เป็นลม อย่าละเลย (ตอนที่ 2)

โมยาโมยา

1) ระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nervous system = ANS) ทำงานผิดปกติชั่วคราว หรือที่เรียกว่า Neurally mediated syncope

[ระบบประสาทอัตโนมัติ ระบบประสาทที่ควบคุมอวัยวะที่อยู่นอกอำนาจจิตใจ (Involuntary nervous system) เช่น กล้ามเนื้อเรียบและอวัยวะต่างๆ กล้ามเนื้อหัวใจ และต่อมต่างๆ ให้ทำงานโดยอัตโนมัติ ทำให้ร่างกายดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ]

หากมีสิ่งภายนอกมากระตุ้น เช่น เห็นภาพที่ไม่ชอบ เศร้าเสียใจอย่างรุนแรง (Emotional distress) กลัว (Fear) ได้รับความร้อน หรือการเจ็บปวดอย่างฉับพลัน อาจเป็นเหตุให้ระบบประสาทอัตโนมัติหยุดการทำงานชั่วคราว เป็นผลให้ระดับความดันโลหิตต่ำและเป็นลม หรืออาจเป็นสาเหตุให้หัวใจเต้นช้าลงหรือหยุดเต้นเล็กน้อย หรือที่เรียกว่า Vasovagal syncope

การไอ การจาม หรือ หัวเราะ บางครั้งก็ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติตึงอย่างฉับพลัน ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเป็นลม ที่เรียกว่า Situational syncope

2) ความดันโลหิตต่ำสามารถเป็นสาเหตุของการเป็นลมได้ เมื่อลุกยืนหลังจากที่นั่งหรือนอน แรงโน้มถ่วงจะดึงเลือดให้ไหลลงไปทางขา ซึ่งจะทำให้ความดันโลหิตลดลง ระบบประสาทจะสนองตอบปฏิกริยานี้ด้วยการที่หัวใจเต้นเร็วขึ้นและหลอดเลือดหดตัวเพื่อคงระดับความดันโลหิตให้ปกติ

หากปรับไม่ทันก็จะเกิดกรณีความดันตกเนื่องจากเปลี่ยนอิริยาบถ (Orthostatic hypotension) ซึ่งเกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอและเป็นสาเหตุให้เป็นลม โดยสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดความดันตกเนื่องจากเปลี่ยนอิริยาบถอาจมาจาก

  • ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) – เมื่อขาดน้ำ ปริมาณของเหลวในเลือดจะลดลงและระดับความดันโลหิตจะลดด้วย ทำให้ระบบประสาทไม่สามารถควบคุมระดับความดันให้ปกติ เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นลม
  • โรคเบาหวาน – ทำให้มีการถ่ายปัสสาวะบ่อย จึงทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ ระดับน้ำตาลในเลือดที่มากเกินไปสามารถทำลายประสาทที่ช่วยความคุมความดันโลหิต
  • ยา – ยาบางชนิดที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง ยาบางชนิดที่ใช้ลดความวิตกกังวล ความหดหู่ซึมเศร้า และอาการแพ้ เพราะยาเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุ่ให้ความดันโลหิตตกลง
  • มีภาวะทางระบบประสาท – เช่น โรคพาร์กินสัน

3) ปัญหาโรคหัวใจ ก็สามารถทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองชะงักและเป็นสาเหตุให้เป็นลม อาการเป็นลมชนิดนี้เรียกว่า Cardiac syncope

ความเสี่ยงในการเป็นลมชนิดนี้ขึ้นกับอายุ และความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้น หากมีภาวะดังต่อไปนี้

  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary heart disease)
  • เจ็บหน้าอก (Angina)
  • เคยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart attack)
  • การทำงานของหัวใจห้องล่างผิดปกติ (Ventricular dysfunction)
  • กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม (Cardiomyopathy)
  • คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ (Abnormal electrocardiogram)

แหล่งข้อมูล

  1. Fainting. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/003092.htm [2015, August 25].
  2. Understanding Fainting -- the Basics. http://www.webmd.com/brain/understanding-fainting-basics [2015, August 25].
  3. Fainting. http://www.nhs.uk/Conditions/Fainting/Pages/Introduction.aspx [2015, August 25].