เพนโทบาร์บิทอล (Pentobarbital)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเพนโทบาร์บิทอล (Pentobarbital) เป็นยาในกลุ่มบาร์บิทูเรต (Barbiturate) ที่ออกฤทธิ์เพียงระยะสั้นๆ ต่างประเทศมีการจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Nembutal” โดยมีการใช้ยานี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 (พ.ศ. 2473) การใช้เพนโทบาร์บิทอลในปริมาณสูงๆสามารถทำให้ผู้ที่ใช้เสียชีวิต (ตาย) ได้เพราะยานี้ส่งผลกดศูนย์ควบคุมการหายใจในสมอง ประโยชน์ทางการแพทย์ที่นำยานี้มาใช้ทางคลินิกคือ ช่วยสงบประสาท/ยากล่อมประสาท ใช้เป็นยานอนหลับ และใช้ควบคุมการชักแบบฉุกเฉิน (เช่น โรคลมชัก) นอกจากนี้ยาเพนโทบาร์บิทอลยังถูกนำไปใช้ลดความดันในสมองของผู้ป่วยด้วยกลุ่มอาการ Reye’s syndrome อีกด้วย บางประเทศแพทย์จะใช้ยานี้สำหรับการุณยฆาต (แพทย์ช่วยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตกรณีผู้ป่วยได้รับความทรมานจากโรคที่ไม่มีทางรักษาให้หายได้แล้ว) ให้กับผู้ป่วย แต่ประเทศไทยเรายังไม่มีกฎหมายรองรับเรื่องการทำการุณยฆาตแต่อย่างใด

ก่อนการสั่งจ่ายยานี้แพทย์จะซักประวัติข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วย/ประวัติทางการแพทย์เช่น

  • มีโรคประจำตัวอย่างเช่น โรคตับ โรคไต หรือไม่
  • มีภาวะโรคหืดที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ หรือมีอาการปวดแบบเรื้อรัง หรือไม่
  • มีประวัติป่วยทางจิตและเคยพยายามคิดฆ่าตัวตายหรือไม่
  • มีประวัติติดยาเสพติดหรือติดสุราหรือไม่
  • มีการใช้ยาประเภทใดอยู่บ้าง

แพทย์/เภสัชกรมักสำทับให้รับประทานยาตามขนาดที่แนะนำ ไม่ปรับขนาดรับประทานยาเอง รวมถึงให้รับประทานพร้อมกับดื่มน้ำเปล่า ห้ามดื่มสุราร่วมกับการใช้ยาเพนโทบาร์บิทอลโดยเด็ดขาด

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน ยาฉีด และยาเหน็บทวาร ร่างกายมนุษย์สามารถดูดซึมยาชนิดนี้จากระบบทางเดินอาหารได้ประมารณ 70 - 90% เมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 20 - 45% ตัวยาจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีโดยผ่านตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 15 - 48 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาจำนวนครึ่งหนึ่งออกจากกระแสเลือดและผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ทางคลินิกพบว่าผู้สูงอายุจะมีโอกาสได้รับผลกระทบ (ผลข้างเคียง) จากยาเพนโทบาร์บิทอลมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นด้วยสภาพร่างกายและอวัยวะตับ-ไตมีประสิทธิภาพในการทำงานกำจัดตัวยานี้ออกจากร่างกายได้น้อยลง

เพนโทบาร์บิทอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เพนโทบาร์บิทอลNEW

ยาเพนโทบาร์บิทอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • ใช้เป็นยานอนหลับโดยใช้เพื่อให้นอนหลับในช่วงเวลาเพียงสั้นๆ
  • ช่วยบำบัดอาการลมชักแบบฉุกเฉิน
  • ช่วยสงบประสาท/กล่อมประสาทและทำให้หลับก่อนเข้ารับการผ่าตัด

เพนโทบาร์บิทอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเพนโทบาร์บิทอลมีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อตัวรับในสมองที่ชื่อ GABA receptors (Gamma-aminobutyric acid receptors, ตัวรับสารสื่อประสาท GABA ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ การรับรู้ และการทำงานของกล้ามเนื้อ) และส่งผลกดการทำงานของกระแสประสาททำให้รู้สึกง่วงนอน ส่งผลให้มีฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

เพนโทบาร์บิทอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเพนโทบาร์บิทอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 50 และ 100 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 100 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีด ขนาด 50 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

เพนโทบาร์บิทอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเพนโทบาร์บิทอลมีขนาดรับประทานเช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 100 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนนอน
  • เด็ก: รับประทาน 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมหรือตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา

*อนึ่ง: ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเพนโทบาร์บิทอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาเพนโทบาร์บิทอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเพนโทบาร์บิทอลสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

เพนโทบาร์บิทอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเพนโทบาร์บิทอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น มีอาการวิงเวียน ง่วงนอน คลื่นไส้ อาเจียน ความจำเสื่อม ตากระตุก กดการหายใจ (หาย ใจตื้นและแผ่วเบา) ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า ก่อให้เกิดตับอักเสบ

กรณีที่มีอาการถอนยาอาจพบอาการประสาทหลอน เหงื่อออกมาก นอนไม่หลับ และความดันโลหิตสูง

มีข้อควรระวังการใช้เพนโทบาร์บิทอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเพนโทบาร์บิทอลเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคถุงลมโป่งพอง โรคหืดที่ควบคุมอาการไม่ได้ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยที่มีอาการหยุดหายใจขณะนอนหลับ/นอนหลับแล้วหยุดหายใจ (Obstructive sleep apnea)
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ด้วยสามารถก่อความผิดปกติกับทารกในครรภ์ได้ และ
  • ห้ามใช้ยานี้ในหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ตัวยาสามารถซึมผ่านเข้าน้ำนมของมารดาจนผ่านไปถึงทารกได้
  • ห้ามปรับขนาดการรับประทานยานี้เอง การรับประทานยานี้ควรต้องเป็นไปตามคำสั่ง จากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • ระวังการใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานานด้วยสามารถทำให้เกิดการติดยาได้
  • ระวังการใช้ยานี้กับเด็กด้วยยากลุ่มนี้อาจก่อให้เด็กเกิดภาวะตื่นเต้นหรือตื่นตระหนกอย่างผิดปกติ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุด้วยมีความสามารถในการกำจัดยาออกจากร่างกายได้ช้ากว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นจึงอาจเกิดผลข้างเคียงจากยานี้ที่รุนแรงได้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเพนโทบาร์บิทอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เพนโทบาร์บิทอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเพนโทบาร์บิทอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • ห้ามใช้ยาเพนโทบาร์บิทอลร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพราะจะทำให้มีอาการง่วงนอนและวิงเวียนอย่างมาก
  • การใช้ยาเพนโทบาร์บิทอลร่วมกับยา Propoxyphene จะกระตุ้นให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) ต่างๆติดตามมาเช่น วิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน ขาดสติ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาเพนโทบาร์บิทอลร่วมกับยา Acetaminophen อาจส่งผลข้างเคียงที่รุนแรงไปยังตับของผู้ป่วย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาเพนโทบาร์บิทอลร่วมกับยา Hydrocodone อาจทำให้ระดับของตัวยา Hydrocodone ในกระแสเลือดลดต่ำลงจนกระทบกับประสิทธิภาพการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานเป็นกรณีๆไป

ควรเก็บรักษาเพนโทบาร์บิทอลอย่างไร?

สามารถเก็บยาเพนโทบาร์บิทอลภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เพนโทบาร์บิทอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเพนโทบาร์บิทอลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Barbopent (บาร์โบเพนท์) Sanofi-Aventis
Hypnol (ฮิปนอล) Cristalia Produtos Quimicos Farmaceuticos
Nembutal sodium (เนมบูทอล โซเดียม) Abbott Laboratories
NEODORM (นีโอดอร์ม) Nordmark Arzneimitte

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Pentobarbital [2015,Aug22]
  2. http://mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Pentobarbital [2015,Aug22]
  3. http://www.drugs.com/mtm/pentobarbital.html [2015,Aug22]
  4. http://www.drugbank.ca/drugs/DB00312 [2015,Aug22]
  5. http://www.drugs.com/sfx/pentobarbital-side-effects.html [2015,Aug22]
  6. http://www.druglib.com/activeingredient/pentobarbital/ [2015,Aug22]
  7. http://www.drugs.com/imprints.php?action=search&drugname=PENTOBARBITAL [2015,Aug22]
  8. http://www.medicatione.com/?c=drug&s=barbopent [2015,Aug22]
  9. http://www.drugs.com/drug-interactions/pentobarbital-index.html?filter=3&generic_only= [2015,Aug22]
  10. http://www.akorn.com/documents/catalog/sell_sheets/76478-501-20.pdf [2015,Aug22]
  11. https://en.wikipedia.org/wiki/Barbiturate#Overdose [2015,Aug22]