เบาจืด (Diabetes insipidus)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เบาจืด (Diabetes insipidus) หรือเรียกย่อว่า ดีไอ (DI) คือภาวะหรือโรคที่ผู้ป่วยมีอา การปัสสาวะปริมาณสูงมากในแต่ละวัน มัก’มากกว่า 2.5 ลิตรต่อวัน’ โดยมีรายงานสูงได้ถึงวันละ 10 - 15 ลิตร (คนปกติจะปัสสาวะวันละประมาณ 1 - 2 ลิตรขึ้นกับปริมาณน้ำที่ร่างกายได้รับ) ทั้งนี้ปัสสาวะจากโรคนี้จะเจือจางมาก ปริมาณสารต่างๆในปัสสาวะจะลดน้อยกว่าปกติมากจากที่ส่วนประกอบเกือบทั้งหมดของปัสสาวะจะเป็นน้ำ ดังนั้นผู้ป่วยโรคนี้จึงมักมีอาการกระหายน้ำมาก/ภาวะขาดน้ำร่วมด้วยเสมอ

เบาจืด เป็นคนละโรคกับ เบาหวาน เพียงแต่มีชื่อพ้องกันเพราะมีความผิดปกติในปัสสาวะด้วยกันทั้งคู่ แต่เบาหวานจะมีน้ำตาลในปัสสาวะ (คนปกติจะไม่มีน้ำตาลในปัสสาวะ) แต่เบาจืด ไม่มีน้ำตาลในปัสสาวะ ส่วนใหญ่ของปัสสาวะจะเป็นน้ำซึ่งปริมาณมากจนส่งผลให้สารต่างๆที่ก่อ สี กลิ่น ในปัสสาวะเจือจางลงมากจนปัสสาวะเกือบมีลักษณะเหมือนน้ำ

เบาจืดเป็นภาวะที่พบน้อย ประมาณ 3 รายต่อประชากร 100,000 คน มักพบในผู้ใหญ่ แต่ในเด็กอาจพบโรคนี้ได้บ้างโดยมักเป็นเด็กโต ทั้งนี้พบโรคนี้ได้ใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย

มีกลไกการเกิดเบาจืดอย่างไร?

เบาจืด

ในภาวะปกติ การควบคุมปริมาณปัสสาวะขึ้นอยู่กับฮอร์โมนชื่อ วาโสเพรสซิน หรืออีกชื่อ คือ เอดีเอช (Vasopressin หรือ ADH/Antidiuretic hormone หรืออีกชื่อคือ Arginine vaso pressin) ซึ่งปกติเป็นฮอร์โมนสร้างจากสมองส่วนลึกที่เรียกว่า ไฮโปธาลามัส (Hypothalamus ) และถูกนำมาเก็บไว้ที่กลีบหลังของต่อมใต้สมอง (Posterior lobe of pituitary gland หรือ Neurohypophysis) เพื่อหลั่งออกมาควบคุมการทำงานของไต ให้ดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่ร่างกายให้อยู่ในสมดุล ไม่ปล่อยออกมาเป็นปัสสาวะทั้งหมด

ดังนั้น เมื่อสมดุลในกระบวนการนี้เสียไป อาจโดยการสร้างฮอร์โมนเอดีเอชลดลง หรือเซลล์ไตไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเอดีเอช ไตจึงไม่สามารถดูดซึมน้ำกลับเข้าร่างกายได้หลัง จากเลือดผ่านไต ปริมาณปัสสาวะจึงเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ ซึ่งเรียกภาวะนี้ว่า “เบาจืด” โดยปริ มาณปัสสาวะจะเพิ่มมากน้อยเท่าใดขึ้นกับความรุนแรงของภาวะ/โรค

เบาจืดมีกี่ประเภท?

เบาจืด แบ่งตามกลไกการเกิดได้เป็น 4 ประเภท คือ 1.ประเภทเกิดจากความผิดปกติทางสมอง, 2.ประเภทเกิดจากความผิดปกติทางไต, 3.ประเภทเกิดจากความผิดปกติในการกระหายน้ำ, และ 4.ประเภทเกิดจากการตั้งครรภ์

1. จากความผิดปกติทางสมอง (Central หรือ Neurogenic diabetes insipidus): เป็นชนิดพบบ่อยที่สุด เกิดจากพยาธิสภาพหรือโรคในสมองที่ส่งผลให้การสร้างฮอร์โมน เอดีเอช/ADH ลดน้อยลง เช่น โรคเนื้องอกและมะเร็งสมอง โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง การผ่าตัดสมอง หรือจากอุบัติเหตุของสมอง

2. จากความผิดปกติทางไต (Nephrogenic diabetes insipidus): เป็นชนิดที่พบได้น้อย โดยเกิดจากไตไม่ตอบสนองหรือตอบสนองได้น้อยต่อฮอร์โมนเอดีเอช/ADH เช่น จากพันธุกรรม หรือจากผลข้างเคียงของยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยา Phenytoin ที่ใช้รักษาอาการชัก

3. จากความผิดปกติในการกระหายน้ำ (Dipsogenic diabetes insipidus): ชนิดนี้พบได้น้อยมากๆ โดยเกิดจากความผิดปกติของสมองไฮโปธาลามัสซึ่งนอกจากสร้างฮอร์โมนเอดีเอช/ADH และฮอร์โมนอีกหลายชนิดแล้ว ยังควบคุมเกี่ยวกับอารมณ์และจิตใจด้วย ซึ่งเมื่อเกิดความผิดปกติทางอารมณ์/จิตใจ ที่ก่อให้เกิดการกระหายน้ำอย่างมาก ผู้ป่วยจึงดื่มน้ำในปริมาณมหาศาล จึงส่งผลให้ปริมาณปัสสาวะเพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำที่ดื่ม

4. จากการตั้งครรภ์ (Gestational diabetes insipidus): ซึ่งสาเหตุนี้พบได้น้อยมากเช่นกัน โดยเกิดได้จากในขณะตั้งครรภ์ รกจะสร้างเอนไซม์ชื่อ Vasopressinase ซึ่งเป็นเอนไซม์ทำลายฮอร์โมนเอดีเอช/ADH ซึ่งหากมีการสร้างเอนไซม์นี้ในปริมาณมาก จะส่งผลให้ปริ มาณฮอร์โมนเอดีเอชลดลง ไตจึงดูดซึมน้ำกลับเข้าร่างกายน้อยลง ปัสสาวะจึงมีปริมาณสูงขึ้น ซึ่งโรคจากสาเหตุนี้จะหายได้เองภายหลังการคลอด

เบาจืดเกิดจากสาเหตุอะไร?

สาเหตุการเกิดเบาจืดเกือบทั้งหมดเป็นเบาจืดประเภทที่เกิดจากความผิดปกติทางสมอง ซึ่งในกลุ่มนี้

  • ประมาณ 30%ไม่ทราบสาเหตุ
  • ประมาณ 25 - 30% เกิดจากโรคเนื้องอกและมะเร็งสมอง (รวมทั้งของต่อมใต้สมอง)
  • ประมาณ 20% จากการผ่าตัดสมองเพื่อรักษาโรคต่างๆ
  • ประมาณ 15% จากอุบัติเหตุทางสมอง
  • และประมาณ 5 - 10% เกิดจากสาเหตุอื่นๆ

ส่วนสาเหตุอื่นๆที่อาจพบได้บ้าง เช่น

  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม พบได้ทั้งเบาจืดชนิดเกิดจากความผิดปกติทางสมอง หรือความผิดปกติทางไต
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยากันชักบางชนิด ยาเคมีบำบัดบางชนิด
  • โรคถุงน้ำในไต (Renal cystic disease)
  • โรคไตอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง เช่น โรคกรวยไตอักเสบเรื้อรัง
  • โรคไตเรื้อรัง เช่น จากนิ่วในไต
  • การขาดสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย เช่น มีแคลเซียมในเลือดสูง หรือมีโพแทส เซียมในเลือดต่ำ
  • สมองอักเสบติดเชื้อ เช่น จาก วัณโรค โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคสมองอักเสบ
  • จากโรคมะเร็งบางชนิดที่แพร่กระจายมาสมอง เช่น โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • จากการตั้งครรภ์ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ประเภทของเบาจืด

เบาจืดมีอาการอย่างไร?

อาการของเบาจืดแบ่งเป็น 2 อาการหลัก คือ อาการที่เกิดจากภาวะเบาจืดเอง, และอาการที่เกิดจากสาเหตุ

ก. อาการที่เกิดจากเบาจืด: ซึ่งเบาจืดทุกประเภทจะมีอาการเหมือนกัน โดยอาการหลักคือ ปัสสาวะปริมาณมาก บ่อยครั้ง แต่ละครั้งปริมาณมาก ทั้งกลางวันและกลางคืน ร่วมกับกระหายน้ำมาก

นอกจากนั้นอาการอื่นๆที่พบได้ คือ

  • อ่อนเพลีย จากการเสียเกลือแร่ไปในน้ำปัสสาวะ เพราะถึงแม้ปัสสาวะจะเจือจาง แต่ผลรวมทั้งหมดจะมีปริมาณเกลือแร่ในปัสสาวะสูง และจากขาดการพักผ่อน เพราะต้องตื่นมาปัสสาวะตลอดเวลา
  • ปัสสาวะรดที่นอน จากปัสสาวะปริมาณมาก จึงกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • อาการจากภาวะขาดน้ำ เพราะเสียน้ำมากจากปัสสาวะ คือ ตาลึกโหล ผิวแห้ง ปากคอแห้ง มึนงง วิงเวียนศีรษะ อาจสับสน ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว
  • อาการจากภาวะร่างกายขาดสมดุลของเกลือแร่ เช่น วิงเวียน สับสน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตะคริว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ

ข. อาการที่เกิดจากสาเหตุ: ซึ่งจะขึ้นกับแต่ละสาเหตุ จึงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคนตามสาเหตุ เช่น อาการจากโรคเนื้องอกและมะเร็งสมอง หรืออาการจากโรคกรวยไตอักเสบเรื้อรัง หรืออาการของโรคมะเร็งต่างๆ (เช่น โรคมะเร็งปอด) เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยเบาจืดได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยเบาจืดได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยและการรักษาโรคต่างๆทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติการกินยา/ใช้ยาต่างๆ ประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจเลือด เช่น
    • ดูค่าน้ำตาลเพื่อแยกจากโรคเบาหวาน
    • ดูค่าเกลือแร่ต่างๆ
    • ดูค่าฮอร์โมน เอดีเอช/ADH
  • การตรวจปัสสาวะดูค่า ความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ ซึ่งจะต่ำในภาวะเบาจืด
  • นอกจากนั้นคือการตรวจสืบค้นด้วยวิธีเฉพาะต่างๆเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เพื่อแยกประเภทของเบาจืด ซึ่งแพทย์/พยาบาล/เจ้าหน้าที่จะเป็นผู้อธิบายถึงวิธีตรวจด้วยวิธีการเหล่านี้ เช่น
    • การตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะในภาวะอดน้ำ (Water deprivation test)
    • การฉีดฮอร์โมนเอดีเอช (Vasopressin test)กระตุ้น เพื่อดูการตอบสนองของไต และ
    • อาจมีการตรวจภาพสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอเพื่อดูรอยโรคหรือก้อนเนื้อในสมอง

รักษาเบาจืดอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคเบาจืด คือการรักษาสาเหตุ และการรักษาอาการตามประเภทของเบาจืด

ก. การรักษาสาเหตุ: จะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • การรักษาเนื้องอกและมะเร็งสมอง
  • การรักษากรวยไตอักเสบเรื้อรัง หรือ
  • การรักษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น

ข. การรักษาอาการเบาจืด คือ การรักษาตามประเภทของเบาจืด เช่น

  • การให้ยาซึ่งออกฤทธิ์เช่นเดียวกับฮอร์โมนเอดีเอช/ADH (มีทั้งยากิน ฉีด และพ่นจมูก) ในการรักษาเบาจืดสาเหตุจากความผิดปกติทางสมอง หรือที่มีสาเหตุจากการตั้งครรภ์ ที่ส่งผลให้ฮอร์โมนเอดีเอชมีปริมาณลดลง
  • การให้ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะ เมื่อเบาจืดเป็นประเภทเกิดจากความผิดปกติทางไต (ยาจะมีคุณสมบัติกระตุ้นให้เซลล์ไตตอบสนองต่อฮอร์โมนเอดีเอชเพิ่มขึ้น)
  • และการจำกัดน้ำดื่ม ร่วมกับการรักษาทางจิตเวชในเบาจืดประเภทที่เกิดจากการกระหายน้ำมากๆ
  • การหยุดยา เปลี่ยนยา เมื่อเบาจืดเกิดจากผลข้างเคียงของยา
  • หรือการรักษาภาวะเสียสมดุลของเกลือแร่ เมื่อมีสาเหตุจากสมดุลของเกลือแร่ผิดปกติ เป็นต้น

*ทั้งนี้ ในกรณีแพทย์หาสาเหตุไม่พบ การรักษาจะเป็นเพียงการรักษาตามอาการของเบาจืด

เบาจืดมีผลข้างเคียงอย่างไร? รุนแรงไหม?

ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้จากภาวะเบาจืด คือ

  • ภาวะขาดน้ำ และ
  • ภาวะเสียสมดุลของเกลือแร่ ดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้ออาการฯ’

ในส่วนความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของโรคเบาจืดขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • อาการหายได้เมื่อเกิดจากการแพ้ยา หรือ
  • ไม่ทำให้เสียชีวิตในผู้ป่วยที่ไม่ทราบสาเหตุเพียงแต่เสียคุณภาพชีวิต
  • แต่ถ้าเกิดจากเนื้องอกและมะเร็งสมอง หรือโรคมะเร็งที่แพร่กระจายมายังสมอง ความรุนแรงของโรคก็จะสูงมากขึ้น

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

เมื่อมีอาการปัสสาวะมาก โดยเฉพาะเมื่อร่วมกับกระหายน้ำมาก ควรพบแพทย์/ไปโรง พยาบาลเสมอเพื่อแพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อการรักษาสาเหตุแต่เนิ่นๆซึ่งจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพดีขึ้น โอกาสควบคุมรักษาโรคได้จึงสูงขึ้น

เมื่อทราบว่าเป็นเบาจืดแล้ว การดูแลตนเองที่บ้านและการพบแพทย์ คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่ง ให้ถูกต้อง ครบถ้วน
  • พักผ่อนให้เพียงพอ โดยดื่มน้ำให้น้อยลง หรืองดดื่มน้ำก่อนเข้านอนอย่างน้อย 2 -3 ชั่วโมง เพื่อลดการตื่นมาปัสสาวะ
  • ดื่มน้ำให้พอเพียง โดยดื่มในช่วงเช้าและกลางวันมากกว่าช่วงเย็นและช่วงกลางคืน
  • กินผักผลไม้มากๆเพื่อให้ได้เกลือแร่ที่เพียงพอ
  • มีน้ำสะอาดติดตัวเสมอ
  • มีเอกสารระบุว่า เป็นใคร เป็นโรคอะไร กินยาอะไร รักษาอยู่ที่ไหนติดตัวเสมอ เพื่อภาวะฉุกเฉินจากภาวะขาดน้ำ จะได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ และ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น ตาพร่า หรือเห็นภาพซ้อน
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น ปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก ขึ้นผื่น
    • กังวลในอาการ

ป้องกันเบาจืดอย่างไร?

เมื่อดูจากสาเหตุ เบาจืดค่อนข้างป้องกันได้ยาก อย่างไรก็ตาม การป้องกันคือ การป้อง กันสาเหตุดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อสาเหตุฯ’ที่ป้องกันได้ ที่สำคัญและยังช่วยให้มีสุขภาพกาย สุข ภาพจิตที่ดี และสามารถช่วยป้องกันโรคติดเชื้ออื่นๆได้อีกด้วย คือ

  • การป้องกันการติดเชื้อในสมองและในไตด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • นอกจากนั้นคือ การป้องกันการเกิดนิ่วในไต (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง นิ่วในไต)

บรรณานุกรม

  1. Loh, J., and Verbalis, J. (2007). Diabetes insipidus as a complication after pituitary surgery. Nature Clinical Practice Endocrinology&Metabolism. 3, 489-494.
  2. Maghnie, M. et al. (2000). Central diabetes insipidus in children and young adults. N Engl J Med. 343, 998-1007
  3. http://www.gps.org/diabetes_insipidus.htm [2019,Feb23]
  4. https://emedicine.medscape.com/article/117648-overview#showall [2019,Feb23]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Nephrogenic_diabetes_insipidus [2019,Feb23]