“เมิร์ส” เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

อาการของเมิร์สที่พบ ได้แก่ ภาวะไตวาย (Renal failure) และอาการปอดบวมเฉียบพลัน (Acute pneumonia) ซึ่งเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต นอกจากนี้จะมีอาการในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งได้แก่อาการท้องร่วง ร่วมด้วย

คนไข้ที่พบรายแรกในประเทศแถบตะวันออกกลางมีประวัติว่า ในช่วง 7 วัน เป็นไข้ ไอ มีเสมหะ และหายใจลำบาก ทั้งนี้ มีการประมาณว่าระยะฟักตัว (Incubation) ของเมิร์สอยู่ที่ 12 วัน

ยังไม่มีหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่าเมิร์สเป็นโรคที่คนติดมาจากสัตว์ (Zoonotic) แต่สันนิษฐานว่าเมิร์สน่าจะวนเวียนอยู่ในร่างกายมนุษย์มากกว่า 1 ปี โดยไม่สามารถตรวจพบได้และไม่ทราบว่าติดโรคมาจากแหล่งไหน

ถึงแม้ว่ามีการตรวจพบเชื้อไวรัสที่มีลักษณะทางพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกับเชื้อ MERS-CoV ในค้างคาว แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มากพอในการที่จะชี้ชัดถึงความเชื่อมโยงระหว่างเชื้อ MERS-CoV กับค้างคาวหรือสัตว์ชนิดอื่น

เช่นเดียวกัน แม้จะมีการพบเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือไวรัสที่มีความคล้ายคลึงกันมากกับไวรัสโคโรน่าอยู่ในตัวอูฐ ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้ทราบว่าไวรัสที่พบนี้ เป็นไวรัสสายพันธุ์เดียวกันกับที่พบในมนุษย์หรือไม่

จนถึงปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนใดที่ใช้รักษาเมิร์สได้ การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาแบบประคับประคองและการรักษาไปตามอาการเท่านั้น

ขณะนี้ มีการติดเชื้อจากคนสู่คนในกลุ่มผู้ป่วยด้วยกันจำนวนหลายกลุ่ม โดยพบในกลุ่มผู้ดูแลผู้ป่วย สมาชิกใน

ครอบครัวเดียวกัน และระหว่างเพื่อนร่วมงาน อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถระบุได้ว่าผู้ป่วยเหล่านี้ ได้รับเชื้อโดยวิธีใด

ไม่ว่าจะเป็นระบบทางเดินหายใจ ด้วยการไอ จาม หรือการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยตรง หรือการได้รับเชื้อที่อยู่ในอากาศจากผู้ป่วย

หน่วยงานควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) ในสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำวิธีการป้องกันโรคไว้ดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำเป็นเวลา 20 วินาที หรืออาจใช้เจลแอลกอฮล์ล้างมือ (Alcohol-based hand sanitizer) ก็ได้
  • ปิดจมูกและปากด้วยทิชชูเมื่อไอหรือจาม แล้วทิ้งทิชชูในถังขยะ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสตา จมูก และปากด้วยมือที่ยังไม่ได้ล้าง
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสที่ใกล้ชิด เช่น การจูบ การใช้แก้วน้ำหรือภาชนะร่วมกันกับผู้ป่วย
  • ทำความสะอาดพื้นผิวที่สัมผัสบ่อยๆ เช่น ตุ๊กตา ลูกบิดประตู เป็นต้น

นอกจากนี้หากมีอาการเป็นไข้ ไอ หรือหายใจลำบาก ภายใน 14 วัน หลังจากเดินทางกลับจากคาบสมุทรอาระเบียนหรือประเทศใกล้เคียง ควรไปพบแพทย์และแจ้งให้ทราบว่าเพิ่งเดินทางกลับมาแหล่งใด

แหล่งข้อมูล:

  1. Middle East respiratory syndrome coronavirus. http://en.wikipedia.org/wiki/Middle_East_respiratory_syndrome_coronavirus [2013, October 29].
  2. Middle East Respiratory Syndrome (MERS). http://www.cdc.gov/coronavirus/mers/faq.html [2013, October 29].