เรื่องเฉพาะสตรี...วัยสาว ตอนที่ 1

วัยสาว เริ่มต้นเมื่อใดและอย่างไร?

การก้าวเข้าสู่วัยสาวนั้น คือภาวะเชื่อมต่อของวัยเด็กและวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งโดยมากจะเริ่มต้นตอนอายุประมาณ 8-13 ปี ขึ้นอยู่กับภาวะโภชนาการ ความแข็งแรงของร่างกาย สภาวะแวดล้อม ความเจริญของท้องถิ่นที่อยู่อาศัย รวมทั้งสภาวะอากาศและเครื่องนุ่งห่ม การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยสาวนี้ จะเริ่มต้นจากระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ได้แก่ สมองส่วนไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) เป็นตัวหลั่งฮอร์โมนตัวแรก ไปกระตุ้นต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมนตัวที่สอง ซึ่งจะไปออกฤทธิ์ที่รังไข่ ทำให้เกิดการสร้างฮอร์โมนในรังไข่ และฮอร์โมนที่หลั่งจากรังไข่นี้เองที่จะไปกระตุ้นอวัยวะสำคัญต่างๆ เช่น เต้านม อวัยวะเพศ มดลูก เยื่อบุโพรงมดลูก ผิวหนัง กล้ามเนื้อและกระดูก ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยสาว อวัยวะเพศภายในดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการเหล่านี้

ลำดับการเปลี่ยนแปลงของวัยสาว เป็นอย่างไร?

เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงของเต้านมก่อนอย่างอื่น โดยจะเริ่มมีก้อนนูนขึ้นใต้หัวนมคล้ายขนมครก (แล้วจึงค่อยๆขยายขนาดออก และเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปจนเหมือนของผู้ใหญ่) ต่อไปก็จะเริ่มมีขนหัวหน่าว/ขนอวัยวะเพศ แล้วก็ขนรักแร้ตามลำดับ ท้ายที่สุดจึงจะเริ่มมีประจำเดือน มีไขมันสะสมใต้ผิวหนังกระจายอยู่ทั่วร่างกายในสัดส่วนที่มากกว่าชาย (ทำให้ผิวหนังนุ่มนวลกว่า) โครงสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อเปลี่ยนแปลงไปในแบบผู้หญิง กล่าวคือช่วงหัวไหล่จะแคบในขณะที่ช่วงสะโพกจะผายออก เพื่อให้เหมาะสมกับหน้าที่ในการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรในอนาคต

ประจำเดือน เกิดขึ้นได้อย่างไร?

เป็นที่เข้าใจผิดกันมากว่า ประจำเดือนคือ ของเสียที่ร่างกายขับออกมาทางมดลูก ดังนั้น หากไม่มีประจำเดือนออกมาก็หมายความว่า จะมีของเสียคั่งค้างอยู่ในร่างกายทำให้สุขภาพไม่ดี ไม่เป็นความจริงครับ เพราะการมีประจำเดือนมาตรงและปกตินั้น เป็นผลพลอยได้ของการที่รังไข่ยังทำงานได้เป็นปกติเท่านั้นเอง เปรียบเสมือนภาพที่ชัดเจนในจอโทรทัศน์เมื่อห้องส่งทำงานได้ดี หากห้องส่งทำงานไม่ดี (รังไข่ทำงานผิดปกติ) ก็ย่อมได้ภาพที่ไม่ชัดเจน (ประจำเดือนมาผิดปกติ) หรือไม่มีภาพเลย (ประจำเดือนไม่มา)

มดลูกเป็นอวัยวะที่มีกล้ามเนื้อเรียบเป็นส่วนประกอบเป็นส่วนใหญ่ มีขนาดและรูปร่างคล้ายกับลูกชมพู่ที่กลับเอาหัวลง แต่แบนกว่า (ในแนวหน้าหลัง) และก้นเรียบ (ไม่มีหลุมหยัก) ทางด้านล่างเชื่อมอยู่กับช่องคลอด ด้านบนทั้งสองข้างเชื่อมอยู่กับหลอดมดลูก/ท่อนำไข่ ปลายแต่ละข้างของหลอดมดลูกนั้นบานออกคล้ายดอกไม้ (ดอกลำโพง) เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร เพื่อรองรับไข่ที่ตกออกมาจากรังไข่แต่ละข้างซึ่งอยู่แนบชิดติดกันนั่นเอง ในมดลูกมีลักษณะเป็นโพรงแบนรูปสามเหลี่ยมหัวกลับ มีเนื้อเยื่อบุอยู่โดยรอบ เนื้อเยื่อนี้เรียกว่า เยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งในวันแรกของการมีประจำเดือน เยื่อนี้จะเริ่มลอกหลุดออกมาทีละเล็กทีละน้อยจนเกือบหมดภายในเวลาไม่เกิน 7 วัน เหลือไว้เพียงแต่ชั้นล่างสุดที่เปรียบเสมือนเยื่อเจริญ ซึ่งจะสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกชุดใหม่ให้เกิดขึ้นมา แล้วลอกหลุดออกเป็นประจำเดือนอีกในรอบต่อไป

ในช่วงเวลาครึ่งแรกของรอบเดือนนั้น ในรังไข่จะมีฟองไข่ซึ่งกำลังเจริญเติบโตอยู่หลายฟอง แต่ในที่สุดแล้วก็จะมีกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ให้ฟองที่โตเด่นกว่าฟองอื่นเพียงใบเดียวเท่านั้นได้มีโอกาสโตต่อไปจนเต็มที่ (สุก) แล้วตกไข่ออกมา ในระหว่างที่ฟองไข่กำลังเจริญเติบโตนี่เอง จะสร้างฮอร์โมนที่ชื่อว่า เอสโตรเจน ZEstrogen) ออกมาไปกระตุ้นเยื่อบุโพรงมดลูกให้หนาตัวขึ้น เมื่อไข่ตกแล้วเปลือกของฟองไข่ที่เหลืออยู่ในรังไข่ก็จะเปลี่ยนสภาพไป และสร้างฮอร์โมนอีกตัวหนึ่งที่ชื่อโปรเจสโตเจน (Progestogen) ออกมาแทน ฮอร์โมนตัวนี้ จะไปเปลี่ยนแปลงเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาตัวแล้ว ให้เปลี่ยนสภาพไปอีก กล่าวคือหนาตัวและแข็งแรงขึ้นอีกทั้งยังสามารถหลั่งสาร (มูก) ออกมาได้ ทำให้ลักษณะของสารคัดหลั่งในช่องคลอดช่วงครึ่งหลังของรอบเดือนนี้ข้นขึ้น

เปลือกของฟองไข่ที่เหลืออยู่ในรังไข่หลังไข่ตกนี้ จะสร้างฮอร์โมนโปรเจสโตเจนอยู่เพียง 14 วันก็ฝ่อไป ทำให้ไม่มีฮอร์โมนใดๆมากระตุ้นหรือหล่อเลี้ยงเยื่อบุโพรงมดลูกอีกเลย เยื่อบุโพรงมดลูกจึงสูญเสียความแข็งแรง แล้วลอกหลุดออกเป็นประจำเดือนวันแรกของรอบต่อไป

วิธีการนับรอบเดือนที่แพทย์ใช้ก็มีหลักการดังกล่าวนี้คือ วันแรกของการมีประจำเดือนนับเป็นวันที่ 1 ของรอบเดือน ระยะห่างของรอบเดือนแพทย์จะนับจากวันที่ 1 ของรอบหนึ่ง ไปถึงวันที่ 1 ของรอบถัดไป หากอยู่ระหว่าง 1-40 วัน ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ในสตรีที่มีรอบเดือน 28 วัน ไข่จะตกในวันที่ 14 ในสตรีที่มีรอบเดือน30 วัน ไข่จะตกในวันที่ 16 ในสตรีที่มีรอบเดือน 26 วัน ไข่จะตกในวันที่12 นั่นคือหลังจากไข่ตกแล้วจะมีประจำเดือนมาภายใน 14 วันแน่นอน แต่หลังจากมีประจำเดือนแล้วจะมีไข่ตกวันไหนนั้นไม่แน่ ความยาวนานของแต่ละรอบเดือนนั้นปกติก็ไม่เกิน 7 วัน หรือหากจะประมาณเป็นปริมาตรก็ไม่เกิน 80 ลูกบาศก์เซนติเมตร เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงขอแสดงแผนภูมิการเกิดประจำเดือนของสตรีที่มีรอบเดือน 28 วัน และ 30 วัน เป็นตัวอย่างดังนี้

ตารางแสดงการเกิดประจำเดือนในรอบ 28 วัน
วันที่ 1-7 ของรอบ วันที่ 8-13 ของรอบ วันที่ 14 ของรอบ วันที่ 15-28 ของรอบ
มีประจำเดือน ฟองไข่ค่อยๆโตจนสุก ไข่ตก เปลือกฟองไข่ค่อยๆฝ่อ
ตารางแสดงการเกิดประจำเดือนในรอบ 30 วัน
วันที่ 1-7 ของรอบ วันที่ 8-15 ของรอบ วันที่ 16 ของรอบ วันที่ 17-28 ของรอบ
มีประจำเดือน ฟองไข่ค่อยๆโตจนสุก ไข่ตก เปลือกฟองไข่ค่อยๆฝ่อ

บรรณานุกรม

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.