เฟนิบัท (Phenibut)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเฟนิบัท(Phenibut หรือ Phenibut hydrochloride หรือ Phenibut HCL หรือBeta-phenyl-gamma-aminobutyric acid HCl หรือ Beta-phenyl GABA HCl หรือ Beta-phenyl-GABA hydrochloride หรือ Phenibut FAA/ Free amino acid) เป็นยารักษาอาการวิตกกังวล ช่วยให้นอนหลับ บรรเทาอาการซึมเศร้า/ยาต้านเศร้า และอาจใช้บำบัดอาการผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ยาเฟนิบัท มีโครงสร้างทางเคมีใกล้เคียงกับสารสื่อประสาทในสมองที่มีชื่อเรียกว่า Gamma-aminobutyric acid(GABA) ยานี้ถูกนำมาใช้ทางคลินิกเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1960 (พ.ศ.2503)ในประเทศรัสเซีย และไม่พบเห็นการจัดจำหน่ายในแถบซีกโลกตะวันตก

ยาเฟนิบัท มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทาน ยาฉีด และยาเหน็บทวารหนัก ตัวยาสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้มากกว่า 63%จากปริมาณยาที่รับประทานต่อครั้ง ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างของยานี้ไปเป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์และถูกกำจัดทิ้งไปทางไต/ปัสสาวะเป็นส่วนใหญ่และทางอุจจาระเป็นส่วนน้อย การรับประทานยานี้ตามคำแนะนำของแพทย์สามารถคงการออกฤทธิ์ได้ยาวนานประมาณ 15–24 ชั่วโมง ร่างกายมนุษย์ต้องใช้เวลาประมาณ 5.3 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะ

ทั้งนี้มีข้อห้ามใช้ของยาเฟนิบัทบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบมีดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปีลงมา
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะตับวาย
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีแผลในระบบทางเดินอาหาร เช่น แผลในกระเพาะอาหาร
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากยานี้

นอกจากนี้ การใช้ยาเฟนิบัทเป็นเวลานาน อาจทำให้ร่างกายมีการตอบสนองของการใช้ยาเฟนิบัทน้อยลง จนต้องเพิ่มขนาดรับประทานยานี้ขึ้นเรื่อยๆจนเกิดผลข้างเคียงรุนแรง

อนึ่ง เหตุผลให้แพทย์ต้องหยุดใช้ยาเฟนิบัท มีอยู่ 2 ประการ คือ

  • ผู้ป่วยเกิดอาการแพ้ยานี้อย่างรุนแรง สังเกตจากอากรหายใจขัด/หายใจลำบากหรือมีผื่นคันเกิดขึ้น
  • ยานี้ก่อให้มีอาการวิตกกังวลกลับมามากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นว่าตัวยาไม่ได้รักษา อาการป่วยแต่อย่างใด

ทั้งนี้ เคยมีกรณีลักลอบใช้ยาเฟนิบัทผิดวัตถุประวสงค์ คือ ลักลอบใช้เป็นยากระตุ้นความบันเทิง หรือใช้เป็นยานูโทรปิก(Nootropic drug) การใช้ยานี้ครั้งแรกเท่ากับขนาดที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า หรืออาการวิตกกังวล จะแสดงการออกฤทธิ์อย่างช้าๆทำให้ผู้เสพยาเข้าใจผิด และมีการเสพยาเฟนิบัทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นกรณี ศึกษา ที่ได้รับการบันทึกไว้ว่า ผู้ที่ได้รับยานี้เป็นปริมาณ 7 กรัมในครั้งเดียว จะทำให้เกิดภาวะไขมันในตับสลายตัว และร่างกายสูญเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำ ซึ่งแพทย์อาจช่วยเหลือผู้ป่วยกรณีดังกล่าวโดยใช้ยาถ่านกัมมันต์ หรือใช้การล้างท้องให้ผู้ป่วย

ปัจจุบันการจัดจำหน่ายยาเฟนิบัท มีใช้ในบางประเทศเท่านั้น เช่น ประเทศรัสเซีย ยูเครน และลัตเวีย ยังไม่มีการจำหน่ายในประเทศไทย โดยใช้ชื่อการค้าว่า Anvifen Fenibut และ Noofen

เฟนิบัทมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เฟนิบัท

ยาเฟนิบัทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัด อาการซึมเศร้า, อาการวิตกกังวล, และ อาการนอนไม่หลับ

เฟนิบัทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเฟนิบัทมีกลไกการออกฤทธิ์ที่ตัวรับ(Receptor)ชนิด GABAB receptor ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงประจุไฟฟ้าของเซลล์ประสาท และทำให้มีภาวะสงบประสาท/กดสมองเกิดขึ้น กรณีที่มีการใช้ยาเฟนิบัทในขนาดสูง จะทำให้มีการออกฤทธิ์ที่ตัวรับ GABAA receptor ร่วมด้วย และเร็วๆนี้นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบว่า ยาเฟนิบัทสามารถออกฤทธิ์ที่หน่วยย่อยของตัวรับชนิด Alpha1 delta subunit ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงประจุไฟฟ้าที่เกิดจากแคลเซียม เป็นเหตุให้ลดอาการเจ็บ/ปวดตามมาด้วยเช่นกัน

เฟนิบัทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเฟนิบัทมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Phenibut ขนาด 250 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Phenibut ขนาด 250 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาฉีดในลักษณะสารละลายที่มีขนาดความเข้มข้นของ Phenibut 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

อนึ่ง อาจพบเห็นการจัดจำหน่าย Phenibut ในลักษณะผงชงน้ำสำหรับรับประทานตามสื่อออนไลน์ได้ด้วย

หมายเหตุ: ยาเฟนิบัทเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อสมอง โดยเลียนแบบสารสื่อประสาท การใช้ยาเฟนิบัทได้อย่างปลอดภัย ควรเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ โดยมีขนาดรับประ ทานและระยะเวลาการใช้ยาจากแพทย์ที่ชัดเจน

เฟนิบัทมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเฟนิบัท มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 250–350 มิลลิกรัม วันละ 2–3 ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ตามคำสั่งแพทย์ แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่มเป็น 500–750 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง โดยขึ้นกับการตอบสนองของผู้ป่วย ห้ามรับประทานยานี้เกิน 1000 มิลลิกรัม/ครั้ง และห้ามรับประทานยานี้เกิน 2000 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยการใช้ยานี้ในเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเฟนิบัท ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเฟนิบัทอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเฟนิบัท สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

เฟนิบัทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเฟนิบัทสามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ปวดเกร็งที่กระเพาะอาหาร หิวอาหารบ่อย
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลง
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น มีอารมณ์เคลิบเคลิ้ม วิตกกังวล ซึม
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว ปวดข้อ

มีข้อควรระวังการใช้เฟนิบัทอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเฟนิบัท เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามรับประทานยาอื่นใดร่วมกับยาเฟนิบัทโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ทั้งนี้เพื่อ ป้องกันภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร และเด็ก
  • รับประทานยาต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ ห้ามหยุดการใช้ยาด้วยตนเอง - กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ซึ่งเป็นอาการแพ้ยานี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเฟนิบัทด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เฟนิบัทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเฟนิบัทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาเฟนิบัทร่วมกับยากลุ่ม Benzodiazepines, Barbiturates, Opioids เพราะจะทำให้เกิดภาวะกดการหายใจของร่างกาย สูญเสียสติสัมปชัญญะ เกิดภาวะความจำเสื่อมตามมา
  • ห้ามใช้ยาเฟนิบัทร่วมกับสาร/ยาหลอนประสาทกลุ่มDissociative เพราะจะทำให้เกิด อาเจียน เสียสติ จนอาจถึงขั้นเสียชีวิต
  • ห้ามใช้ยาเฟนิบัทร่วมกับ ยากระตุ้น(Stimulant drug)ชนิดต่างๆ ด้วยจะเกิดพิษ (ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อร่างกาย เช่น ทำให้มีการสูญเสียน้ำของร่างกาย(ภาวะขาดน้ำ) มากขึ้น

ควรเก็บรักษาเฟนิบัทอย่างไร?

ควรเก็บยาเฟนิบัทภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เฟนิบัทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเฟนิบัทมียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Anvifen (แอนไวเฟน) Joint-Stock Company
Noofen (นูเฟน)OlainFarm

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Phenibut [2018,March17]
  2. https://www.researchgate.net/publication/235421998_Phenibut_dependence [2018,March17]
  3. https://www.absorbyourhealth.com/product/phenibut/?ref=744&campaign=nootropicsreview [2018,March17]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Voltage-gated_calcium_channel [2018,March17]
  5. https://liftmode.com/blog/phenibut-dosage-guide/ [2018,March17]
  6. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/21809698 [2018,March17]
  7. http://www.olainfarm.lv/product/noofen/ [2018,March17]