เพอร์โกไลด์ (Pergolide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเพอร์โกไลด์(Pergolide หรือ Pergolide mesylate)เป็นยาในกลุ่มโดพามีน อะโกนิสต์(Dopamine agonist) มีการออกฤทธิ์ต่อตัวรับ(Receptor)ในสมอง ที่มีชื่อว่า Dopamine receptor ส่งผลเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทต่างๆ ทางคลินิก นำยานี้มาใช้บำบัดอาการของโรคพาร์กินสัน(Parkinson disease) โดยใช้ในลักษณะของยาเดี่ยวหรือจะใช้ร่วมกับกลุ่มยา Levodopa/Carbidopa ก็ได้ ทั้งนี้จะต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของแพทย์เป็นสำคัญ

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเพอร์โกไลด์เป็นยาชนิดรับประทาน ซึ่งหลังจากตัวยาถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและเข้าสู่กระแสเลือด ประมาณ 90%ของยานี้ จะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนและถูกส่งไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีที่ตับ โดยร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 27 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะ

การใช้ยาเพอร์โกไลด์ในช่วงเริ่มต้น แพทย์จะสั่งจ่ายยาที่ขนาดต่ำๆก่อน จากนั้นแพทย์จะปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสมทุกๆ 3–4 วัน เพื่อให้ร่างกายผู้ป่วยปรับตัวต่อการออกฤทธิ์ซึ่งรวมถึงอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆของยาเพอร์โกไลด์

ผู้ป่วยที่ได้รับยาเพอร์โกไลด์ มักประสบปัญหาเกิดอาการง่วงนอนมากจนส่งผลต่อการดำรงชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานกับเครื่องจักรหรือต้องขับขี่ยวดยานพาหนะตลอดทั้งวันเพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ผู้ป่วยบางกลุ่มยังอาจมีปัญหาเรื่องความดันโลหิตต่ำ รวมไปถึงเกิดอาการเห็นภาพหลอนตามมาด้วย อาจเป็นเพราะผลข้างเคียงเหล่านี้จึงทำให้ประเทศทางซีกโลกตะวันตกยกเลิกการใช้ยาชนิดนี้ แต่เราก็ยังพบเห็นการใช้ยาเพอร์โกไลด์ในประเทศอื่นๆได้อยู่

*สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาเพอร์โกไลด์เกินขนาด จะสังเกตได้จากมีอาการอาเจียน ความดันโลหิตต่ำ ตัวสั่น เสียการทรงตัว ประสาทหลอนอย่างรุนแรง รู้สึกเสียวบริเวณแขน-ขา ชีพจรเต้นผิดปกติ เกิดอาการชัก ซึ่งการบำบัดภาวะได้รับยานี้เกินขนาดนั้น แพทย์จะรักษาประคับประคองตามอาการ และอาจใช้ยาถ่านกัมมันต์กับผู้ป่วยเพื่อช่วยลดการดูดซึมของยานี้

การใช้ยาเพอร์โกไลด์กับผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง อาจสร้างผลกระทบ(ผลข้างเคียง)และทำให้โรคประจำตัวที่เป็นอยู่มีอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น ผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคปอด โรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ที่เห็นภาพหลอน/อาการประสาทหลอนบ่อย รวมถึงสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร

การใช้ยาเพอร์โกไลด์ร่วมกับยาบางประเภทสามารถทำให้ฤทธิ์การรักษาของยาเพอร์โกไลด์ด้อยประสิทธิภาพลงไป ตัวอย่างยากลุ่มดังกล่าว เช่น Haloperidol, Metoclopramide, Phenothiazine, และ Thiothixene เป็นต้น ผู้ป่วยจึงควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ให้ทราบทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาว่า ตนเองมีโรคประจำตัวอะไร มีการใช้ยาประเภทใดอยู่ก่อน นอกจากนั้น เพื่อลดอันตรายและผลกระทบจากการใช้ยาเพอร์โกไลด์ ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยานี้ตามที่แพทย์แนะนำ ปฏิบัติตามคำสั่งของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด ไม่ปรับขนาดรับประทานยานี้เอง และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมาย ก็จะช่วยทำให้เห็นประสิทธิผลของการรักษาได้ชัดเจนมากขึ้น

เพอร์โกไลด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เพอร์โกไลด์

ยาเพอร์โกไลด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดรักษาอาการโรคพาร์กินสัน

เพอร์โกไลด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเพอร์โกไลด์คือ ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับประเภท Dopamine(ย่อว่าD) receptor เช่น D1และ D2 receptor ในสมอง ส่งผลเกิดสมดุลของสารสื่อประสาทต่างๆ ทำให้ผู้ป่วยควบคุมการเคลื่อนไหว และการทรงตัวได้ใกล้เคียงกับภาวะปกติ กลไกเหล่านี้ยังขึ้นอยู่กับขนาดของยาที่รับประทาน ร่วมกับการตอบสนองของตัวผู้ป่วยเป็นสำคัญ

เพอร์โกไลด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเพอร์โกไลด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยตัวยา Pergolide mesylate ขนาด 0.05, 0.25, และ 1 มิลลิกรัม/เม็ด (50, 250, และ 1,000 ไมโครกรัม/เม็ด)

เพอร์โกไลด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเพอร์โกไลด์มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: วันแรกให้รับประทานยา 50 ไมโครกรัม เวลาเย็น และในวันที่2–วันที่ 4 แพทย์จะปรับขนาดรับประทานเป็น 50 ไมโครกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า–เย็น และแพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานอีก 100–250 ไมโครกรัม ทุกๆ 3–4 วัน โดยแบ่งการรับประทานเป็น 3 ครั้ง เช้า–กลางวัน–เย็น จนกระทั่งขนาดรับประทานรวมในวันที่ 28 เป็น 1.5 มิลลิกรัม/วัน ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 2.1 – 2.5 มิลลิกรัม/วัน อนึ่ง ยานี้รับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดในการใช้ยานี้ในเด็ก

อนึ่ง:

  • การปรับขนาดรับประทานยังมีแตกต่างไปจากนี้อีก เช่น กรณีใช้ร่วมกับLevodopa แพทย์เท่านั้นที่จะปรับขนาดรับประทานให้กับผู้ป่วยแต่ละรายได้เหมาะสมที่สุด
  • ด้วยการรับประทานยา 2–3 ครั้ง/วัน ประกอบกับผลข้างเคียงต่างๆ(ดังกล่าวในบทนำ)จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ยานี้ได้รับความนิยมน้อยกว่ายารักษาพาร์กินสันตัวอื่นๆ

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเพอร์โกไลด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น ความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาเพอร์โกไลด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเพอร์โกไลด์ สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า ให้รับประทานในขนาดปกติ

อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาเพอร์โกไลด์ อาจเป็นเหตุให้เกิดภาวะถอนยาตามมาได้

เพอร์โกไลด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเพอร์โกไลด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจาง เกิดภาวะLeukopenia(เม็ดเลือดขาวต่ำ)
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสียหรือท้องผูก อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอนหรือนอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ตัวสั่น
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำหรือสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นแดง
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะบ่อย เลือดออกในทางเดินปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ เป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อ
  • ผลต่อตา: เช่น การมองเห็นผิดปกติ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า ประสาทหลอน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด/หายใจลำบาก คัดจมูก

มีข้อควรระวังการใช้เพอร์โกไลด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเพอร์โกไลด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทาน หรือหยุดการใช้ยานี้ โดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยน เม็ดยาแตกหัก
  • ห้ามรับประทานยาเพอร์โกไลด์พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ด้วยจะก่อให้เกิดอาการวิงเวียนมากขึ้น
  • หากมีอาการแพ้ยานี้ เช่น มือ-เท้า-ใบหน้าบวม มีผื่นคัน-ลมพิษขึ้นเต็มตัว อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ให้หยุดการใช้ยานี้ และรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • กรณีใช้ยานี้ไปแล้วตามเวลาที่เหมาะสมตามแพทย์แนะนำ แต่อาการไม่ดีขึ้น ควรกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • หากมีอาการวิงเวียนเมื่อใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่ต้องควบคุมเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • อาการเห็นภาพหลอน/ประสาทหลอนอาจเกิดขึ้นตามขนาดรับประทานของยานี้ กรณีเกิดอาการดังกล่าวและทำให้การดำรงชีวิตประจำวันเกิดปัญหา ควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ตรวจสอบความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอในระหว่างใช้ยานี้ตาม แพทย์ เภสัชกร แนะนำ
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเพอร์โกไลด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เพอร์โกไลด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเพอร์โกไลด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเพอร์โกไลด์ร่วมกับยา Propoxyphene อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน สับสน ขาดสมาธิ มากยิ่งขึ้น และอาการเหล่านี้จะพบมากในผู้ป่วยสูงอายุเพื่อเป็นการป้องกันอาการข้างเคียงดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาเพอร์โกไลด์ร่วมกับยา Lorcaserin/ยาลดน้ำหนัก ด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้ลิ้นหัวใจเสียหาย/โรคลิ้นหัวใจ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเพอร์โกไลด์ร่วมกับยา Hydrocodone ด้วยจะทำให้ได้รับผลข้างเคียง เช่น การครองสติลำบาก รู้สึกสับสน วิงเวียน และง่วงนอนตามมา
  • การใช้ยาเพอร์โกไลด์ ร่วมกับยา Sodium oxybate จะส่งผลกระทบต่อประสาทส่วนกลางหรือสมอง โดยทำให้เกิดอาการ วิงเวียน สับสน ซึมเศร้า ความดันโลหิตต่ำ บางกรณีอาจเกิดภาวะโคม่าจนถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด กรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาเพอร์โกไลด์อย่างไร

ควรเก็บยาเพอร์โกไลด์ ภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เพอร์โกไลด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเพอร์โกไลด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Permax (เพอแมก) Athena

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Prascend

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Vicks [2017,Feb25]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/pergolide?mtype=generic [2017,Feb25]
  3. https://www.drugs.com/cdi/pergolide-mesylate.html [2017,Feb25]
  4. https://www.drugs.com/sfx/permax-side-effects.html [2017,Feb25]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/pergolide,permax-index.html?filter=3#S [2017,Feb25]