สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน ยาหยอดตาที่ทำให้เกิดม่านตาอักเสบ

เรื่องน่ารู้จากหมอตา-65

      

      ยา แม้ว่าส่วนใหญ่มีคุณ ใช้ระงับอาการต่าง ๆ ตลอดจนรักษาโรค แต่ยาส่วนมากมักจะมีผลข้างเคียงน้อยบ้างมากบ้าง โรคที่ร้ายแรงแม้ยาจะมีผลข้างเคียงมาก แต่เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่ได้ อาจจำเป็นต้องใช้และคอยเฝ้าตรวจดูผลข้างเคียงและรักษาตามอาการ

      ภาวะม่านตาอักเสบ (uveitis) เป็นภาวะที่หากเป็นซ้ำนำไปสู่ต้อกระจก ต้อหิน และตาบอดได้ในที่สุด เป็นการอักเสบที่มักจะเกิดจากโรคหรือภาวะผิดปกติภายในร่างกาย แต่ก็มีรายงานว่าภาวะนี้อาจเกิดจากยาได้ เกิดได้ทั้งที่ใช้โรคทางกาย โรคตา แม้แต่ยาหยอดตาก็อาจทำให้เกิดม่านตาอักเสบได้ ได้แก่

      1. ยาหยอดตาที่มี steroid เป็นที่ทราบกันว่า ยา steroid เป็นยาหลักที่ใช้รักษาภาวะ uveitis ได้ เนื่องจากยาที่มี steroid มีผลข้างเคียงที่สำคัญ เช่น ต้อหิน ต้อกระจก ฯลฯ ทำให้เกิดความระมัดระวังมากขึ้น จึงเกิดภาวะ uveitis หลังการใช้ยาหยอด steroid น้อยลง

      2. ยา Metipranolol เป็น nonselective betablocker ที่ใช้รักษาต้อหิน มีรายงานที่ได้รับการพิสูจน์แน่ชัดว่าทำให้เกิด granulomatous anterior uveitis

      3. ยา Brimonidine ซึ่งเป็น selective alpha -2- adrenergic agonist เป็นยารักษาต้อหินเรื้อรัง (POAG) และภาวะ ocular hypertension ที่มีผลข้างเคียงที่พบบ่อยได้แก่ ตาแดง follicular conjunctivitis อีกทั้งมีรายงานทำให้เกิดภาวะ granulomatous anterior uveitis ที่มี large KP และมักจะมีความดันตาสูงด้วย โดยเฉพาะผู้ใช้ยาตัวนี้เป็นปี แต่ถ้างดยาอาการหายได้เอง

      4. Prostaglandin analogues ทั้ง latanoprost และ bimatoprost ที่รักษาต้อหินด้วยการเพิ่ม uveoscleral outflow นั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวหนังรอบดวงตาเขียวคล้ำ ม่านตาสีเข้มขึ้น (มีปัญหาสำหรับผู้ที่มีม่านตาจาง ๆ และหยอดตาข้างเดียว ทำให้ม่านตามีสีต่างกัน) ตลอดจนกระตุ้นให้เกิด Herpes simplex keratitis และ macular บวม ระยะหลังมีผู้รายงานว่า ยากลุ่มนี้อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะ uveitis เคยมีรางานว่าพบได้ถึง 5% ในผู้ใช้ยา latanoprost เป็นเวลาหลายเดือน

      จากรายงานการพบภาวะ uveitis ในผู้ป่วยที่หยอดยาดังกล่าวข้างต้น เนื่องจากยาดังกล่าวมักต้องใช้เวลานาน บางรายต้องหยอดตลอดชีวิต จึงควรคอยตรวจเช็คภาวะ uveitis ไว้ด้วยจะได้แก้ไขได้ทัน