เพอรินโดพริล (Perindopril)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเพอรินโดพริล(Perindopril หรือ Perindopril erbumine หรือ Perindopril arginine )เป็นยาในกลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitor) ทางคลินิกนำมาใช้บำบัดอาการโรคความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ยานี้มีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน หลังจากยานี้ถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร จะมีปริมาณยาเพียงประมาณ 24% ที่กระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือด และจะถูกเมตาโบไลท์ (Metabolite,กระบวนการกำจัดยา) โดยไต อาจต้องใช้เวลาประมาณ 1 – 17 ชั่วโมง เพื่อกำจัดตัวยานี้ออกจากร่างกายทางปัสสาวะ

ยาเพอรินโดพริล ไม่เหมาะกับผู้ป่วยบางกลุ่ม ดังนี้ เช่น

  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาเพอรินโดพริล
  • เป็นสตรีตั้งครรภ์
  • ผู้ที่มีประวัติบวมตามร่างกายจากอาการแพ้ที่เรียกว่า Angioedema เช่นที่ มือ ใบหน้า ริมฝีปาก ตา คอ ลิ้น โดยมีสาเหตุจากการใช้ยากลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์
  • ผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง
  • เป็นผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน หรือโรคไต ที่มีการใช้ยา Aliskiren
  • เป็นผู้ป่วยที่มีการใช้ยาต่างๆดังต่อไปนี้ เช่นยา Cyclosporine, Everolimus, Dextran(สารน้ำที่ใช้แทนพลาสมาในการรักษาภาวะร่างกายเสียน้ำ), Furosemide, HCTZ, NSAIDs, Lithium, และ Sulfonylureas

ลักษณะของการใช้ยาเพอรินโดพริลเพื่อบำบัดความดันโลหิตสูงจะคล้ายกับยาลดความดันโลหิตตัวอื่นๆ เช่น รับประทานยาตรงเวลาในแต่ละวัน ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องและไม่ควรลืมที่จะรับประทาน สิ่งสำคัญควรตรวจความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ว่าหลังใช้ยานี้สามารถควบคุมความดันได้เป็นปกติ หากพบว่าอาการของความดันโลหิตสูงไม่ดีขึ้น ควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันนัด หรือกรณีที่พบว่าหลังการใช้ยานี้แล้วพบอาการไอ ควรแจ้งแพทย์เพื่อแพทย์อาจพิจารณาปรับเปลี่ยนยา

กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อใช้ยาเพอรินโดพริล ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ และยานี้ไม่เหมาะที่จะใช้กับเด็กและสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยังขาดข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว

ผู้ป่วยบางรายที่หลงลืมจนเกิดการรับประทานยาเพอรินโดพริลเกินขนาด อาจพบอาการ เป็นลม วิงเวียนรุนแรง ปวดศีรษะ และอ่อนเพลีย ซึ่งเมื่อพบเกิดอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนวันนัด

ยาเพอรินโดพริลสามารถใช้ในลักษณะยาเดี่ยว หรือใช้ร่วมกับยาลดความดันโลหิตตัวอื่นๆก็ได้ อย่างเช่น ยาขับปัสสาวะ ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น

เพอรินโดพริลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เพอรินโดพริล

ยาเพอรินโดพริลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
  • รักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Coronary artery disease)

เพอรินโดพริลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเพอรินโดพริลมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งกระบวนการเปลี่ยนสาร Angiotensin I ไปเป็น Angiotensin II มีผลทำให้หลอดเลือดแดงลดความต้านทานโดยมีการขยายตัว จึงเพิ่มการไหลเวียนเลือดได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดปริมาณเลือดที่ถูกบีบออกจากหัวใจ ทำให้ความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงลดตามไปเช่นกัน สำหรับที่หน่วยไต ตัวยายังเพิ่มการขับออกของเกลือโซเดียมไปกับปัสสาวะอีกด้วย จากกลไกที่กล่าวมา ทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

เพอรินโดพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเพอรินโดพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

ก. ยาเม็ดชนิดรับประทานที่เป็นยาเดี่ยว เช่น

  • Perindopril arginine ขนาด 5 และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด หรือ
  • Perindopril erbumine ขนาด 4 มิลลิกรัม/เม็ด

ข. ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น

  • Perindopril arginine 5 มิลลิกรัม + Amlodipine 5 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Perindopril arginine 5 มิลลิกรัม + Amlodipine 10 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Perindopril arginine 10 มิลลิกรัม + Amlodipine 5 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Perindopril arginine 10 มิลลิกรัม + Amlodipine 10 มิลลิกรัม/เม็ด

เพอรินโดพริลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเพอรินโดพริลมีขนาดรับประทาน เช่น

ก.สำหรับรักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยา Perindopril erbumine 4 มิลลิกรัม หรือยา Perindopril arginine 5 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง ก่อนอาหาร สำหรับยาเม็ดครั้งแรก ควรรับประทานก่อนนอน ยาเม็ดถัดมาอาจรับประทานระหว่างวัน หรือตามคำสั่งจากแพทย์

ข.สำหรับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยา Perindopril erbumine 4 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนอาหาร หรือยา Perindopril arginine 5 มิลลิกรัม วันละ1ครั้งก่อนอาหาร เป็นเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้น แพทย์จะค่อยๆปรับขนาดรับประทานเป็น 8 มิลลิกรัมกรณีเป็นยา Perindopril erbumine หรือ 10 มิลลลิกรัมกรณีเป็นยา Perindopril arginine วันละ 1ครั้ง

อนึ่ง:

  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกของการใช้ยานี้ในเด็ก
  • แพทย์อาจพิจารณาปรับขนาดรับประทานลงมาเมื่อใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคไต

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเพอรินโดพริล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเพอรินโดพริล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเพอรินโดพริล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาเพอรินโดพริลตรงเวลา

เพอรินโดพริลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเพอรินโดพริลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น พบอาการไอ หายใจลำบาก/หลอดลมหดเกร็งตัว มีเลือดกำเดา ปอดบวม และเยื่อจมูกอักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ง่วงนอน เป็นลมแดด
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ท้องผูกหรือท้องเสีย ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นผิดจังหวะ หลอดเลือดดำอักเสบ หน้าแดง หัวใจเต้นเร็ว หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผื่นคัน ลมพิษ แพ้แสงแดดได้ง่าย มีภาวะเหงื่อออกมาก
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น เป็นตะคริว ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับเพิ่มสูงขึ้น ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง ตับอักเสบ ตับวาย ดีซ่าน
  • ผลต่อตา: เช่น การมองเห็นผิดปกติไป
  • ผลต่อไต: เช่น ค่าสารยูเรียในเลือดสูง สารครีเอตินีน(Creatinine)ในเลือดเพิ่มขึ้น ไตวายเฉียบพลัน กรวยไตอักเสบ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ค่าน้ำตาลในเลือดต่ำ ระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง ในขณะที่เกลือโซเดียมในเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบเลือด: เกิดภาวะ Eosinophilia (เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil สูง) Leukopenia(เม็ดเลือดขาวต่ำ) Neutropenia(เม็ดเลือดขาวชนิดNeutrophilต่ำ) Agranulocytosis(เม็ดเลือดขาวชนิดGranulocyte ต่ำ) ค่าฮีโมโกลบินลดลง ในผู้ป่วยโรค/ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี/G6PDที่รับประทานยานี้จะเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกจนเป็นเหตุให้เกิดโลหิตจาง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น อารมณ์ฉุนเฉียว สับสน ซึมเศร้า ประสาทหลอน
  • ผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์: เช่น สมรรถนะทางเพศในบุรุษถดถอย

มีข้อควรระวังการใช้เพอรินโดพริลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้เพอรินโดพริล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ยาในกลุ่ม ACE inhibitor
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เป็นแองจิโออีดีม่าชนิดที่เกิดจากพันธุกรรม (Idiopathic angioedema)
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยเบาหวานที่มีการใช้ยา Aliskiren
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ระวังการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ดังนั้นระหว่างการใช้ยานี้จะต้องคอยตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ ตามแพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ
  • ยานี้อาจมีฤทธิ์กดการทำงานของไขกระดูก ผู้ป่วยจึงอาจได้รับการตรวจเลือดเป็นระยะๆตามที่แพทย์เห็นสมควร
  • หากพบอาการ วิงเวียน ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ หรือเลี่ยง การทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • หากพบเกิดมีอาการไอโดยไม่มีสาเหตุ ควรแจ้งแพทย์ เพื่อแพทย์พิจารณาปรับการรักษา
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเพอรินโดพริลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เพอรินโดพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเพอรินโดพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเพอรินโดพริลร่วมกับยาขับปัสสาวะ อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาเพอรินโดพริลร่วมกับยาที่มีโพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบ(เช่น Potassium iodide) อาจทำให้เกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาเพอรินโดพริลร่วมกับยา NSAID หรือยา Aspirin ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพในการลดความดันโลหิตด้อยลง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเพอรินโดพริลร่วมกับยา Lithium ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับพิษ/ผลข้างเคียงจาก Lithium สูงขึ้น

ควรเก็บรักษาเพอรินโดพริลอย่างไร?

ควรเก็บยาเพอรินโดพริลในช่วงอุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เพอรินโดพริลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเพอรินโดพริลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Coversyl Arginine (โคเวอร์ซิล อาร์จินิน)Servier
Covrix (โควริกซ์)Sinensix Pharma
Coveram (โคเวอแรม)Servier

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Coversyl, Coversum, Perindopril erbumine, Aceon, Perigard, Eviper

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Perindopril [2016,Dec3]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/covrix/?type=brief [2016,Dec3]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/perindopril/?type=brief&mtype=generic [2016,Dec3]
  4. http://www.mims.com/malaysia/drug/info/perindopril?mtype=generic [2016,Dec3]