูตินรีแพทย์ นะครับ (อาจเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โดยเฉพาะในผู้ที่อายุ 25 ปีขึ้นไป)

การใช้ยาเลื่อนประจำเดือน มีวิธีการอย่างไร?

ในบางเดือน ช่วงเวลาที่ตรงกันกับประจำเดือนจะมานั้น ไปตรงกันกับช่วงที่ต้องทำกิจกรรมสำคัญที่การมีรอบเดือนอาจขัดขวางไม่ให้ทำกิจกรรมนั้นได้ หรือทำได้ไม่สะดวกเช่น การว่ายน้ำ การแข่งกีฬาบาอย่าง การสอบ เป็นต้น การทำให้ประจำเดือนรอบนั้นมาช้าออกไปอีกสักหน่อย สามารถทำได้โดยการรับประทานยาฮอร์โมนจำพวก โปรเจสติน (Progestin) ได้แก่ นอร์เอทิสเตอโรน/Noresthisterone (ชื่อการค้าคือ ปรีโมลุท-เอ็น/ Premolut-N) ในขนาดวันละ 10-15 มิลลิกรัม หรือ เมดรอกซี่โปรเจสเตโรน/Medroxyprogesterone (ชื่อการค้าคือ โปรเวรา/ Provera) ในขนาดวันละ 20-30 มิลลิกรัม ซึ่งก็เปรียบเสมือนการทำให้ร่างกายมีฮอร์โมนโปรเจสเตโรน/Progesterone (ฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากรังไข่ในช่วงหลังไข่ตก) ไปเรื่อยๆ โดยควรจะเริ่มรับประทานเสียตั้งแต่ก่อนประจำเดือนจะมาประมาณ 7 วัน เพื่อให้รับช่วงต่อจากฮอร์โมนธรรมชาติที่กำลังจะลดต่ำลงได้ทันเวลาพอดี เมื่อไม่มีการขาดฮอร์โมนชนิดนี้ เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะยังไม่ลอกหลุด ประจำเดือนก็จะยังไม่มา อย่างไรก็ตาม ไม่ควรเลื่อนประจำเดือนออกไปมากกว่า 2 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกเริ่มบางลงและมีเลือดออกกะปริดกะปรอยได้ เมื่อหยุดยาแล้ว โดยทั่วไปจะมีประจำเดือนมาตามปกติภายใน 2 วัน

บรรณานุกรม

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.