เมื่อ “ตึกเป็นพิษ” (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคตึกเป็นพิษ (Sick building syndrome) อาจรวมถึง

  • การรระบายอากาศที่แย่
  • ความชื้นต่ำ
  • อุณภูมิสูงหรือมีการเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิทั้งวัน
  • ของที่ลอยมาทางอากาศ เช่น ฝุ่น ใยพรม สปอร์รา
  • สารพิษเคมีที่ลอยมาทางอากาศ เช่น จากวัสดุทำความสะอาด เฟอร์นิเจอร์ หรือมลพิษทางอากาศที่เกิดจากเครื่องถ่ายสำเนาหรือเครื่องพิมพ์
  • ปัจจัยทางกายภาพ เช่น ไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Charges)
  • มาตรฐานความสะอาดของที่ทำงานที่แย่
  • แสงจ้าที่หรือแสงวูบวาบที่เกิดจากจอภาพ (Visual display units = VDU) จอคอมพิวเตอร์
  • การใช้อุปกรณ์จอภาพที่ไม่ถูกต้อง
  • ปัจจัยทางด้านจิตวิทยา เช่น ความเครียด หรือ ขวัญกำลังใจที่ต่ำ

อากาศที่หมุนเวียนไม่ดีในที่ทำงานทำให้มีสารอินทรีย์ไอระเหยกว่า 350 ชนิด ที่เกิดจากวัสดุก่อสร้างอาคาร เครื่องตกแต่ง และอุปกรณ์เครื่องใช้ในสำนักงาน เช่น สีทาสำนักงานที่ประกอบด้วยสารตัวทำละลาย (Solvents) ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองกับตา จมูก และคอ โดยสามารถทำลายระบบประสาทส่วนกลางและระบบย่อยอาหารได้

บางครั้งพรมปูพื้นก็มีส่วนผสมของสารพีวีซี (PVC = Polyvinyl chloride) ที่ทำให้เกิดสารก่อให้เกิดมะเร็ง (Carcinogen dioxin) เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากปาร์ติเกิลบอร์ด (Particleboard) ก็มักจะยึดติดด้วยกาวเรซิน (Resins) ซึ่งทำจากสารก่อมะเร็งฟอร์มาลดีไฮด์ ( Formaldehyde) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ฟอร์มาลีน” นั่นเอง นี่ยังไม่รวมถึงยาฆ่าแมลงและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ทำให้เกิดสารก่อมะเร็งในอากาศได้

Dr. John B. Sullivan Jr. แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคตึกเป็นพิษแห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอริโซน่า (University of Arizona College of Medicine) ได้กล่าวว่า โรคตึกเป็นพิษกำลังเพิ่มขึ้น โดยใน 10 ปี ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยโรคตึกเป็นพิษเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ทั้งนี้เนื่องจากมีการนำเอาผลิตภัณฑ์สังเคราะห์ (Synthetic products) ที่มีสารเคมีมาใช้ในที่ทำงานกันมากขึ้น โดยที่ระบบระบายอากาศก็ไม่สามารถจะสร้างอากาศที่สดชื่นได้ทัน

ควรมีการสำรวจอาการตึกเป็นพิษ ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้จากความแตกต่างระหว่างการอยู่ในและนอกอาคาร การสำรวจนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ก่อนที่จะเกิดปัญหารุนแรงยิ่งขึ้น โดยมีคำแนะนำในฐานะผู้ดูแลตึกว่าควรมีการสำรวจถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคตึกเป็นพิษดังนี้

  • ตรวจดูความสะอาดของตึกโดยทั่วไป
  • ตรวจดูอุปกรณ์ทำความสะอาดรวมถึงเครื่องดูดฝุ่น (Vacuum cleaners) ว่าสะอาด มีการใช้และเก็บรักษาอย่างถูกต้อง
  • ตรวจดูระบบระบายอากาศ ระบบเครื่องทำความเย็น (Air-conditioning system) ไส้กรองอากาศ (Air filters) และหอทำความเย็น (Cooling towers) ว่าทำให้อากาศบริสุทธิ์ มีการบำรุงรักษาตามระยะเวลาหรือไม่

แหล่งข้อมูล:

  1. Sick building syndrome. http://www.nhs.uk/conditions/sick-building-syndrome/Pages/Introduction.aspx [2013, June 9].
  2. Is Your Office Killing You? http://www.businessweek.com/2000/00_23/b3684001.htm [2013, June 9].