“เพร็พ” และ “เป็ป” ก็ต้านเอดส์เหมือนกัน (ตอนที่ 2)

เพร็พและเป็ปก็ต้านเอดส์เหมือนกัน

ด้าน นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงว่า กรมควบคุมโรคเตรียมศึกษาประสิทธิผลและความคุ้มค่าในพื้นที่นำร่อง 6 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา และนนทบุรี เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พิจารณาบรรจุเป็นชุดสิทธิประโยชน์ของประชาชน คาดว่าไม่เกิน 1 ปีครึ่ง จะรู้ผล ทั้งนี้ คาดมีกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับยาเพร็พ 1.5 แสนคน ทั้งกลุ่มชายรักชาย สาวประเภทสอง ผู้ใช้ยาเสพติดประเภทฉีด และคู่สมรสที่มีผลเลือดต่าง

สำหรับผู้ที่สนใจจะเข้ารับยาเพร็พฟรีในโครงการนี้ ติดต่อได้ที่ศูนย์สุขภาพชุมชนของสมาคมฟ้าสีรุ่งที่กรุงเทพฯ และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มูลนิธิสวิง (SWING) กรุงเทพฯ และพัทยา มูลนิธิ SISTERS พัทยา ศูนย์ CAREMAT และ M-PLUS เชียงใหม่ สอบถามเพิ่มเติม โทร.0 2253 0996 ในเวลาราชการ

“เพร็พ” (PreExposure Prophylaxis = PrEP) เป็นยาต้านเชื้อไวรัสเฮชไอวีที่ใช้ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ เป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงหากใช้ตามคำแนะนำ โดยลดโอกาสในการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ได้ร้อยละ 90 และจากการใช้เข็มฉีดยาได้มากกว่าร้อยละ 70 อย่างไรก็ดี ประสิทธิภาพจะลดลงถ้าไม่ได้มีการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง

PrEP เป็นส่วนผสมของตัวยา 2 ตัว คือ ยา Tenofovir และยา Emtricitabine การทำงานของ PrEP ไม่เหมือนกับการฉีดวัคซีนทั่วไปที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายให้ต่อสู้กับเชื้อได้หลายปี เพราะต้องมีการกินยา PrEP ทุกวัน เพื่อให้ยาอยู่ในกระแสเลือดและทำหน้าที่หยุดการแพร่กระจายเชื้อในร่างกาย ดังนั้น หากไม่มีการกินยาทุกวัน จะทำให้มีปริมาณยาในเลือดไม่พอที่จะหยุดเชื้อไวรัสได้

PrEP เหมาะกับคนดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อแต่มีเพศสัมพันธ์กับคู่ครองที่ติดเชื้อแล้ว
  • ผู้ที่เป็นเกย์หรือกลุ่มรักร่วมเพศที่ไม่มีการใช้ถุงยางอนามัย หรือมีการตรวจพบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted disease = STD) ใน 6 เดือนที่ผ่านมา
  • ผู้ที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยในการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่มีความเสี่ยง เช่น หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับชายที่รักร่วมเพศ
  • ผู้ที่มีการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่นหรืออยู่ระหว่างการรักษาอาการติดยาในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา

PrEP สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา (Side effects) ได้ ดังนี้

  • ปวดท้อง
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ทั้งนี้ ก่อนการกินยา PrEP จะต้องมีการทดสอบก่อนว่ามีการติดเชื้อเฮชไอวีแล้วหรือไม่ และระหว่างที่กินยาอยู่จะต้องมีการทดสอบอีกทุกๆ 3 เดือน

    แหล่งข้อมูล

    1. สภากาชาด แจก “เพร็พ” สาวประเภทสอง-ชายรักชาย ชี้ “กินก่อนมีสัมพันธ์” ป้องกันเอดส์ได้. http://www.matichon.co.th/news/40477 [2016, Aug 2].

    2. PrEP. http://www.cdc.gov/hiv/basics/prep.html [2016, Aug 2].

    3. PRE-EXPOSURE PROPHYLAXIS (PrEP). https://www.aids.gov/hiv-aids-basics/prevention/reduce-your-risk/pre-exposure-prophylaxis/ [2016, Aug 2].