เพียงเหล้า เข้าปาก (ตอนที่ 2)

อนุสนธิข่าวต่อจากเมื่อวานนี้ กล่าวถึงโรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism) ซึ่งมีแนวโน้มบางส่วนที่เป็นกรรมพันธุ์ เพราะการตอบสนองต่อแอลกอฮอล์ที่ผิดปรกติของสารเคมีชีวะในร่างกายผู้ป่วย

โรคพิษสุราเรื้อรังยังอาจนำไปสู่ทุพโภชนาการ (Malnutrition) เพราะสามารถเปลี่ยนแปลงการย่อยอาหารและการสันดาปสารอาหาร (Nutrient) จนทำให้ขาดวิตามิน บี 1 อย่างรุนแรง ซึ่งอาจนำไปสู่กลุ่มอาการต่างๆ รวมทั้ง Wernicke-Korsakoff ที่เกี่ยวข้องกับโรคสมองเสื่อม (Dementia)

กลุ่มอาการอื่นๆที่พบบ่อยยังได้แก่ ตะคริวกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ประสาทผิดปรกติ และซึมเศร้า นอกจากนี้ ภาวะกระดูกพรุน และกระดูกแตกหักง่าย อาจเกิดขึ้นด้วย เนื่องจาการขาดวิตามิน ดี

การศึกษาวิจัยครั้งหนึ่ง พบว่า ผู้ชายที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณปานกลาง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จะมีความเสี่ยงในการเกิดอาการหัวใจล้ม (Heart attack) ลดลง 35% น้อยกว่าผู้มิได้ดื่มแอลกอฮอล์เลยและผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ เพียงวันละ 1 ครั้งตลอดระยะเวลา 12 ปี (ในช่วงที่มีการศึกษาวิจัย) ซึ่งจะมีความเสี่ยงในการเกิดอาการหัวใจล้มลดลง 22%

การดื่มเพียงวันละ 1 หรือ 2 หน่วยของแอลกอฮอล์ (ปริมาณเท่ากับครึ่งแก้ว หรือเต็มแก้วไวน์มาตรฐาน) มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงของโรคหลอดเลือดหัวใจ ในผู้ชายที่มอายุมากกว่า 40 ปี และในผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนแล้ว

อย่างไรก็ตาม การดื่มจนมึนเมาอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงสูงของการเกิดอาการหัวใจล้มอย่างมีนัยสำคัญ พอที่จะหักล้างประโยชน์ของผลกระทบในเชิงบวกที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ในขณะเดียวกัน การค้นพบว่า อายุยืนขึ้นเพราะการดื่มแอลกอฮอล์นั้น มักจะเป็นผลมาจากอัตราโรคหลอดเลือดหัวใจที่ลดลงเมื่อดื่มแอลกอฮอล์แต่ในปริมาณน้อยๆถึงปานกลาง

ประมาณ 10% ถึง 24% ของโรคสมองเสื่อมมีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ โดยที่ผู้หญิงมีโอกาสเสี่ยงสูงกว่าผู้ชาย แต่ในกลุ่มผู้สูงอายุ (อายุ 55 ปีหรือสูงกว่า) การดื่มแอลกอฮอล์เล็กน้อยถึงปานกลาง (1 – 3 แก้ว) เป็นประจำทุกวัน มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลง 42% ในการวิวัฒนาโรคสมองเสื่อม และความเสี่ยงลดลง 70% ของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองเสื่อม

การดื่มแอลกอฮอล์ยังมีความสัมพันธ์โดยตรงกับโรคมะเร็งถึง 7 ประเภท อันได้แก่ มะเร็งช่องปาก (Oral cancer) มะเร็งคอหอย (Pharyngeal cancer) มะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal cancer) มะเร็งกล่องเสียง (Laryngeal cancer) มะเร็งเต้านม (Breast cancer) มะเร็งลำไส้ (Bowel cancer) และมะเร็งตับ (Liver cancer) ผู้ดื่มแอลกอฮอฃ์จัด มักเป็นมะเร็งตับ อันเป็นผลสืบเนื่องจากโรคตับแข็ง (Cirrhosis)

ความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น แม้มีการดื่มเพียงวันละ 3 หน่วยแอลกอฮอล์ (เท่ากับปริมาณ 1 แก้วใหญ่ของไวน์) ผู้หญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณต่ำถึงปานกลาง มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของการเป็นโรคมะเร็งที่ส่วนบนของทางเดินอาหาร (หลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร) ลำไส้ตรง ตับและเต้านม และทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อยวันละ 2 แก้ว จะมีความเสี่ยงของมะเร็งตับอ่อน 22%

แหล่งข้อมูล:

  1. Alcohol beverage. http://en.wikipedia.org/wiki/Alcoholic_beverage [2011, December 27].