เพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอ (Pegylated interferon alpha-2a )

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอ(Pegylated interferon alpha-2a ) หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ เพกอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอ(Peginterferon alpha-2a ) เป็นยาที่พัฒนาขึ้นโดยนำยา/สารอินเตอร์เฟอรอน(Interferon)มาเชื่อมต่อกับสารประกอบที่ชื่อ Polyethylene glycol จึงเกิดเป็นตัวยาอินเตอร์เฟอรอนที่มีโมเลกุลใหญ่ขึ้นที่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ช้าแต่ก็สามารถอยู่ในร่างกายได้ยาวนานขึ้นเช่นกัน ส่งผลดีต่อการใช้งานคือ ช่วยลดความถี่ในการใช้ยานี้ลงเหลือสัปดาห์ละ1ครั้ง

ทางคลินิก นำยาเพกอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอมาใช้รักษาอาการโรคตับอักเสบ บี และ ซี (Hepatitis B and C) สำหรับการรักษาโรคตับอักเสบ-ซี มักจะใช้ควบคู่ไปกับตัวยาRibavirin ส่วนการรักษาโรคตับอักเสบ บี มักจะใช้ยานี้/ยาชนิดนี้แบบเป็นยาเดี่ยว

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอ เป็นแบบยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 72-96 ชั่วโมง เพื่อให้ตัวยาดูดซึมเข้าสู่ร่างกายในระดับสูงที่สุด การใช้ยาประเภทเพกอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอ สามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการผิดปกติต่างๆ อาทิ อาการทางจิตประสาท เกิดภาวะภูมิต้านทาน/ภูมิคุ้มกันเล่นงานตนเอง/ภูมิคุ้มกันต้านตนเอง/โรคภูมิแพ้ตนเอง มีอาการหัวใจขาดเลือด เกิดภาวะติดเชื้อต่างๆได้ง่าย ดังนั้นระหว่างที่ได้รับยานี้ แพทย์จะเฝ้าระวังผลกระทบ/ผลข้างเคียงต่างๆดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่สามารถใช้ยาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอ ได้เลย เช่น

  • เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยาเพกอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอ
  • เป็นผู้ป่วยตับอักเสบที่เกิดจากสาเหตุภูมิต้านทานตนเอง
  • ผู้ป่วยตับอักเสบที่มีสภาพตับไม่สามารถทำงานทดแทนได้แล้ว
  • เด็กแรกเกิด ด้วยในสูตรตำรับมีส่วนประกอบของ Benzyl alcohol ซึ่งเป็นอันตราย ต่อเซลล์ประสาทของเด็กทารก
  • ผู้ป่วยโรคตับอักเสบ ซี ที่ป่วยเป็นเอชไอวีร่วมด้วย
  • ห้ามใช้ยาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอร่วมRibavirinกับสตรีมีครรภ์

ทั่วไปการใช้ยาเพกอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอ จะทำให้อาการโรคไวรัสตับอักเสบดีขึ้นตามลำดับ กรณีที่ผลการรักษาไม่ดีขึ้นเลย แพทย์จะสั่งหยุดการใช้ยานี้ และปรับแนวทางการรักษาต่อไป

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ยาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลต่างๆทั่วโลกที่ควรมีสำรองไว้ให้บริการกับประชาชน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอนี้ ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ยาควบคุมพิเศษ ซึ่งเราจะพบเห็นการใช้ยาเพกอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น และการใช้ยาประเภทนี้ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์แต่ผู้เดียว

เพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เพกิเลตอินเตอร์เฟอรอนแอลฟาทูเอ

ยาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ไวรัสตับอักเสบซี แบบเรื้อรัง กรณี ไวรัสตับอักเสบ บี สามารถใช้เป็นลักษณะของยาเดี่ยว แต่สำหรับไวรัสตับอักเสบ ซี มักจะใช้ควบคู่กับยาRibavirin

เพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอนแอลฟา (Pegylated interferon alpha ) ที่นักวิทยา ศาสตร์ สร้างขึ้นมีอยู่ 2 ประเภท คือ เพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอ Pegylated interferon alpha 2a และ แอลฟา-ทูบี (Pegylated interferon alpha 2b)โดยมีโครงสร้างของอินเตอร์เฟอรอนที่เข้าเชื่อมต่อกับ Polyethylene glycol ที่แตกต่างกัน ทำให้เพกิเลต อินเตอร์เฟอรอนชนิด แอลฟา-ทูเอ ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ช้ากว่าชนิดแอลฟา-ทูบี จึงส่งผลต่อการกระจายตัวในร่างกายที่มีความสัมพันธ์กับระยะเวลาการกำจัดตัวยา ออกจากร่างกายตามมา

ยาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟาทูเอ มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะ เข้าจับ กับผิวของเซลล์ในร่างกาย จากนั้นจะกระตุ้นให้เซลล์ร่างกายสร้างสารโปรตีนที่มีความ จำเพาะเจาะจงต่อสายพันธุ์ไวรัสตับอักเสบ บี หรือ ซี เมื่อไวรัสเข้ามาในเซลล์ของร่างกาย สารโปรตีนที่มีความจำเพาะเจาะจงดังกล่าว จะเข้าก่อกวนกรดนิวคลีอิก(Nucleic acid, สารสำคัญต่อการสร้างสารพันธุกรรม เช่น DNA)ของไวรัสให้ทำงานน้อยลง ส่งผลยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนของไวรัส ทำให้ไวรัสหยุดการเจริญเติบโตและไม่สามารถจำลองไวรัสรุ่นใหม่ขึ้นมาได้

เพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด แบบสารละลายบรรจุในหลอดฉีดพร้อมใช้งาน ที่มีตัวยา Pegylated interferon alpha-2a ขนาด 135 และ 180 ไมโครกรัม/0.5 มิลลิลิตร

เพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอ มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับรักษาไวรัสตับอักเสบ บี แบบเรื้อรัง:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 180 ไมโครกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 48 สัปดาห์

ข. สำหรับรักษาไวรัสตับอักเสบ ซี แบบเรื้อรัง:

  • กรณีรักษาแบบเป็นยาเดี่ยว: ผู้ใหญ่, ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 180 ไมโครกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้งเป็นเวลา 48 สัปดาห์
  • กรณีรักษาโดยใช้ร่วมกับยาRibavirin: ผู้ใหญ่, ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 180 ไมโครกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
  • สำหรับระยะเวลาของการรักษาให้เป็นดังนี้ ไวรัสตับอักเสบ ซี สายพันธุ์ 1 และ 4 ใช้ยาต่อเนื่อง 48 สัปดาห์, ไวรัสตับอักเสบ ซีสายพันธุ์ 2 และ 3 ใช้ยาต่อเนื่อง 24 สัปดาห์

อนึ่ง:

  • เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็กให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์
  • ผู้ป่วยต้องมารับการฉีดยานี้ต่อเนื่องตรงตามวันเวลาที่แพทย์นัดหมาย

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้อง ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอนแอลฟา-ทูเอ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอนแอลฟา-ทูเอ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

กรณีไม่สามารถมารับการฉีดยาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอนแอลฟา-ทูเอ ให้ผู้ป่วยรีบติดต่อแพทย์/พยาบาล/บุคคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง/ผู้ที่ทำการดูแลรักษาผู้ป่วย เพื่อนัดหมายการฉีดยาครั้งใหม่โดยเร็ว

เพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอ มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล(Neutrophil)ต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ โลหิตจาง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน การรับรสชาติอาหารผิดปกติไป มีความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ความจำแย่ลง เกิดไมเกรน ง่วงนอน ตัวสั่น
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า กระสับกระส่าย เกิดภาพหลอน ฝันประหลาด อาจเกิดความรู้สึกอยากทำร้ายตนเอง เกิดภาวะอารมณ์สองขั้ว เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง เป็นตะคริว
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องเสียหรือท้องผูก ปวดท้อง ติดเชื้อแคดิดาในช่องปาก/เชื้อราช่องปาก อาเจียน กระเพาะอาหารอักเสบ ท้องอืด เกิดริดสีดวงทวาร เหงือกอักเสบ ฟันผุ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น กรดแลคติก(Lactic acid)ในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ ค่าไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง เกิดภาวะขาดน้ำของร่างกาย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผมร่วง ผื่นคัน ผิวแห้ง เหงื่อออกมาก เกิดสิว ลมพิษ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ไอ คอหอยอักเสบ ไซนัสอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เจ็บคอ
  • ผลต่อตับ: เช่น มีภาวะตับวาย เกิดภาวะตับแข็ง ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว หลอดเลือดดำอักเสบ หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำหรือไม่ก็สูง
  • ผลต่อตา: เช่น ประสาทตาอักเสบ ตาพร่า ปวดตา
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะภูมิต้านตนเอง
  • ผลต่อไต: เช่น เกิดไตวาย
  • อื่นๆ: เช่น ภาวะนกเขาไม่ขัน(ในบุรุษ)

มีข้อควรระวังการใช้เพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเออย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยภาวะซึมเศร้ารุนแรง(Major depressive) ที่ยังควบคุมอาการไม่ได้
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์ หรือที่ไม่เต็มใจที่จะยินยอมในการคุมกำเนิด
  • ห้ามใช้กับสตรีในช่วงให้นมบุตร
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ผู้ป่วยยังควบคุมรักษาได้ไม่ดี เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ และ HIVที่ยังมีการติดเชื้อฉวยโอกาสอยู่
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงการบำบัดยาเสพติด
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะได้แก่ ไต หัวใจ หรือ ปอด
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 2,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิลิตร
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีความเข้มข้นของเลือด(ฮีโมโกลบิน)ต่ำกว่า 9 กรัมต่อเดซิลิตร
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีเกล็ดเลือดต่ำกว่า 50,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิลิตร
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง และไม่ควรหยุดการรักษาโดยมิได้ปรึกษาแพทย์
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอด้วย) ยาแผนโบราณอาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอ ร่วมกับยาต้านไวรัสTelbivudine ด้วยจะทำให้เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอ ร่วมกับยา Tramadol และ Bupropion ด้วยจะทำให้เกิดภาวะลมชักในผู้ป่วยได้ง่ายยิ่งขึ้น
  • ห้ามใช้ยาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอร่วมกับ ยาClozapine เพราะจะทำให้ระดับเม็ดเลือดขาวในร่างกายต่ำลงอย่างมาก
  • ห้ามใช้ยาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอ ร่วมกับ ยาNatalizumab เพราะจะ ส่งผลให้เกิดภาวะติดเชื้อต่างๆอย่างรุนแรงตามมา

ควรเก็บรักษาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเออย่างไร?

ควรเก็บรักษายาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอ ดังนี้ เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาที่เสื่อมสภาพหรือยาที่หมดอายุแล้ว

เพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเพกิเลต อินเตอร์เฟอรอน แอลฟา-ทูเอ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Pegasys (เพกกาซีส)Roche

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Peginterferon_alfa-2a [2018,May26]
  2. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2011/103964s5204lbl.pdf [2018,May26]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/peginterferon%20alfa-2a/?type=brief&mtype=generic [2018,May26]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/pegasys/?type=brief [2018,May26]
  5. http://www.fda.moph.go.th/sites/drug/Shared%20Documents/New/nlem2561.PDF [2018,May26]
  6. http://www.scielo.br/pdf/bjid/v11s1/a14v11s1.pdf [2018,May26]
  7. http://www.mims.com/thailand/drug/info/peginterferon%20alfa-2b/?type=brief&mtype=generic [2018,May26]
  8. https://www.drugs.com/dosage/peginterferon-alfa-2a.html [2018,May26]
  9. https://www.drugs.com/dosage/peginterferon-alfa-2a.html#Usual_Adult_Dose_for_Chronic_Hepatitis_C [2018,May26]
  10. https://www.drugs.com/sfx/peginterferon-alfa-2a-side-effects.html [2018,May26]
  11. https://www.drugs.com/drug-interactions/peginterferon-alfa-2a-index.html?filter=3&generic_only= [2018,May26]