เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) หรือยาชื่อการค้าที่คนมักรู้จัก คือ ‘พลาซิล (Plasil)’ เป็นยาที่นำมาบำบัดอาการคลื่นไส้อาเจียน ช่วยทำให้กระเพาะและลำไส้บีบไล่อาหารที่คงค้างอยู่ในช่องทางเดินอาหารได้เร็วมากขึ้น ยาตัวนี้เหมาะที่จะใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการของกระเพาะและลำไส้ทำงานได้ไม่ดีหรือบีบตัวน้อยเกินไป จนทำให้อาหารคั่งค้างอยู่นานจนก่อให้เกิดภาวะคลื่นไส้อยากอาเจียนขึ้นมา

ยาเมโทโคลพราไมด์ ยังถูกนำไปใช้ประกอบรักษาโรคต่างๆอีกด้วย เช่น อาการคลื่นไส้อาเจียน จากการฉายรังสีรักษา, จากยาเคมีบำบัด, จากการติดเชื้อ, จากโรคไมเกรน, จากการตั้งครรภ์, จากโรคมะเร็ง, จากภาวะสารยูเรีย (Urea)เกินในร่างกาย, โดยตัวยาจะไปออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองบางตัว เช่น โดพามีน (Dopamine) ด้วยสารตัวนี้กระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้นั่นเอง และสำหรับในหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ยาเมโทโคลพราไมด์ นี้ยังช่วยกระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำนมได้มากขึ้นอีกด้วย

องค์การอนามัยโลก กำหนดให้เมโทโคลพราไมด์อยู่ในบัญชียาที่จำเป็นต่อสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยเราได้บรรจุยาตัวนี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยอยู่ในหมวด ยารักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน/ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน

ยาเมโทโคลพราไมด์มีจำหน่ายทั้งชนิด ยาเม็ด ยาน้ำ และยาฉีด หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป และมีใช้ในสถานพยาบาลแทบทุกที่ ประชาชนทั่วไปจะคุ้นเคยกับยารับประทานมากกว่ายาฉีด ด้วยนำกลับไปใช้ที่บ้านได้ ปกติเมื่ออาการดีขึ้นก็สามารถหยุดยาได้เอง แต่อย่างไรก็ต้องฟังความเห็นของแพทย์ร่วมด้วย

เมื่อร่างกายได้รับยาเมโทโคลพราไมด์ ภายในเวลา 1 - 2 ชั่วโมง ยาจะเริ่มออกฤทธิ์โดยกระจายตัวผ่านไปที่สมอง ผ่านเข้ารก อีกทั้งยังขับออกมากับน้ำนมมารดาได้ เมโทโคลพราไมด์จะถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างเคมีที่อวัยวะตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 4 - 6 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากร่างกาย 50% โดยส่วนใหญ่ผ่านไปกับปัสสาวะ และส่วนน้อยผ่านทางอุจจาระ

ยานี้จัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้ไม่ว่าจะใช้ในวัตถุประสงค์ของอาการโรคใดๆก็ตาม ควรต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ยาเมโทโคลพราไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เมโทโคลพราไมด์

สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาเมโทโคลพราไมด์ เช่น

  • รักษากระเพาะ - ลำไส้ทำงานผิดปกติในผู้ป่วยโรคเบาหวานด้วยต้องใช้เวลาในการขับ เคลื่อนอาหารลงสู่ลำไส้นานกว่าปกติ (Diabetic gastric stasis)
  • ภาวะคลื่นไส้-อาเจียน อันเกิดจากยาเคมีบำบัด และ/หรือการฉายรังสีรักษาในผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็ง
  • รักษาภาวะกรดไหลย้อน
  • บรรเทาอาการคลื่นไส้-อาเจียนหลังจากการผ่าตัด

ยาเมโทโคลพราไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเมโทโคลพราไมด์มีกลไกออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองที่ชื่อว่า โดพามีน (Dopamine) มีผลให้กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะและลำไส้เล็กส่วนต้น และทำให้มวลของอาหารเคลื่อนตัวและถูกส่งต่อไปตามลำไส้ได้โดยไม่ได้กระตุ้นการหลั่ง กรด น้ำดี และน้ำย่อยจากตับอ่อน อีกทั้งยังทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างมีการหดตัวและกระชับ ด้วยกลไกข้างต้นจึงเกิดฤทธิ์ในการรักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน และโรคกรดไหลย้อน

ยาเมโทโคลพราไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเมโทโคลพราไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • รูปแบบยาเม็ด ขนาดความแรง 10 มิลลิกรัม/เม็ด
  • รูปแบบยาน้ำ ขนาดความแรง 5 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • รูปแบบยาฉีด ขนาดความแรง 10 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร

ยาเมโทโคลพราไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเมโทโคลพราไมด์มีขนาดรับประทาน ดังนี้ เช่น

ก. สำหรับโรคกระเพาะอาหาร - ลำไส้ทำงานผิดปกติในผู้ป่วยเบาหวาน: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 10 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง โดยรับประทานยาก่อนอาหาร 30 นาทีเป็นอย่างต่ำ เป็นเวลา 2 - 8 สัปดาห์

ข. สำหรับรักษาภาวะกรดไหลย้อน: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 10 - 15 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง โดยรับประทานยาก่อนอาหาร 30 นาทีเป็นอย่างต่ำ

ค.สำหรับป้องกันการอาเจียนจาก ยาเคมีบำบัด หรือ รังสีรักษาในผู้ป่วยมะเร็ง: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 20 - 40 มิลลิกรัม วันละ 2 - 4 ครั้ง โดยรับประทานก่อนอาหารประมาณ 30 นาที

ค. ขนาดของยาฉีดเพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้-อาเจียนหลังการผ่าตัด: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 10 มิลลิกรัมหลังการผ่าตัด อาจฉีดซ้ำทุกๆ 4 - 6 ชั่วโมงถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น

*****อนึ่ง

  • ขนาดการใช้ยานี้ที่ถูกต้องปลอดภัย ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ด้วยอาการ เพศ วัย ของผู้ป่วยมีแตกต่างกันออกไป
  • การใช้ยานี้ใน เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร: ต้องเป็นคำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเมโทโคลพราไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเมโทโคลพราไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะการตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเมโทโคลพราไมด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาเมโทโคลพราไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเมโทโคลพราไมด์มีผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น

  • ผลต่อสมอง: เช่น ก่อให้มีอาการ ง่วงนอน อ่อนเพลีย วิงเวียน รู้สึกสับสน นอนไม่หลับ มีอารมณ์ซึมเศร้า
  • ผลต่อระบบฮอร์โมน: เช่น อาจทำให้มีอาการ น้ำนมไหล หน้าอก/เต้านมโต และ ขาดประจำเดือน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น สามารถก่ออาการ ความดันโลหิตสูง หรือ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า หรือ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือ หัวใจเต้นเร็ว อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อาจกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้ และท้องเสียติดตามมา
  • ผลต่อตับ: มีน้อยกรณีที่อาจเกิดอาการตัวเหลืองตาเหลือง ด้วยเกิดพิษของยานี้ต่ออวัยวะตับ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น อาจทำให้เม็ดเลือดขาวบางชนิดเช่น นิวโทรฟิลลดต่ำลง รวมถึงเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆมีปริมาณต่ำกว่าปกติ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจก่อให้เกิดอาการผื่นคัน

มีข้อควรระวังการใช้ยาเมโทโคลพราไมด์อย่างไร?

ข้อควรระวังการใช้ยาเมโทโคลพราไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะกระเพาะอาหาร - ลำไส้ทะลุ
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะกระเพาะอาหาร - ลำไส้อุดตัน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเนื้องอกของต่อมหมวกไต/ ฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma) ด้วยสามารถกระตุ้นให้เกิดความดันโลหิตสูงติดตามมาได้
  • ระวังการใช้ยานี้ใน เด็ก ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยบุค คลดังกล่าวมีร่างกายที่อาจได้รับผลกระทบของยาเมโทโคลพราไมด์ เช่น มีผลข้างเคียงมากกว่าผู้ใหญ่ทั่วไป
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะ ตับ – ไต ผิดปกติ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน
  • หากต้องใช้ยานี้เป็นระยะเวลานานๆ ควรต้องเฝ้าติดตามอาการของคนไข้อย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นให้หยุดใช้ยา และรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ไปโรงพยาบาล
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาเมโทโคลพราไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเมโทโคลพราไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเมโทโคลพราไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเมโทโคลพราไมด์ร่วมกับยารักษาโรคเบาหวานบางตัว อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำ ตาลในเลือดต่ำ หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดและระยะเวลาของการให้ยารักษาโรคเบาหวานต่อผู้ป่วย ยารักษาเบาหวานดังกล่าว เช่น ยาInsulin
  • การใช้ยาเมโทโคลพราไมด์ร่วมกับยารักษาโรคหัวใจบางตัว จะทำให้การดูดซึมยารักษาโรคหัวใจลดต่ำลง แพทย์จึงจะปรับขนาดและเวลาของการรับประทานของยาทั้งคู่ ยารักษาโรคหัวใจดังกล่าว เช่นยา Digoxin
  • การใช้ยาเมโทโคลพราไมด์ร่วมกับยาบางกลุ่ม สามารถทำให้ยากลุ่มดังกล่าวถูกดูดซึมได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อผลข้างเคียงสูงขึ้นที่จะมีติดตามมาได้ ยากลุ่มดังกล่าว เช่น
    • ยาแก้ปวด เช่นยา Acetaminophen /Paracetamol
    • ยาปฏิชีวนะ เช่นยา Tetracycline
    • ทั้งนี้รวมถึงเครื่องดื่มที่แอลกอฮอล์
  • การใช้ยาเมโทโคลพราไมด์ร่วมกับยารักษาอาการทางจิตประสาท/ยารักษาทางจิตเวช บางกลุ่ม อาจทำให้ฤทธิ์ของการสงบประสาทมีมากขึ้น จึงควรต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดหากมีการใช้ร่วมกัน ยารักษาอาการทางจิตประสาทดังกล่าวเช่น กลุ่มยากล่อมประสาท/ยาคลายเครียด, กลุ่มยานอนหลับ, และกลุ่มยาเสพติด เป็นต้น

ควรเก็บรักษายาเมโทโคลพราไมด์อย่างไร?

ควรเก็บยาเมโทโคลพราไมด์ เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาเมโทโคลพราไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเมโทโคลพราไมด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Emetal (อีเมทัล) Asian Pharm
Hawkperan (ฮ็อกเพอแรน) L.B.S.
H-Peran (เฮท-เพอแรน) L.B.S.
K.B. Meta (เค.บี. เมต้า) K.B. Pharma
Manosil (แมโนซิล) March Pharma
Maril (แมริล) Atlantic Lab
Metoclopramide GPO (เมโทโคลพราไมด์ จีพีโอ) GPO
Metoclor (เมโทคลอ) Pharmaland
Met-Sil (เม็ท-ซิล) T P Drug
Nausil (นอซิล) Siam Bheasach
Plamide (พลาไมด์) Utopian
Plamine (พลามีน) Picco Pharma
Plasil (พลาซิล) sanofi-aventis
R-J Tab/Syrup (อาร์-เจ แท็บ/ไซรัป) Medicine Products
Vomesea (โวเมซี) The Forty-Two

บรรณานุกรม

  1. https://www.rxlist.com/reglan-drug.htm [2020,Nov28]
  2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fmetoclopramide%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Dosage [2020,Nov28]
  3. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fmetoclopramide%3fmtype%3dgeneric [2020,Nov28]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Metoclopramide [2020,Nov28]
  5. https://www.drugs.com/sfx/metoclopramide-side-effects.html [2020,Nov28]