สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน ระดับของตาแห้ง

เรื่องน่ารู้จากหมอตา-21

ปัจจุบัน โรคที่พบบ่อยหรือได้ยินกัน คือ ตาแห้ง หลาย ๆ ท่านมีอาการไม่สบายตา ไปรับการตรวจตา แล้วหมอแจ้งว่าเป็นภาวะตาแห้ง แล้วตาแห้งก่อให้เกิดผลเสียอย่างไร

สาเหตุตาแห้งมีมากมาย เมื่อมีภาวะตาแห้ง ก่อให้เกิดอาการและพยาธิสภาพผิวตาต่าง ๆ จาก

1. น้ำตา osmolarity ที่สูงขึ้น กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ มีการหลั่งสารเคมีที่เกี่ยวกับการอักเสบ ได้แก่ cytokine ชนิดต่าง ๆ นำมาซึ่งการตาย (apoptosis) ของเยื่อบุผิว และเซลส์ goblet ที่สร้างน้ำตาชั้นเมือก ทำให้ผิวกระจกตาถลอก หลุดลอก เกิดพยาธิสภาพของผิวกระจกตา

2. น้ำตาไม่คงตัว (tear instability) ทำให้เกิดการอักเสบ มีการทำลายเซลส์เยื่อบุผิว และ goblet เซลส์ ได้เช่นกัน

ทั้งภาวะ osmolarity ของน้ำตาที่สูงขึ้น และการไม่คงตัวของน้ำตา มักจะเสริมซึ่งกันและกัน คือเมื่อมี osmolarity สูง ก็ทำให้น้ำตาไม่คงตัว ซึงการไม่คงตัวก็ยิ่งทำให้ osmolarity สูงขึ้น ทำให้มีอาการและพยาธิสภาพเกิดได้มากขึ้น

อาการหลักของตาแห้งคือ เคืองตา แสบตา คันตา ฝืดตา ลืมตาไม่ขึ้น ตามัวเป็นพัก ๆ มีน้ำตาไหล อาจแบ่งความรุนแรงของตาแห้งตาม Delphi classification ออกเป็น

  • ระดับที่ 1 มีอาการเพียงเล็กน้อย เป็นครั้งคราว เฉพาะเวลามีปัจจัยกระตุ้น เช่น พัดลมเป่า อยู่ในห้องปรับอากาศ ระดับนี้อาจตรวจไม่พบความผิดปกติ
  • ระดับที่ 2 มีอาการปานกลาง เป็นครั้งคราวหรือเรื้อรัง อาการเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องมีปัจจัยกระตุ้น แต่มีอาการพอสมควรจนต้องลดกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ต้องละสายตาจากงาน การตรวจตาอาจไม่พบความผิดปกติ หรือมีตาแดงเล็กน้อย หรือตรวจจำนวนน้ำตาพบว่าลดลง เช่น tear meniscus ลดลง การตรวจ TBUT และ Schirmer ผิดปกติโดยมีค่าน้อยกว่า 10 มม
  • ระดับ 3 มีอาการรุนแรงต่อเนื่องโดยไม่มีปัจจัยกระตุ้น ผู้ป่วยมักบ่นว่าสายตามัวลง มีอาการจนต้องจำกัดกิจกรรมประจำวัน กลุ่มนี้มักจะพบตาแดง ผิวกระจกตาผิดปกติ มีลักษณะของ punctate หรือ filament keratosis ประปราย ปริมาณน้ำตาที่ตรวจด้วย Schirmer หรือ TBUT ลดลงโดยมีค่าน้อยกว่า 5 มม
  • ระดับที่ 4 อาการรุรนแรง เห็นชัดเจนมีผลต่อชีวิตประจำวัน สายตาผิดปกติมาก มักจะพบตาแดง เยื่อบุผิวกระจกตาผิดปกติรุนแรง มี punctate หรือ filament keratitis มาก มีความผิดปกติของต่อม Meibomian บางรายมีขนตาเก ค่า TBUT และ Schirmer น้อยกว่า 2