เพโรสไปโรน (Perospirone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเพโรสไปโรน(Perospirone หรือ Perospirone hydrochloride หรือ Perospirone HCl หรือ Perospirone hydrochloride hydrate) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคจิต(Atypical antipsychotic) รวมถึงโรคอารมณ์สองขั้วชนิดเฉียบพลันที่มีอาการเพ้อคลั่ง(Bipolar mania) และมีการใช้ทางคลินิกครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544)

ยาเพโรสไปโรนมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน หลังถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยาในกระแสเลือดจะถูกตับทำลายอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1.9–2.5 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะ

ยาเพโรสไปโรน เป็นยาในกลุ่ม Serotonin-dopamine antagonist มีกลไก การออกฤทธิ์ในสมองกับตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อเรียกว่า Dopamine 2 receptors, Serotonin 2A receptors และ Serotonin 1A receptors ส่งผลกับสมดุลของสารสื่อประสาทที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการรับรู้ของผู้ป่วย โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเภทและได้รับประทานยานี้ จะมีอาการดีขึ้นเป็นลำดับภายในระยะเวลาประมาณ 7 วัน แต่อาจต้องใช้เวลาอยู่นานหลายสัปดาห์ จึงจะทำให้อาการทางจิตฟื้นสภาพได้อย่างเต็มที่ โดยผู้ป่วยต้องใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องเฉลี่ยประมาณ 4–6 สัปดาห์เป็นอย่างต่ำ อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยบางกลุ่มอาจต้องใช้ยาเพโรสไปโรนยาวนาน 16–20 สัปดาห์ จึงจะทำให้อาการทางจิตกลับมาดูเหมือนปกติ

เราจะสังเกตได้ว่าผู้ที่ได้รับยาเพโรสไปโรนจะลดอารมณ์ความก้าวร้าวลง มีการตอบสนองและรับรู้ต่อสภาพทางสังคมได้ดีขึ้น และผู้ป่วยหลายคนที่ได้รับการบำบัดด้วยยานี้อย่างถูกต้อง จะสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ มีหน้าที่การงานทำได้ไม่แตกต่างจากคนทั่วไป

กรณีที่ใช้ยาเพโรสไปโรนแล้วไม่ได้ผล แพทย์จะหันมาพิจารณาใช้ยารักษาโรคจิตตัวอื่น อาทิยา Risperidone, Olanzapine, Quetiapine, Aripiprazole, Paliperidone, Asenapine, Iloperidone, และ Lurasidone แต่หากอาการผู้ป่วยยังไม่ดีขึ้นอีก แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาClozapine มาทดแทน และกรณีที่ยาClozapine ยังไม่สามารถทำให้อาการป่วยดีขึ้น แพทย์มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมาใช้ยา Valproate หรือ Lamotrigine ในทางทฤษฎี การใช้ยาอย่างเป็นลำดับขั้นดังกล่าว จะช่วยทำให้อาการทางจิตประสาทดีขึ้น

ระหว่างที่ใช้ยาเพโรสไปโรน ยังต้องเฝ้าระวังเรื่องน้ำหนักตัวผู้ป่วยที่อาจเพิ่มขึ้น รวมถึงระดับน้ำตาลในเลือดและระดับไขมันในเลือด ที่อาจสูงขึ้นผิดปกติ นอกจากนี้ยังต้องพิจารณา การทำงานของหัวใจ ความผิดปกติของจำนวนเม็ดเลือดขาว และหมั่นตรวจวัดความดันโลหิตว่าสูงขึ้นหรือไม่

ยาเพโรสไปโรนอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่อาจเป็นอุปสรรคหรือรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย เช่น เกิดอาการ คลื่นไส้อาเจียน อาการชัก อนึ่ง การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุอาจทำให้มีภาวะความจำเสื่อมและตัวยานี้ สามารถกระตุ้นให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

กรณีที่อาการผู้ป่วยดีขึ้นและแพทย์พิจารณาว่าสมควรหยุดการใช้ยาเพโรสไปโรน ในทางปฏิบัติ แพทย์จะค่อยๆปรับลดขนาดการรับประทานทีละน้อยเป็นลำดับ ซึ่งอาจต้อง ใช้เวลาประมาณ 6–8 สัปดาห์ จึงหยุดการใช้ยานี้ได้อย่างปลอดภัย การหยุดใช้ยานี้ทันทีหรือหยุดใช้กะทันหัน อาจทำให้ภาวะทางจิตกลับมามีอาการรุนแรงมากขึ้น

การใช้ยารักษาอาการทางจิตประสาทกับผู้ป่วยทุกรายรวมถึงยาเพโรสไปโรน ยังต้อง อาศัยญาติเข้ามามีบทบาทในการควบคุมการรับประทานยาให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์ และคอยเฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ตลอดจนให้กำลังใจกับผู้ป่วยเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว

ทั้งนี้ ในตลาดการค้ายาแผนปัจจุบัน เราจะพบเห็นการจัดจำหน่ายตัวยาเพโรสไปโรนภายใต้ชื่อการค้าว่า Lullan

เพโรสไปโรนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เพโรสไปโรน

ยาเพโรสไปโรนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ

  • รักษาอาการทางจิตเภท และโรคอารมณ์สองขั้วที่มีอาการเพ้อคลั่ง

เพโรสไปโรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเพโรสไปโรนเป็นยาประเภท Serotonin-dopamine antagonist มีกลไกออกฤทธิ์กับตัวรับในสมอง ดังนี้

  • ปิดกั้นตัวรับที่มีชื่อเรียกว่า Dopamine 2 receptors ส่งผลให้อาการทางจิตประสาท ดีขึ้น
  • ปิดกั้นตัวรับที่มีชื่อเรียกว่า Serotonin 2A receptors ทำให้มีการปลดปล่อยสารสื่อประสาท โดพามีน/Dopamine ในสมองได้มากขึ้น ส่งผลให้การรับรู้ของผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติ
  • รบกวนหรือก่อกวนการทำงานของตัวรับชนิด Serotonin 1A receptors ซึ่งจะส่งผลดีต่อกระบวนการรับรู้ของสมอง

จากกลไกดังกล่าว ทำให้เกิดการออกฤทธิ์รักษาสภาพจิต และเป็นที่มาของสรรพคุณ

เพโรสไปโรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเพโรสไปโรนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Perospirone ขนาด 4 และ 8 มิลลิกรัม/เม็ด

เพโรสไปโรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเพโรสไปโรนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 4 มิลลิกรัม 3 ครั้งต่อวัน แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานจนสูงถึง 16 มิลลิกรัม 3 ครั้งต่อวันโดยขึ้นกับอาการและการตอบสนองต่อยานี้ของผู้ป่วย และรับประทานยานี้ หลังอาหาร
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิก ด้านความปลอดภัยของการใช้ยานี้กับเด็ก

อนึ่ง:

  • การปรับเพิ่มหรือลดขนาดรับประทานของยานี้ ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • กรณีผู้สูงอายุ แพทย์จะใช้ยานี้ในขนาดต่ำๆก่อน
  • อาการข้างเคียงบางอย่างจากการใช้ยาเพโรสไปโรนคือ ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกกระวนกระวายทางจิตใจ และส่งผลต่อกล้ามเนื้อ ทำให้ผู้ป่วยต้องเปลี่ยนท่าทางบ่อยๆหรือที่เรียกกันว่า Akathisia กรณีนี้แพทย์อาจใช้ยาในกลุ่มBenzodiazepines มาช่วยบรรเทาอาการดังกล่าว

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเพโรสไปโรน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเพโรสไปโรนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเพโรสไปโรน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

แต่เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาเพโรสไปโรนตรงเวลา

เพโรสไปโรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเพโรสไปโรน สามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น รู้สึกอยู่ไม่เป็นสุขต้องเคลื่อนที่ตลอดเวลา มีอาการนอนไม่หลับ วิตกกังวล
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน ปวดศีรษะ เกิดภาวะTardive dyskinesia
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการ ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง
  • ผลต่อสมอง: เช่น อาจเกิดอาการป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง

มีข้อควรระวังการใช้เพโรสไปโรนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเพโรสไปโรน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ใน หญิงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานเอง
  • ห้ามหยุดรับประทานยานี้อย่างกะทันหัน
  • ระหว่างใช้ยาชนิดนี้ต้องเฝ้าระวัง โรคเบาหวาน น้ำหนักตัวขึ้นสูง ระดับไขมันในเลือดสูง รวมถึงความดันโลหิตสูง
  • ระวังการใช้ยานี้ผู้ป่วย โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกายและการตรวจอาการทางจิตประสาท ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเพโรสไปโรนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพร ต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เพโรสไปโรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเพโรสไปโรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเพโรสไปโรนร่วมกับยา Ketoconazole, Nefazodone, Fluvoxamine, Fluoxetine, ด้วยจะทำให้ระดับยาเพโรสไปโรนในกระแสเลือดมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงสูงขึ้นตามมาจากยาเพโรสไปโรน
  • ห้ามใช้ยาเพโรสไปโรนร่วมกับยา Carbamazepine เพราะจะทำให้ระดับตัวยา เพโรสไปโรนในกระแสเลือดลดน้อยลงจนส่งผลทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาเพโรสไปโรนด้อยลงตามไปด้วย

ควรเก็บรักษายาเพโรสไปโรนอย่างไร?

ควรเก็บยาเพโรสไปโรนตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เพโรสไปโรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเพโรสไปโรน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Lullan (ลัลแลน) Dainippon Sumitomo Pharma

บรรณานุกรม

  1. http://cdn.neiglobal.com/content/pg/live/perospirone.pdf[2017,Sept2]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Perospirone[2017,Sept2]
  3. http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/j.1440-1819.2007.01612.x/pdf[2017,Sept2]
  4. http://www.rad-ar.or.jp/siori/english/kekka.cgi?n=1008[2017,Sept2]