เปลือกตาอักเสบ หรือหนังตาอักเสบ (Blepharitis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เปลือกตาอักเสบคืออะไร?พบบ่อยไหม?

เปลือกตาอักเสบ หรือ หนังตาอักเสบ (Blepharitis หรือ Eyelid inflammation)  คือ การอักเสบของผิวหนังบริเวณเปลือกตา/หนังตาและเนื้อเยื่อใกล้เคียงเช่น ขนตา, ต่อมสร้างน้ำตา(Tear film)ที่ขอบเปลือกตาที่เรียกว่า ‘ต่อมไมโบเมียน (Meibomian gland)’  โดยมักจะเกิดเป็น กับตาทั้ง 2 ข้างและเป็นเรื้อรังเป็นๆหายๆ นำมาซึ่งตาแห้ง, ขนตาเกเข้าตา, ตลอดจนผิวกระจกตาอักเสบ

ทั้งนี้อาจแบ่งเปลือกตาอักเสบ/หนังตาอักเสบ ได้เป็น 3 ชนิดได้แก่

  1. ชนิดที่เกิดจากเปลือกตาติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus ที่เรียกการอักเสบนี้ว่า Staphylococcal blepharitis
  2. Seborrheic blepharitis เป็นการอักเสบของผิวหนังรอบๆต่อมสร้างไขมันที่เปลือกตา
  3. Posterior blepharitis หรือมักเรียกกันว่า Meibomian gland dysfunction (MGD, ต่อมน้ำ ตาไมโบเมียนทำงานผิดปกติ) ที่เกิดการอักเสบค่อนไปทางด้านหลังของเปลือกตา เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของต่อม Meibomian ที่ปกติสร้างสารที่เรียกว่า ‘Meibum’ ที่ใส สีเหลืองๆ เป็นส่วนประกอบของชั้นไขมันที่อยู่บนสุดของชั้นน้ำตา เมื่อการทำงานของต่อมนี้ผิดปกติ Meibum ที่ออกมาจะข้นมีสีขาวคล้ายแป้งเปียกทำให้ตาแห้งจากการขาดน้ำตาชั้นไขมัน

เปลือกตาอักเสบ/หนังตาอักเสบ เป็นโรคพบบ่อย พบได้ทุกอายุทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ผู้หญิงและผู้ชายพบโรคได้ใกล้เคียงกัน

เปลือกตาอักเสบมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

เปลือกตาอักเสบ

สาเหตุเปลือกตาอักเสบ/หนังตาอักเสบ ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบคนที่มีปัจจัยเสี่ยงได้แก่

  • เป็นโรคภูมิแพ้
  • เป็นโรคต่อมน้ำตาไมโบเมียนทำงานผิดปกติ
  • มีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง
  • เป็นโรคเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis)
  • เป็นโรคโรซาเซีย (Rosacea)
  • มีเหาที่ขนตา

เปลือกตาอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาจแบ่งภาวะเปลือกตาอักเสบ/หนังตาอักเสบออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่

  1. การอักเสบส่วนหน้า:ได้แก่ การอักเสบของเปลือกตาชนิด Staphylococcal blepharitis และ ชนิด Seborrheic blepharitis
  2. การอักเสบส่วนหลัง:ได้แก่ การอักเสบที่เรียกกันว่า Meibomian gland dysfunction (MGD) ซึ่งจะไม่กล่าวถึงในบทความนี้ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ต่อมน้ำ ตาไมโบเมียนทำงานผิดปกติ)

     ทั้งนี้โดยทั่วไปเมื่อพูดถึงเปลือกตาอักเสบ/หนังตาอักเสบ (Blepharitis) มักจะกล่าวถึงเฉพาะการอักเสบส่วนหน้าซึ่งมี 2 ชนิดคือ ชนิด Staphylococcal blepharitis และ ชนิด Seborrheic blepharitis ซึ่งทั้ง 2 ชนิดมีอาการ/อาการแสดงของการอักเสบส่วนใหญ่คล้ายกัน แตกต่างกันแต่เพียงเล็กน้อย

ก. Staphylococcal blepharitis: เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus มักพบ ในคนอายุน้อย เชื้อต้นเหตุมักอยู่บริเวณใบหน้า โดยผู้ป่วยจะมีอาการ

  • แสบตา เคืองตา
  • หนังตา/เปลือกตาแดง
  • มีอาการคล้ายมีผงเข้าตา
  • อาการมักจะเป็นมากตอนเช้า พอสายหน่อยอาการจะดีขึ้น (ต่างกับโรคตาแห้งที่ตอนเช้ามักไม่มีอาการแต่จะมีอาการตอนบ่ายหรือเย็น)
  • เปลือกตาบวม โดยเฉพาะบริเวณขอบหนังตาจะเห็นหลอดเลือดบริเวณนั้นขยายตัว
  • มีสะเก็ดรอบๆขนตาเป็นวงๆร่วมกับเยื่อบุตา/เยือตาจะแดง (ตาแดง)
  • มักมีขนตาเปลี่ยนเป็นสีขาว มีขนตาร่วงได้มากกว่าเปลือกตาอักเสบชนิด Seborrheic blepharitis
  • และบริเวณส่วนผิวหนังของเปลือกตาอาจเป็นแผลถลอกมีเนื้อเยื่อหลุดลอกเป็นแผล(Ulcer) ให้เห็น ในขณะที่การอักเสบชนิด Seborrheic blepharitis ไม่ค่อยพบ

 

ข. สำหรับ Seborrheic blepharitis: มักพบในคนวัยกลางคน โดย

  • ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับ Staphylococcal blephalitis แต่อาการน้อยกว่า
  • มักพบในคนใบหน้ามัน
  • มีสะเก็ดเป็นเกล็ดมันๆแบบไขมันที่ หนังตา ขนตา ขนคิ้ว
  • มักพบในผู้ป่วยโรคเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis)

 อนึ่ง เปลือกตาอักเสบทั้ง 2 ชนิดอาจพบภาวะอักเสบเป็นแผลเล็กๆบริเวณด้านล่างกระจก ตา (Punctate epithelial erosion) แต่พบในชนิด Staphylococcal blepharitis ได้มากกว่า อีกทั้งในชนิด Staphylococcal blepharitis อาจพบการอักเสบที่ขอบกระจกตา (Marginal keratitis)ได้มากกว่าเช่นกัน

    ทั้งนี้เปลือกตาอักเสบทั้ง 2 ชนิดเมื่อเป็นนานเข้าจะเกิดภาวะตาแห้งจากขาดน้ำตาชั้น Aqueous ดังนั้นผู้ป่วยบางรายจึงอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการของตาแห้งได้

แพทย์วินิจฉัยเปลือกตาอักเสบได้อย่างไร?

    แพทย์วินิจฉัยเปลือกตา/หนังตาอักเสบจากลักษณะทางคลินิก คือ

  • อาศัยประวัติอาการเจ็บ ตา ตาแดง แสบตา เปลือกตาบวม คล้ายมีผงอยู่ในตา เป็นมากตอนเช้า พอสายหน่อยอาการดีขึ้น
  • ร่วมกับการตรวจตาพบหนังตาบวมแดง
  • ในการอักเสบชนิด Staphylococcal blepharitis จะมีสะเก็ดเป็นขุยๆ
  • หรือจะมีสะเก็ดเป็นมันในการอักเสบชนิด Seborrheic blepharitis
  • และอาจพบ
    • เยื่อบุตามีสีแดง (ตาแดง)
    • ภาวะตาแห้ง
    • ร่วมกับมีการอักเสบ/การเป็นแผลของผิวกระจกตา

ดูแลตัวเองเบื้องต้นอย่างไร?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ การดูแลตนเองในเบื้องต้น คือ

  1. ให้ความสำคัญของการดูแลอนามัยบริเวณเปลือกตา/หนังตาและผิวหนังรอบๆตา ควรล้าง เช็ดบริเวณเปลือกตาให้สะอาดอยู่เสมอ
  2. ในกรณีที่มีสะเก็ดหรือขุยๆบริเวณโคนขนตา ควรเช็ดออกด้วยน้ำอุ่นสะอาดและทำความสะอาดด้วยแชมพูสำหรับเด็กอ่อนซึ่งระคายต่อผิวหนัง/ต่อตาน้อยที่สุด
  3. หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางบริเวณขอบตา หากจำเป็นต้องใช้ ต้องรีบเช็ดออกทัน ทีหลังเสร็จสิ้นภารกิจ
  4. ประคบอุ่นบริเวณขอบตา ความอุ่นจะทำให้มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณที่อักเสบตลอดจน ละลายไขมันที่เป็นสารตกค้างอยู่ ทำให้ไขมันที่อุดตันไหลออกมาได้โดยง่าย ลดการอักเสบลง
  5. หยุดใช้เครื่องสำอางที่ตาจนกว่าโรคจะหายดี

 *อนึ่ง การทำความสะอาดและการประคบอุ่นตา ควรดูแลวันละประมาณ 2 - 4 ครั้งช่วงมีอาการมาก และลดลงเป็นประมาณวันละ 1 - 2 ครั้งเมื่อมีอาการน้อยหรือเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

 หากมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ หลังให้การดูแลตนเองในเบื้องต้น (ดังกล่าวในหัวข้อ การดูแลตนเอง) แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์/จักษุแพทย์/ไปโรงพยาบาล, แต่ถ้าอาการเป็นมากตั้งแต่แรกหรือมีอาการเลวลงระหว่างการดูแลตนเอง ต้องรีบพบแพทย์/ไปโรง พยาบาลไม่ต้องรอเวลา

ทั้งนี้เมื่อพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลแล้ว ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  1. อาการต่างๆแย่ลง
  2. มีอาการทางสายตาเช่น เห็นภาพไม่ชัด
  3. กังวลในอาการ

รักษาเปลือกตาอักเสบอย่างไร?

แพทย์มีหลักการรักษาเปลือกตาอักเสบ/หนังตาอักเสบ ดังนี้

  1. รักษาอนามัยเปลือกตา
  • เช็ดขอบตาและทำความสะอาดบริเวณเปลือกตา ันที่เป็นสารตกค้างอยู่ทำให้ไหลออกมาได้
  • ตามด้วยการป้ายยาปฏิชีวนะชนิดป้ายตาบริเวณเปลือกตากรณีเปลือกตาอักเสบชนิด Staphylococcal blepharitis
  • แต่หากเป็นการอักเสบชนิด Seborrheic blepharitis อาจไม่จำเป็นต้องป้ายยาปฏิชีวนะ แต่ควรรักษาผิวหนังรอบๆตาซึ่งมักจะมีภาวะ/โรค Seborrheic dermatitis ร่วมด้วย ร่วมกับการรักษาควบคุมโรค Seborrheic dermatitis
  1. ถ้ามีการอักเสบมากของเปลือกตา อาจใช้ยาป้ายตาชนิดที่มี Steroid ลดการอักเสบร่วมด้วย
  2. ให้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานร่วมด้วยในรายที่เป็นการอักเสบชนิด Staphylococcal blepharitis ซึ่งมักจะเป็นเรื้อรัง ยาปฏิชีวนะป้ายตาอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ
  3. ให้น้ำตาเทียมร่วมด้วยกรณีที่เป็นการอักเสบเรื้อรังแล้วมีอาการตาแห้งร่วมด้วย
  4. พิจารณายาหยอดตาที่มียาสเตียรอยด์ในรายที่มีอาการของกระจกตาอักเสบร่วมด้วยหรือที่มีการอักเสบที่รุนแรง
  5. หยุดใช้เครื่องสำอางที่ตาจนกว่าโรคจะหาย

*อนึ่ง การมีสุขภาพอนามัยที่ดีบริเวณเปลือกตา ใบหน้า ตลอดจนสุขภาพร่างกายทีดี ทำให้โรคนี้หายเร็วและไม่กลับเป็นอีก

เปลือกตาอักเสบมีผลแทรกซ้อนอย่างไร?

เปลือกตาอักเสบมีผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง เช่น

  1. เปลือกตาอักเสบที่เกิดขึ้นรอบๆขนตาอาจทำให้มีขนตาร่วง ขนตาเก ทำให้ปลายขนตาไปเขี่ยกระจกตาก่อให้เกิดอาการระคายเคืองตา บางรายต้องลงเอยด้วยการผ่าตัดแก้ไขขนตาเก
  2. เชื่อว่าอาจมีชีวพิษ(Toxin) จากแบคทีเรียที่ก่อโรคพลัดเข้าไปในน้ำตา ก่อให้เกิดแผลอักเสบเล็กๆที่กระจกตา (Superficial punctale keratitis) ที่มักเกิดบริเวณส่วนล่างของกระจกตา ทำให้มีอาการระคายเคืองตามากขึ้น
  3. โดยเฉพาะเปลือกตาอักเสบชนิด Staphylococcal blepharitis อาจทำให้เกิดการอักเสบบริเวณรอบนอกของกระจกตา (Marginal keratitis)
  4. มีบางรายอาจมีหลอดเลือดจากการอักเสบเกิดล้ำเข้าไปในกระจกตา (Pannus) ทำให้ตาแดงบ่อยๆ อีกทั้งตัว Pannus จะทำให้กระจกตาเป็นฝ้าขาว
  5. เกิดภาวะตาแห้งตามมาโดยเกิดจากน้ำตาขาดชั้นที่เรียว่า Aqueous ทำให้แสบตาเคืองตาเรื้อรัง

เปลือกตาอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

เปลือกตาอักเสบมีการพยากรณ์โรคที่ดี สามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็กลับเป็นซ้ำได้ถ้าไม่ รักษาความสะอาดของเปลือกตาและใบหน้า และ/หรือไม่สามารถควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้ได้ดี

ป้องกันเปลือกตาอักเสบอย่างไร?

ป้องกันเปลือกตาอักเสบได้โดย

  • รักษาความสะอาดเปลือกตา, ผิวหนังรอบตา, และที่ใบหน้า, โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้เครื่องสำอางที่ควรต้องล้างออกให้สะอาดก่อนเข้านอนทุกครั้ง
  • รักษาควบคุมโรคต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดเปลือกตาอักเสบ/หนังตาอักเสบ (ดังกล่าวในหัวข้อ สาเหตุ /ปัจจัยเสี่ยง) ให้ได้ดี

บรรณานุกรม

  1. https://eyewiki.aao.org/Blepharitis [2022,March12]
  2. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/blepharitis/diagnosis-treatment/drc-20370148 [2022,March12]
  3. https://medlineplus.gov/ency/article/001619.htm [2022,March12]