เรื่องจริงของยกทรง ? (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

สำหรับสรีระทางร่างกายของเด็กผู้หญิงนั้น เต้านมจะเริ่มโตเมื่ออายุ 8 ปี หรืออย่างช้า 13 ปี บางคนก็โตช้าบางคนก็โตเร็ว พัฒนาการของเต้านมจะมีเป็นระยะ

โดยระยะแรกจะเกิดเมื่อเริ่มเป็นวัยรุ่น รังไข่เริ่มเจริญเติบโตและฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สำคัญของเพศหญิงเริ่มไหลเวียนไปทั่วร่างกาย แพทย์มักเรียกระยะนี้ว่า “วัยแรกรุ่น” (Breast budding)

ในวัยแรกรุ่นจะมีก้อนเล็กๆ ใต้หัวนมที่เริ่มโต หัวนมและผิวหนังรอบๆ หัวนมที่เรียกว่า ฐานหัวนม (Areola) จะใหญ่และสีเข้มขึ้น หลังจากนั้นบริเวณรอบๆ หัวนมและฐานหัวนมจะโตขึ้นเป็นเต้านม เต้านมจะค่อยๆ โตต่อไประหว่างเป็นวัยรุ่นจนถึงราวอายุ 20 ต้นๆ ก็จะโตเต็มที่

ทั้งนี้ ขนาดของเต้านมจะถูกกำหนดโดยพันธุกรรมและน้ำหนักตัว ดังนั้น ถ้าเด็กมีแม่ที่มีเต้านมใหญ่หรือเล็ก เด็กก็จะมีเต้านมที่ใหญ่หรือเล็กคล้ายแม่ ยิ่งเด็กที่อ้วนมากก็จะมีเต้านมที่ใหญ่มาก

เมื่อเด็กผู้หญิงมีหน้าอก การใส่ยกทรงจะช่วยเด็กเมื่อมีการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา การเลือกยกทรงที่พอดีกับขนาดจะช่วยลดปัญหาให้เด็ก

ยกทรงของเด็กแรกรุ่นจะเรียกว่า "Training bra" ซึ่งเหมาะกับเด็กที่ยังไม่มีขนาดเต้านมที่มาตรฐาน แต่ต้องการความสบายและปกป้องร่างกาย ในปัจจุบันยกทรงของเด็กแรกรุ่นมักจะเป็นเหมือนยกทรงที่ใช้เล่นกีฬา (Sports bra) ที่ใช้สวมโดยผู้หญิงทุกอายุที่เล่นกีฬาหรือต้องการออกกำลังกาย

Sports bra จะช่วยป้องกันเต้านมเด็กที่กำลังเจริญเติบโตจากการกระเทือนอันเนื่องมาจากการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย นอกจาก Sports bra แล้วก็มียกทรงชนิดอื่นแบบซอฟต์คัพ (Soft-cup bra) ที่ทำให้ดูเหมือนธรรมชาติ ไม่เปลี่ยนแปลงรูปร่างหน้าอกของเด็กมากนัก ส่วนยกทรงที่มีโครง (Underwire) จะเหมาะกับผู้ที่มีหน้าอกใหญ่ตั้งแต่คัพ C ขึ้นไป

ส่วนปัญหาที่บางคนกล่าวว่า การใส่ยกทรงที่มีโครงทำให้เป็นมะเร็งเต้านม เพราะไปขวางทางไหลของระบบต่อมน้ำเหลือง (Lymphatic system) ที่ใต้แขน ทำให้เกิดการรวมตัวของสารพิษที่เต้านม และเกิดเป็นมะเร็งเต้านมนั้น ในขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มากพอที่จะระบุได้ชัดเจน

ทั้งนี้หากมองอีกด้านแล้ว จะพบว่าการมีน้ำหนักตัวที่มาก น่าจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่า เพราะผู้หญิงที่มีน้ำหนักมากมักจะมีเต้านมที่ใหญ่ซึ่งต้องใส่ยกทรงช่วย

นอกจากนี้ The British School of Osteopathy ได้ศึกษาและพบว่า การใส่ยกทรงที่คับเกินไปจะทำให้มีปัญหาเรื่องการหายใจ เพราะโครงที่อยู่ใต้อกจะไปกดทับซี่โครงซึ่งจะไปกดทับกะบังลม (Diaphragm) อีกที ทำให้หายใจลำบาก และยังอาจทำให้เกิดโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome = IBS) และอาการท้องผูก (Constipation) ซึ่งเป็นผลมาจากระบบย่อยอาหารถูกกดทับ

แหล่งข้อมูล:

  1. New Stage in Life. http://kidshealth.org/kid/grow/girlstuff/breasts_bras.html [2013, November 20].
  2. Bras and breast cancer risk. http://www.cancerresearchuk.org/cancer-help/about-cancer/cancer-questions/bras-and-breast-cancer-risk [2013, November 20].
  3. Common Fears With No Evidence: Antiperspirants and Bras. http://www.breastcancer.org/risk/factors/no_evidence [2013, November 20].
  4. Is your bra bad for you? http://www.dailymail.co.uk/health/article-182372/Is-bra-bad-you.html [2013, November 20].