เรื่องของขยะ สำคัญไฉน?

นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย เดินทางไปที่จังหวัดลพบุรี และร่วมประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดลพบุรี ซึ่งมีน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2554 เป็นต้นมา รวมทั้งหมด 11 อำเภอ ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว อยู่ระหว่างฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และควบคุมป้องกันโรค แต่ปัญหาใหญ่ของลพบุรีขณะนี้ คือ ขยะ ซึ่งมีปริมาณวันละ 100 กว่าตัน และมีบ่อขยะอีกนับแสนตัน ในพื้นที่ 50 ไร่ เจ้าหน้าที่แจกถุงดำให้ประชาชนใช้ใส่ขยะ สิ่งปฏิกูลต่างๆ ไม่ให้ทิ้งลงน้ำ เพื่อป้องกันโรคระบาด ในขณะเดียวกันก็เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันตนเองจากโรคต่างๆ

ขยะ (Waste) คือวัสดุที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่มีประโยชน์ ในทางชีววิทยา ขยะคือสารพิษ หรือสิ่งปฏิกูล หรือของเหลือจากการเผาผลาญในร่างกาย อาทิ ปัสสาวะ อุจจาระ หรือเหงื่อที่ถูกขับออกจากร่างกายของสิ่งมีชีวิต ขยะเกิดจากการวิวัฒนาของมนุษย์ โดยที่ส่วนประกอบของขยะต่างๆ แปรผันไปตามเวลาและสถานที่ อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรม นำมาซึ่งขยะวัสดุพลาสติก หรือสารนิวเคลียร์ แต่ส่วนประกอบของขยะนี้ อาจมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เมื่อถูกนำมาใช้หมุนเวียนใหม่ (Recycle) หลังจากที่ได้รับการบำบัดให้คืนสภาพ (Recover) อย่างถูกต้อง

เราให้คำจำกัดความของขยะตามระบบจัดการขยะ (Waste management) สมัยใหม่ ดังนี้

  • ขยะเทศบาล (Municipal waste) หรือขยะ กทม. ซึ่งได้แก่ ขยะตามบ้าน สำนักงาน และจากการรื้อทำลายอาคารต่างๆ
  • ขยะอันตราย (Hazardous waste) ซึ่งได้แก่ ขยะอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม
  • ขยะชีวเวช (Bio-medical waste) ซึ่งได้แก่ ขยะทางการแพทย์ โดยเฉพาะจากโรงพยาบาล
  • ขยะอันตรายพิเศษ (Special hazardous waste) ซึ่งได้แก่ ขยะกัมมันตภาพรังสี ระเบิด และเครื่องมือ เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

ขยะ ดึงดูด หนู และแมลงสาบ ซึ่งเป็นแหล่งรังโรคของพยาธิกระเพาะอาหารและลำไส้ ไข้เหลือง หนอนพยาธิต่างๆ กาฬโรค ฯลฯ นอกจากนี้ การเข้าใกล้ขยะอันตราย (โดยเฉพาะขณะกำลังถูกเผาไหม้) อาจเป็นสาเหตุของโรคภัยต่างๆ รวมทั้งโรคมะเร็ง ขยะอาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนของน้ำบนพื้นผิวดิน น้ำบาดาล ดิน และอากาศ ซึ่งสร้างปัญหามากมายให้มนุษย์ สัตว์ และพืช หรือนัยหนึ่ง คือภาพรวมของระบบนิเวศวิทยา (Ecosystem) แต่การบำบัด และกำจัดขยะที่ไม่เป็นระบบ มักก่อให้เกิดกระจายก๊าซเรือนกระจก (Green House) โดยเฉพาะ ก๊าซ มีเทน (Methane) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศโอโซน (Ozone) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

ทั้งนี้ ต้นทุนการจัดการขยะค่อนข้างสูงมาก และต้องแบกรับโดยรัฐ แต่สามารถประหยัดได้ด้วยการออกแบบวิธีการจัดเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพ ดัดแปลงพาหนะเก็บขยะให้เหมาะสม และให้การศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องของปัญหาที่เกิดจากขยะ และวิธีจัดการกับขยะ สถานที่บำบัด และกำจัดขยะ มักมีผลกระทบต่อราคาที่ดิน เนื่องจาก เสียง ฝุ่น มลพิษ และสภาพที่ไม่น่าชมของขยะ แต่ก็มีบุคคลกลุ่มหนึ่ง ที่ได้ประโยชน์จากขยะ โดยการคัดแยกวัสดุ โลหะ แก้ว พลาสติก สิ่งทอ และอื่นๆ ที่สามารถนำไปขายได้ ตามคำกล่าวที่ว่า “ขยะของคนหนึ่งอาจเป็นทรัพย์ของอีกคนหนึ่ง” หรือ “One man's trash is another man's treasure”

การแก้ปัญหาที่ถูกต้องอยู่ที่การจัดการขยะอย่างเป็นระบบ (Waste management system) โดยนำขยะมา บำบัดให้คืนสภาพใหม่ และให้ผ่านกระบวนหมุนเวียน เพื่อใช้แล้วใช้อีกอย่างมีมาตรฐาน มิฉะนั้น คำถามที่อยู่ในใจทุกคนคงเป็น “เราจะทิ้งกองมรดกขยะมหึมานี้ ไว้เป็นทรัพย์สมบัติถึงลูกถึงหลานหรือ?”

แหล่งข้อมูล:

  1. http://www.manager.co.th/qol/default.html
  2. Waste. http://en.wikipedia.org/wiki/Waste [7 ตุลาคม 2011].