สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน การเปลี่ยนกระจกตา( Keratoplasty )

เรื่องน่ารู้จากหมอตา-15

“ ดวงตาเราคู่นี้แสนมีค่า เกินกว่าจะทิ้งไปให้สูญเปล่า เราไม่อยู่ เราไม่ใช้นัยน์ตาเรา ให้คนเราเก็บไว้ใช้ เราได้บุญ ”

การเปลี่ยนกระจกตา เป็นการเปลี่ยนอวัยวะที่ทำบ่อยที่สุด ได้ผลดีที่สุด ใช้รักษาผู้ป่วยที่ตามัวหรือตาบอดจากโรคของกระจกตา ส่วนมากเกิดจากกระจกตาได้รับบาดเจ็บเป็นแผล ทิ้งไว้กลายเป็นแผลเป็นบดบังการมองเห็น ผู้ที่ตามัวจากโรคของกระจกตา หากได้รับการเปลี่ยนจากกระจกตาของผู้เสียชีวิตบริจาคไว้ ทำให้ตามองเห็นขึ้นมาได้ระดับหนึ่ง

สถานการณ์ในปัจจุบันของการรอเปลี่ยนกระจกตาก็คือ

มีผู้ป่วยลงชื่อไว้โดยแพทย์ลงความเห็นว่าสมควรผ่าตัด 11027 ราย
มีผู้ป่วยใหม่มาลงชื่อเพิ่มต่อปี 2112 ราย
มีผู้บริจาคดวงตาต่อปี(จะใช้ได้ต่อเมื่อเสียชีวิตแล้วเท่านั้น) 433 ราย
การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาต่อปี 719 ราย

จำนวนผู้ป่วยที่ลงชื่อรอน่าจะน้อยกว่าที่เป็นจริงมาก เพราะส่วนใหญ่อาจเข้าไม่ถึงที่จะมารับการตรวจว่าสมควรเปลี่ยนกระจกตา เราคงต้องรณรงค์ให้มีการบริจาคดวงตากันมากขึ้น

การปรับปรุงให้มีการเปลี่ยนกระจกตาให้ได้ผลดีมากขึ้น ทำโดย

1. สร้างจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกตาให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อบริการผ่าตัด ซึ่งในข้อนี้ราชวิทยาลัยจักษุกำลังสนับสนุนและเร่งการผลิตอยู่

2. ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดไป ใช่ว่ากระจกตาจะดีอย่างนั้นไปตลอดชีวิตของผู้รับ มีการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเพื่อเพิ่มการมองเห็น (optical purpose) (ไม่นับประเภทเปลี่ยนเพื่อปิดแผลทะลุและอื่นๆ) พบว่าตาที่เปลี่ยนใหม่มีสภาพดี 91% ในปีแรกและจะลดลงเหลือ 76% ใน 3 ปี เหลือ 61% ใน 5 ปี และ 44% ใน 10 ปี การหมั่นตรวจติดตามระยะหลังผ่าตัดจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะให้ตาที่เปลี่ยนใหม่อยู่ดีตลอด สาเหตุที่สำคัญที่เกิดการขุ่นมัวมักเกิดจาก การไม่ยอมรับตาใหม่ (rejection) ซึ่งหากรับการตรวจพบระยะแรกของการต่อต้าน อาจให้ยาระงับได้พบว่า 50 % ของ rejection เกิดจากผู้ป่วยไม่ใช้ยาตามที่สั่ง 40% เกิดจากการใช้ยาที่ไม่สม่ำเสมอ แต่ก็ยังมี 10% ที่ผู้ป่วยติดตามการรักษาดีก็ยังมีการต่อต้านได้

3. การพัฒนาวิธีการผ่าตัด แต่เดิมเราใช้วิธีเปลี่ยนกระจกตาทุกชั้น เรียกว่า penetrating keratoplasty ปัจจุบันมีวิวัฒนาการเปลี่ยนเฉพาะชั้น (lamellar keratoplasty) ให้นึกภาพกระจกตาซึ่งมีความหนาประมาณ 500 ไมครอน ประมาณ 0.5 มม. นั้นแบ่งเป็นชั้นๆ เหมือนขนมชั้น แต่เดิมเราตัดออกทุกชิ้น ในปัจจุบันเลือกผู้ป่วยที่หากมีปัญหาเฉพาะชั้นต้นๆ ก็ทำเปลี่ยนเฉพาะชั้นต้นๆ (anteria lamellar keratoplasty) หรือถ้าผู้ป่วยใดมีปัญหาเฉพาะชั้นหลังๆ ก็เปลี่ยนโดยลอกออกเฉพาะชั้นหลังๆ ทำ posteria lamallar keratoplasty จึงทำให้ดวงตาบริจาคหนึ่งดวงอาจช่วยผู้ป่วยได้ 2 คน หรือมากกว่า ความฝันของหมอเราในแง่นี้เป็น

3.1 ตาบริจาค 1 ดวง ช่วยผู้ป่วยได้มากกว่า 2 คน

3.2 ปรับปรุงวิธีผ่าตัด หาวิธีที่จะช่วยให้ตาบริจาคเข้ากับตาผู้ป่วยได้นานๆ ทั้งให้จักษุแพทย์ทุกท่านช่วยตรวจดูแลหลังผ่าตัดไปนานๆ

3.3 จัดตั้งศูนย์บริจาคดวงตา โดยแยกผู้ป่วยเป็นกลุ่มชัดเจน เป็นเปลี่ยนทุกชั้น เปลี่ยนบางชั้น และชั้นไหน เพื่อบริหารจัดการตามผู้ป่วยที่ดีและถูกต้อง