เพมฟิกัสที่ทรมาน (ตอนที่ 1)

เพมฟิกัสที่ทรมาน-1

      

      นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึง กรณีชายวัย 68 ปี จ.นครราชสีมา ป่วยโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง พุพอง เลือดออก และคันทั้งตัว จากข้อมูลในพื้นที่พบว่าผู้ป่วยมีอาการโรคในกลุ่มตุ่มน้ำพองเรื้อรังเเกิดจากภูมิต้านทานร่างกายทำงานผิดปกติ

      ทำให้สร้างแอนติบอดีมาทำลายการยึดเกาะของเซลล์ผิวหนัง จึงหลุดลอกได้ง่าย ประกอบกับปัจจัยพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมกระตุ้น โรคนี้พบไม่บ่อยแต่จัดเป็นโรคผิวหนังที่รุนแรง ส่วนใหญ่อายุ 50-60ปี อย่างไรก็ตาม เกิดได้กับทุกวัย รวมถึงในเด็ก ที่สำคัญไม่ใช่โรคติดต่อ

      พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า เป็นโรคเพมฟิกัส ซึ่งจะมีแผลถลอกเรื้อรังที่เยื่อบุในปาก เหงือก กระพุ้งแก้ม และมีตุ่มพองหรือแผลถลอกบริเวณผิวหนัง ขยายออกเป็นแผ่นใหญ่ ปวดแสบมาก อาจมีสะเก็ดน้ำเหลือง หากติดเชื้อแทรกซ้อน แผลจะลาม

      การรักษาจะให้รับประทานยาสเตียรอยด์ ผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคมาก หรือมีผื่นกว้าง ต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันร่วมด้วย ใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ แผลจะสมานหากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยบางรายอาจเข้าสู่ระยะโรคสงบหลังรักษา 3 - 5 ปี โดยอาจมีอาการโรคกำเริบและสงบสลับกันไป

      โรคเพมฟิกัส (Pemphigus) หรือ โรคตุ่มน้ำพองจากภูมิคุ้มกัน เป็นกลุ่มความผิดปกติที่พบยากของผิวหนัง หรือเยื่อเมือกบุผิว (Mucous membranes) เช่น เยื่อที่ปากหรือที่อวัยวะเพศ โดยมีลักษณะเป็นตุ่มและปวด สามารถเกิดได้ในคนทั่วโลก แต่ส่วนใหญ่มักเริ่มเป็นในวัยกลางคนที่อายุ 50-60 ปี เป็นโรคที่ไม่ติดต่อ

      โรคเพมฟิกัสแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดหลัก คือ

1. Pemphigus vulgaris – เป็นชนิดที่พบมาก ร้อยละ 50-70 มักเริ่มเป็นในปาก แล้วจึงลามไปยังผิวหนังหรืออวัยวะเพศ มีอาการปวดแต่ไม่คัน ตุ่มในปากหรือคออาจทำให้กลืนและกินลำบาก

2. Pemphigus foliaceus – มักเป็นที่ผิวหนัง บริเวณหน้าอก หลัง และไหล่ มีอาการคันมากกว่าอาการปวด

      นอกจากนี้ยังอาจแบ่งได้เป็น

3. Pemphigus Vegetans - เกิดที่บริเวณขาหนีบ รักแร้ และที่เท้า

4. Paraneoplastic Pemphigus – เป็นชนิดที่พบยาก มักพบในคนที่เป็นโรคมะเร็งด้วย โดยตุ่มจะปรากฏที่บริเวณปาก ริมฝีปาก และผิวหนัง

      ตุ่มจะมีลักษณะอ่อนนุ่มและแตกง่าย ตุ่มจะเกิดขึ้นและแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว มีอาการปวด หากเกิดในคอจะทำให้เสียงแหบ หากเกิดในปากจะทำให้กิน ดื่ม พูด ลำบาก นอกจากนี้อาการอื่นที่เกิดขึ้นอาจได้แก่

  • อ่อนเพลีย
  • ไวต่อแสง (Light sensitivity)
  • มีปัญหาเรื่องตา

แหล่งข้อมูล:

  1. ชี้ลุงโคราชป่วย”โรคเพมฟิกัส”.https://www.siamrath.co.th/n/33004 [2018, April 15].
  2. Pemphigus.https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/pemphigus/symptoms-causes/syc-20350404 [2018, April 15].
  3. Pemphigus.https://www.aad.org/public/diseases/painful-skin-joints/pemphigus [2018, April 15].
  4. Pemphigus Vulgaris. https://www.healthline.com/health/pemphigus-vulgaris#risk-factors [2018, April 15].