เมื่อ “ตึกเป็นพิษ” (ตอนที่ 1)

จากงานเสวนาในหัวข้อ "คนรุ่นใหม่ไร้ปวด" โดย ผศ. นพ. วิศาล คันธารัตนกุล หัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง กล่าวว่า คนในยุคปัจจุบันมีความเสี่ยงต่อโรคปวดได้ง่าย โดยเกิดจาก 2 สาเหตุหลักๆ แบแรกคือ การใช้งานกล้ามเนื้ออย่างหนักโดยที่ไม่มีการวอร์มให้แข็งแรงก่อน เกิดได้ในคนที่เล่นกีฬา หรือออกกำลังกายแบบหักโหม ส่วนแบบที่สองคือ การมีอิริยาบถอยู่ในท่าเดียวนานๆ ทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการเกร็งสะสม พบได้บ่อยในพนักงานออฟฟิศที่นั่งทำงานทั้งวัน หรือในกลุ่มคนที่ติดการเล่นโซเชียลมีเดียมากไปก็ได้ โดยอาการทั้งหมดมีต้นเหตุอย่างเดียวกันคือ การอยู่เฉยไม่บริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรงเพียงพอนั่นเอง

สาเหตุหลักของการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) มีอยู่ 2 สาเหตุ คือ (1) เกิดจากความเครียดทางร่างกาย (Physical stress) อันเนื่องมาจากการใช้กล้ามเนื้อซ้ำๆ และ (2) เกิดจากความเครียดทางด้านจิตใจ (Mental stress) ที่สะสมมานานนับเดือนหรือปี

อย่างแรกอาจสังเกตได้จากการนอน หากเป็นความเครียดด้านจิตใจแล้ว มักทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ (Insomnia) หรือ หลับๆ ตื่นๆ (Half-sleep) หรือมีการนอนที่ผิดปกติ (Sleep disorder) ในขณะที่ถ้าเป็นความเครียดด้านร่างกายเนื่องจากการทำงานหนักแล้ว จะเป็นการหลับลึกและไม่อยากตื่น อย่างที่สอง อาจสังเกตได้จากเวลาจัดการกับปัญหา บางคนจะรู้สึกปวดมาก ในขณะที่บางคนจะไม่รู้สึกกระเทือนอะไร (Unstirred) ซึ่งสาเหตุที่ไม่รู้สึกกระเทือนอะไรนั้นมีหลายสาเหตุขึ้นกับภูมิหลังของแต่ละบุคคล

อาการที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปของโรคออฟฟิศซินโดรมก็คือ อาการปวดเอว คอ ไหล่ ซึ่งมักพบในคนทำงานที่อายุระหว่าง 25 - 55 ปี การนั่งเก้าอี้แบบไขว้ขาเป็นการเพิ่มน้ำหนักส่วนเกินที่ไม่ต้องการให้กับส่วนหน้าของร่างกาย ทำให้เกิดอาการไม่สมดุลเป็นธรรมชาติและเกิดแรงกด การนอนงอตัวหรือนอนทับด้านหนึ่งตลอดคืน ก็สามารถเพิ่มภาระให้กับกระดูกสันหลังด้วยเช่นกัน

การนั่งอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์นานๆ ก็เป็นสาเหตุให้ไหล่และคองอ เป็นการแทรกซ้อนต่อกระดูกสันหลังส่วนบน ผู้หญิงจะมีโอกาสเกิดปัญหาเรื่องกระดูกสันหลังมากกว่าเพราะว่า มีการเดินบนรองเท้าส้นสูงเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงกดที่ไม่เป็นธรรมชาติต่อกระดูกสันหลังส่วนล่าง การขาดท่าทางที่ถูกต้องสามารถทำให้เกิดอาการเจ็บปวดรุนแรงและเรื้อรังได้ ซึ่งอาจส่งผลทำให้อารมณ์ไม่ดีและมีคุณภาพชีวิต (Quality of life) ที่แย่ลง

สาเหตุของอาการเหล่านี้ล้วนมาจากการทำกิจกรรมประจำวัน นิสัยที่ผิด เช่น การนั่งท่าที่ผิด การนั่งไขว้ขา ทำให้เกิดสภาพน้ำหนักเกินและมีแรงกดบนกระดูกสันหลัง ทำให้หลังไม่สมดุล หรือ การนอนพับแขนเป็นเวลานาน ล้วนแต่เป็นตัวสร้างปัญหาให้ไหล่ คอ และหลังตึง

หากแรงกดบนส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่เป็นธรรมชาติ ไม่สมดุล น้ำหนักที่เกิดที่ข้อและกล้ามเนื้อจะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกายและกระดูก เนื่องจากมีการขวางทางไหลเวียนของเลือด หากมีแรงกดเป็นเวลานานโดยไม่ได้รับการแก้ไข กระดูกและข้อต่อจะเสื่อมเร็วกว่าปกติซึ่งในที่สุดจะกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

นพ. วิศาล กล่าวว่า การตัดวงจรความปวดให้เร็วที่สุด เริ่มจากการหาปัจจัยเสี่ยงต่อความปวด เช่น ความปวดที่อาจเกิดจากโครงสร้างของร่างกาย หรือการทำงาน โดยแนะนำว่า อย่าอยู่ท่าเดียวนานๆ ต้องรู้จักยืดเหยียดกล้ามเนื้อในระหว่างวันเป็นอีกวิธีที่ช่วยผ่อนคลายให้กล้ามเนื้อมีการเคลื่อนไหว หรือเส้นเอ็นได้ยืดตัว ปรับไลฟ์สไตล์ เพื่อลดความเสี่ยงจากความปวด เช่น ต้องรู้จักพักการทำงาน 2 - 3 นาที ทำให้ร่างกายได้ขยับหลังจากทำงานท่าซ้ำๆ ใน 1-2 ชั่วโมง

แหล่งข้อมูล:

  1. บรรเทาปวดให้ถูกหลัก - http://www.komchadluek.net/detail/20130520/158857/บรรเทาปวดให้ถูกหลัก.html#.UZpSjL7-KrA [2013, June 6].
  2. Office Syndrome. - http://www.lifestylesolutioncenter.com/en/office-syndrome.php [2013, June 6].