เบาหวานกับการตั้งครรภ์ (Diabetes mellitus and pregnancy)

สารบัญ

บทนำ

ปัจจุบัน ผู้ป่วยเบาหวาน หรือ เรียกย่อว่า โรค ดีเอ็ม (Diabetes mellitus ย่อว่า DM) พบมากขึ้น โดยเฉพาะเบาหวานชนิดที่2 ซึ่งพบในผู้ใหญ่ และอายุที่เริ่มพบโรคก็น้อยลง เช่น พบตั้งแต่อายุ 30 กว่าปี และแม้ในเด็กอ้วนมากๆก็พบเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งพบในเด็ก บุคคลเหล่านี้ยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ และมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ ซึ่งถ้าควบคุมเบาหวานไม่ดีก่อนตั้งครรภ์ ก็จะส่งผลให้การสร้างอวัยวะของทารกในครรภ์ผิดปกติ และมารดามีโอกาสแท้งบุตรสูง

ส่วนในผู้ที่ยังไม่เคยเป็นเบาหวาน ก็มีโอกาสเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes mellitus เรียกย่อว่า จีดีเอ็ม/GDM) เมื่อครรภ์ประมาณ 20-28 สัปดาห์ ซึ่งทารกในครรภ์มีการสร้างอวัยวะเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าควบคุมระดับน้ำตาลขณะตั้งครรภ์ไม่ดี อาจพบเด็กตัวโต อวัยวะใหญ่ คลอดยาก (จากติดไหล่ของทารก) อาจแท้ง หรือ ทารกตายระหว่างคลอดได้ ดังนั้นบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะผู้อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ควรมีความรู้เรื่องเบาหวานในคนตั้ง ครรภ์บ้าง เพื่อความปลอดภัยของแม่และลูก

เบาหวานขณะตั้งครรภ์มีกี่ลักษณะ?

เบาหวานกับการตั้งครรภแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้

  1. เป็นเบาหวานอยู่แล้วก่อนจะตั้งครรภ์ (Pre-Gestational Diabetes Mellitus หรือ Pre-GDM) ซึ่งพบได้ทั้งในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2

    การเป็นเบาหวานอยู่แล้วก่อนการตั้งครรภ์ จะมีความรุนแรงมากกว่า โดยตัวโรคจะมีผลต่อการสร้างอวัยวะของทารกในครรภ์ ซึ่งอาจผิดปกติ และทำให้เกิดการแท้งบุตรได้ง่าย

  2. เกิดเบาหวานขณะกำลังตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes Mellitus หรือ GDM) พบประมาณ 12.9% ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด มักพบหลังตั้งครรภ์ได้ 24 -28 สัปดาห์ อาจทำให้ทารกตัวโต คลอดยาก ไหล่ติด และแท้งในระยะใกล้คลอด

เป็นเบาหวานแล้วตั้งครรภ์จะเป็นอย่างไร?

การเป็นเบาหวานอยู่ก่อนแล้วตั้งครรภ์ ถ้าคุมเบาหวานได้ไม่ดีก่อนตั้งครรภ์จะเกิดผลเสียทั้งต่อเด็กและต่อแม่

  • ผลเสียต่อเด็ก
    1. ความผิดปกติแต่กำเนิด มักพบในเด็กที่เกิดจากแม่ที่เป็นเบาหวานมาก่อน หรือเป็นเบาหวานขณะท้องอ่อนๆ ในระยะที่ทารกในครรภ์กำลังสร้างอวัยวะ เช่น ไม่มีไต โรคหัวใจผิดปกติ โรคทางสมอง ไม่มีแขนขา ซึ่งถ้าความผิดปกติมากอาจทำให้ทารกอยู่ไม่ได้และเกิดการแท้งบุตรในที่สุด
    2. การแท้งบุตร เป็นผลจากภาวะน้ำตาลสูงในเลือดในแม่ ถ้าแท้งขณะตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก มักเกิดจากความผิดปกติอย่างรุนแรงของทารก
    3. เด็กตัวใหญ่ น้ำหนักแรกคลอดเกิน 4,000 กรัม ทารกพวกนี้มักแขนขาและไหล่ใหญ่ผิดปกติ เมื่อเทียบกับขนาดศีรษะ ทำให้คลอดยากติดไหล่ เส้นประสาทที่มาเลี้ยงแขนถูกดึงรั้งและถูกทำลาย แขนข้างที่เกิดไหล่ติดมักอ่อนแรง ซึ่งป้องกันโดยการผ่าตัดคลอด
    4. น้ำคร่ำมากผิดปกติ ทำให้เด็กตายขณะคลอด หรือคลอดก่อนกำหนด
    5. คลอดก่อนกำหนด ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานก่อนตั้งครรภ์ มีโอกาสคลอดก่อนกำ หนดประมาณ 8 เท่าของคนที่ไม่เป็นเบาหวาน อาจเนื่องจากภาวะตั้งครรภ์เป็นพิษในแม่ ภาวะเสี่ยงอื่นๆ ซึ่งอาจจะทำให้เด็กตายในท้องหรือคลอดออกมาตายจากระบบหายใจผิดปกติ
    6. เด็กคลอดออกมาแล้วเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมงพบได้สูงในยุคก่อนมียาอินซู ลิน (Insulin, ยารักษาเบาหวาน)
  • ผลเสียต่อแม่
    1. แม่มีโอกาสเป็นเบาหวานหลังคลอดประมาณ 2.6-70% โดยทั่วไปมักเกิดภาย ใน 5 ปีหลังเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามมีโอกาสเกิดเบาหวานหลัง 10 ปีไปแล้วก็ได้
    2. ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ พบได้ประมาณ 12-19.6%
    3. ภาวะครรภ์เป็นพิษ
    4. ในผู้ที่เป็นเบาหวานมาก่อนการตั้งครรภ์ อาจพบภาวะเบาหวานลงไต โดย เฉพาะในผู้ที่เคยมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะมาก่อน 75% จะมีโปรตีนรั่วมากขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ บางรายพบการทำงานของไตเสื่อมลง 70% จะพบความดันโลหิตสูงร่วมด้วย
    5. ผู้มีเบาหวานขึ้นตาอยู่ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ อาการทางตาจะกำเริบขึ้นเช่นกัน
    6. แม่จะมีอัตราตายสูงกว่าแม่ที่ไม่เป็นเบาหวาน

ในหญิงตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงเมตาบอลิสึมของคาร์โบไฮเดรตอย่างไร?

โดยปกติน้ำตาลในเลือดแม่ จะผ่านรกไปที่ทารกได้โดยตรง แต่ฮอร์โมนอินซูลิน (Insu lin) และ ฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) ซึ่งทั้ง 2 ชนิดเป็นฮอร์โมนควบคุมการใช้น้ำตาลของร่างกาย ไม่สามารถผ่านรกเข้าไปได้ ดังนั้นระดับน้ำตาลในทารกจึงขึ้นกับระดับน้ำตาลของแม่ ว่าสูงมากแค่ไหน

การเปลี่ยนแปลงเมตาบอลิสึม (Metabolism/การเผาผลาญ) ของคาร์โบไฮเดรตในหญิงตั้งครรภ์ มักเป็นผลจากฮอร์โมนที่สร้างจากรก ซึ่งจะออกมาต้านฤทธิฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งควบ คุมระดับน้ำตาลในเลือด การปลี่ยนแปลงนี้จะมากขึ้นเรื่อยๆเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น รกขนาดใหญ่ขึ้น ลักษณะน้ำตาลในเลือดของหญิงตั้งครรภ์ จะเปลี่ยนแปลงไปจากตอนไม่ตั้งครรภ์คือ

  1. เมื่องดอาหาร ระดับน้ำตาลจะต่ำกว่าผู้ไม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากรับประทานไม่ค่อยได้โดยเฉพาะใน 12-15 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ แต่ฮอร์โมนอินซูลินซึ่งคอยควบคุมระ ดับน้ำตาลยังทำงานปกติดี ซึ่งประสิทธิภาพของฮอร์โมนนี้จะลดลง เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น
  2. น้ำตาลหลังอาหารมักสูงกว่าผู้ไม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากภาวะดื้ออินซูลิน จากการที่ฮอร์โมนจากรก (Placental Lactogen Hormone) มีระดับสูงขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะในสัปดาห์หลังของการตั้งครรภ์ ตามขนาดของรกที่ใหญ่ขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพของอินซูลินลดลง

ใครคือกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้สูง?

กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้สูง คือ

  1. อายุมากกว่า 35 ปี
  2. มีประวัติเบาหวานในครอบครัว
  3. แท้งบุตรบ่อยๆ
  4. มีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อน หรือคลอดลูกหนักตั้งแต่ 4,000 กรัมขึ้นไป
  5. คลอดบุตรหลายคน

คัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้อย่างไร?

เนื่องจากการคัดกรองเบาหวานวิธีดั้งเดิม ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่พ.ศ.2507 ไม่สามารถคัดกรองได้ละเอียดพอ จึงทำให้ผู้เป็นเบาหวานบางรายไม่ผ่านการคัดกรอง ทำให้ไม่ได้รับการดู แลอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะระดับน้ำตาลที่อาจสูงระหว่างการตั้งครรภ์ รวมทั้งแม่อาจเป็นเบา หวานมาก่อนแต่ไม่รู้ตัว ทำให้ยังพบภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงที่เกิดกับทารกในครรภ์และแม่มาตลอด จึงมีกลุ่มแพทย์ต่อมไร้ท่อและสูติแพทย์นานาชาติ ได้ทำการวิจัยเพื่อหาคำตอบว่าระดับน้ำตาลของแม่น้อยที่สุดเท่าไร จึงจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่อแม่และทารกได้ โดยทำการศึกษา ใน 15 ศูนย์ 9 ประเทศทั่วโลกซึ่งต่างวัฒนธรรม และ หลายเชื้อชาติ จำ นวนหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการ 25,505 ราย ระยะเวลาการศึกษา 3 ปี ประเทศไทย (โรงพยาบาลราชวิถี) โดยนายแพทย์ ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์ก็เป็นหนึ่งในทีมผู้ศึกษา และเมื่อมกราคม 2554 สมาคมเบาหวานอเมริกา (American Diabetes Association หรือ ADA) ก็ได้ประกาศใช้เกณฑ์ใหม่นี้ในการคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (GDM) ซึ่งถ้าใช้เกณฑ์ใหม่นี้จะพบอัตราการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (GDM) 17.8% เมื่อเทียบกับการคัดกรองวิธีดั้ง เดิมซึ่งพบเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพียง 1.4% (การศึกษาจากโรงพยาบาลราชวิถี พ.ศ.2539 ) นอกจากนี้การคัดกรองวิธีใหม่ยังสามารถคัดกรองผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมาก่อนการตั้งครรภ์ด้วย ทำให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น และมากกว่า 50% มักใช้เพียงการควบคุมอาหาร โดยไม่ต้องฉีดอินซูลิน

ราชวิทยาลัยสูตินรีเวชแห่งประเทศไทยได้ประกาศให้ใช้แนวทางการคัดกรองนี้ได้ตั้งแต่ปลายปี 2555 แนวทางการคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์

  • ระยะที่ 1 คัดกรองเบาหวานก่อนตั้งครรภ์ (Overt Diabetes Mellitus) เป็นการคัดกรองแม่ที่อาจเป็นเบาหวานอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัย หรือการรักษาก่อนตั้งครรภ์ จะตรวจในหญิงตั้งครรภ์ทุกราย หรือเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูง โดยให้ตรวจน้ำตาลในเลือด เมื่อมาฝากครรภ์ครั้งแรกว่าเป็นเบาหวานก่อนการตั้งครรภ์ ใช้เกณฑ์การวินิจฉัยข้อใดข้อหนึ่งใน 3 ข้อ ดังนี้
    1. ค่าน้ำตาลในเลือดเมื่ออดอาหาร 8-12 ชั่วโมง (FPG, Fasting plasma glucose) มาก กว่าหรือเท่ากับ 126 mg/dl (มิลลิกรัม/เดซิลิตร)
    2. หรือ ค่าเบาหวานสะสม ที่เรียกว่า HbA1C มากกว่าหรือเท่ากับ 6.5%
    3. หรือ ค่าน้ำตาลในเลือดเมื่อไม่ได้อดอาหาร (RPG, Random plasma glucose) มาก กว่าหรือเท่ากับ 200 mg/dl

    ถ้าน้ำตาลในเลือดเมื่ออดอาหาร (FPG, Fasting plasma glucose) 92-125 mg/dl ให้วินิจฉัยว่าเป็น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (GDM) ไปเลย

    ถ้าน้ำตาลในเลือดเมื่ออดอาหาร (FPG) น้อยกว่า 92 mg/dl ถือว่าปกติ

    อนึ่ง ในกรณีกลุ่มเสี่ยงให้มารับการตรวจคัดกรองซ้ำโดยทำการตรวจเลือดดูค่าน้ำตาลที่เรียกว่า 75- g OGTT (75 กรัม Oral glucose tolerance test) เมื่ออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์อีกครั้ง

  • ระยะที่ 2 คัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (GDM ) ตรวจเมื่ออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ ใช้ 75-g OGTT โดยค่าปกติจะเป็นดังนี้
    • ค่าน้ำตาลในเลือด เมื่ออดอาหาร (FPG) น้อยกว่า 90 mg/dl
    • ค่าน้ำตาลในเลือด ที่ 1 ชม.หลังกินกลูโคส น้อยกว่า 180 mg/dl
    • ค่าน้ำตาลในเลือด ที่ 2 ชม.หลังกินกลูโคส น้อยกว่า 153 mg/dl

    อนึ่ง ถ้าค่าที่ตรวจได้ เท่าหรือสูงกว่าค่าปกติ แม้เพียงค่าใดค่าหนึ่ง ให้วินิจฉัยว่าเป็น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (GDM)

ควรเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ในผู้ที่เป็นเบาหวานอยู่แล้วอย่างไร?

ผู้ที่เป็นเบาหวานอยู่แล้ว ถ้าต้องการตั้งครรภ์จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนเตรียมตัว เพื่อให้การตั้งครรภ์ประสบผลสำเร็จ ได้ลูกที่ปกติ แม่และลูกปลอดภัยจากการคลอด โดย

  1. ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีใกล้เคียงคนปกติก่อน โดยคุมให้
    • ระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารอยู่ที่ 70-100 mg/dl
    • น้ำตาลในเลือดหลังอาหาร 1 ชั่วโมง น้อยกว่า 140 mg/dl
    • และค่าเบาหวานสะสม (HbA1c) ต่ำกว่า 6 %
    • และอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้ยาอินซูลินแทนยาเบาหวานชนิดกินทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
  2. หยุดยาบางตัวที่อาจมีผลทำให้ทารกในครรภ์พิการแต่กำเนิด เช่น ยาลดไข มันในเลือด ยาลดความดันโลหิตบางกลุ่ม เป็นต้น
  3. ในผู้ป่วยที่มีเบาหวานขึ้นตาอยู่แล้วต้องควบคุมให้อาการคงที่ก่อนตั้งครรภ์เสมอ

อนึ่ง เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์แล้วให้รีบพบสูติแพทย์เพื่อฝากครรภ์โดยเร็ว ถ้าภายใน 21 วันหลังตั้งครรภ์จะดีกว่าถ้ามาช้ากว่านั้น

รักษาผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์อย่างไร?

ไม่ว่าจะเป็นเบาหวานก่อนหรือขณะตั้งครรภ์ การควบคุมค่าน้ำตาลในเลือด เป้าหมายจะเหมือนกันคือ

น้ำตาลก่อนอาหารทุกมื้อ น้อยกว่า 95 mg/dl
น้ำตาลหลังอาหาร 1 ชั่วโมง น้อยกว่า 140 mg/dl
น้ำตาลหลังอาหาร 2 ชั่วโมง น้อยกว่า 120 mg/dl

ซึ่งการรักษาผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ได้แก่

  1. อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์

    เหมือนอาหารคนตั้งครรภ์ทั่วไป คือรับประทาน 3 มื้อ และอาจมีอาหารว่าง แต่ที่สำ คัญคือ ปริมาณอาหารต่อวัน และจำนวนอาหารคาร์โบไฮเดรต (แป้ง น้ำตาล และผลไม้) ต้องควบคุมให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงของหวาน ลดอาหารไขมัน เพิ่มอาหารที่มีกากใย เพิ่มวิตามินที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็ก โฟลิก (Folic acid) และแคลเซียม

  2. การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์

    การออกกำลังกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานมีความสำคัญ เพราะจะช่วยลดภา วะดื้อต่อยาอินซูลิน ทำให้ความต้องการยาอินซูลินในการควบคุมน้ำตาลน้อยลง จำเป็นต้องออกกำลังกายทุกรายถ้าไม่มีข้อห้าม เช่น ความดันโลหิตสูง และ/หรือ ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งบุตร

    ชนิดของการออกกำลังกาย ไม่ควรเป็นไปเพื่อการลดน้ำหนัก แต่อาจจะเป็นการเดิน หรือวิ่งเยาะๆ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เต้นรำ หรือการออกกำลังกายร่างกายส่วนบน วันละประมาณ 30 นา ที แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของสูตินรีแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วย

  3. ยาลดน้ำตาลสำหรับผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์

    แนะนำให้ใช้เป็นยาอินซูลิน เนื่องจากปลอดภัย และควบคุมน้ำตาลได้ดีกว่ายากิน

    สำหรับยาเบาหวานชนิดกินที่อาจจะใช้ได้ในกรณีที่ผู้ป่วยปฏิเสธยาฉีด ได้แก่ ไกลเบนคลาไมด์ (Glibenclamide) และเมทฟอร์มิน (Metformin) แต่ผลการควบคุมเบาหวานมักไม่ดีเท่าอินซูลิน

ผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์ควรคลอดด้วยวิธีใด?

ผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สามารถคลอดโดยวิธีปกติได้ แต่โอกาสคลอดโดยวิธีผ่า ตัดก็สูงกว่าคนที่ไม่เป็นเบาหวาน อาจเป็นเพราะเด็กตัวใหญ่ ท่าของทารกในครรภ์ผิดปกติ จึงคลอดยาก หรือมีภาวะครรภ์เป็นพิษ

ระหว่างตั้งครรภ์ เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

ผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ

  • ตั้งครรภ์เป็นพิษ
  • ทารกในครรภ์ผิดปกติ เช่น หยุดดิ้น (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง ปฏิทินการตั้ง ครรภ์ตามไตรมาส)
  • มีความผิดปกติอื่นๆ เช่น เบาหวานขึ้นตา เป็นต้น
  • -ความผิดปกติอื่นๆที่พบได้ในผู้ตั้งครรภ์ทั่วไป (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง ปฏิทินการตั้งครรภ์ตามไตรมาส)

หลังคลอดแล้วควรดูแลตนเองอย่างไร?

หลังคลอด ทันทีที่รกถูกดึงออกจากร่างกาย ฮอร์โมนจากรกซึ่งคอยต้านฤทธิอินซูลินจะหายไป ทำให้อินซูลินสามารถทำงานได้เต็มที่ แม่และเด็กอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนจะเข้าสู่ภาวะคงที่ใน 6 สัปดาห์

เนื่องจากผู้ที่เกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดเบาหวานในอนา คต จึงควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจน้ำตาลก่อนอาหาร หรือตรวจ OGTT เพื่อจะได้ทราบว่าเป็นปกติ หรือมีน้ำตาลผิดปกติเล็กน้อย หรือกลายเป็นเบาหวานจริงๆ ทั้งนี้

  1. 98% ของผู้เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะกลับเป็นปกติหลังคลอด
  2. 50% ของผู้เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีโอกาสเกิดเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ซ้ำในครรภ์ต่อไป

ถ้ายังตรวจไม่พบเบาหวานหลังคลอด ผู้ป่วยก็ควรมาตรวจคัดกรองเบาหวานตามคำแนะ นำของแพทย์ทุกปี เพราะมีโอกาสเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ในแต่ละปี

ผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์สามารถให้นมบุตรได้ไหม?

หลังคลอดแล้ว ผู้ป่วยสามารถให้นมบุตรได้ เพราะหลังคลอดระดับน้ำตาลในเลือดของแม่มักปกติ แต่ในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งอาจรักษาด้วยยาเบาหวานชนิดกินมาก่อน แล้วเปลี่ยนเป็นอินซูลินขณะตั้งครรภ์ ถ้าจะให้นมบุตรก็ควรฉีดอินซูลินต่อไป แต่ทั้งนี้ควรขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์ผู้ให้การรักษาเบาหวานเสมอ

หลังคลอดถ้าต้องการคุมกำเนิด ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีใด?

ผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สามารถใช้ยาคุมกำเนิดได้เหมือนคนทั่วไป ยกเว้นในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานลงไต โรคเบาหวานขึ้นตา แนะนำให้ใช้ยาคุมกำเนิดที่ไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) คือ มีฮอร์โมนโปรเจสเตโรน (Proges terone) อย่างเดียว ทั้งนี้การใช้ยาคุมกำเนิด ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อนเสมอ ไม่ควรซื้อยาใช้เอง หรือใช้การใส่ห่วงคุมกำเนิดแทน หรือให้ฝ่ายชายใช้ถุงยางอนามัย

แต่ถ้าต้องการมีบุตรอีก ควรขอคำปรึกษาล่วงหน้าจากสูตินรีแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์เสมอ

บรรณนานุกรม

  1. HAPO Study Cooperative Research Group,Metzger BE,Lowe LP, Dyer AR, etal . Hyperglycemia and Adverse Pregnancy Outcome (HAPO) Study Cooperative Research Group. Hyperglycemia and adverse pregnancy outcomes. N Engl J Med 2008;358:1991-2002
  2. International Association of Diabetes and Pregnancy Study Groups Consensus Panel. International Association of Diabetes and Pregnancy Study Groups Recommendation on the Diagnosis and Classification of Hyperglycemia in Pregnancy. Diabetes Care 2010;33:676-682
  3. American Diabetes Association Clinical Practice Recommendations 2011.Diabetes Care 2011;34:suppl 1: Detection and diagnosis of gestational diabetes mellitus S15, S65-S66
  4. Baker P N (2006) Physiology of pregnancy In: Obstetrics by ten teachers (18th Edition), pp 48-62. A Hodder Arnold Publication. ISBN: 0340816651.
  5. Barbieri RL (1999) Endocrine disorders in pregnancy In: Reproductive Endocrinology (4thedition). Yen SSC, Jaffe RB, Barbieri RL, Eds. Philadelphia, W.B. Saunder.