เบนซิล แอลกอฮอล์ (Benzyl alcohol)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

เบนซิล แอลกอฮอล์ (Benzyl alcohol) คือ ยาที่ทางการแพทย์นำมาฆ่า/รักษาเหา, และเป็นยารักษาบรรเทาแผลในปาก, ยานี้เป็นสารเคมีที่มีสูตรโครงสร้างเป็นอะโรมาติก(Aromatic alcohol, สารประกอบแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งที่มีกลิ่นหอม), โดยธรรมชาติสารตัวนี้จะเป็นของเหลวที่ไม่มีสี มีกลิ่นหอมอ่อนๆ มีพิษต่ำ สามารถละลายใน น้ำ แอลกอฮอล์ และในไดเอทิลอีเทอร์ (Diethyl ether, สารเคมีชนิดหนึ่งที่ละเหยและติดไฟได้)

 สารเบนซิล แอลกอฮอล์ ถูกพบในพืชที่ขึ้นตามธรรมชาติหลายชนิด อาทิ พืชจำพวกผลไม้ต่างๆ ใบชา โดยเบนซิล แอลกอฮอล์จะปรากฏอยู่ในน้ำมันหอมระเหยของต้นพืช เช่น ดอกมะลิ ดอกผักตบชวา เป็นต้น

สำหรับประโยชน์ทางอุตสาหกรรม ได้มีการนำเบนซิล แอลกอฮอล์ไปผลิตเป็นตัวทำละลายน้ำหมึก  เป็นส่วนผสมของสี สารเคลือบเงาหรือแลคเกอร์ (Lacquers) เป็นส่วนผสมของสารประเภทอีพอกซี่เรซิ่น (Epoxy resin, ยางเรซินที่ทนไฟ) สบู่และน้ำหอม

ในด้านเภสัชภัณฑ์ ได้นำเบนซิล แอลกอฮอล์ ไปใช้เป็นส่วนผสมของยาฉีด, ยาใช้เฉพาะที่, ด้วยมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย, ทำให้ผลิตภัณฑ์คงทนและมีอายุการใช้งานได้นานระดับหนึ่ง

ปัจจุบัน เบนซิล แอลกอฮอล์ ยังใช้เป็นที่แพร่หลายของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางอีกด้วย บางประเทศได้นำเอาเบนซิล แอลกอฮอล์ที่เป็นสารละลายเข้มข้น 5% มาใช้เป็นยาฆ่าเหา (Head lice)กับผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป  

*ผลข้างเคียงที่พบเห็นกันบ่อยจากยาเบนซิล แอลกอฮอล์นี้ เช่น การแพ้ทางผิวหนัง, หากเข้าตาจะทำให้เกิดการระคายเคือง, และอาจก่อให้เกิดอาการที่เรียกว่า Coneal necrosis (กระจกตาเป็นแผล), และห้ามใช้กับเด็กแรกคลอด/เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนด้วยมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ หรือทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Gasping syndrome (ผิวหนังแตกเป็นแผลจากการใช้ยานี้, หายใจติดขัด/หายใจลำบาก และชัก), แต่ยังไม่พบรายงานว่าสารนี้กระตุ้นให้เกิดมะเร็ง,  หรือทำให้ทารกในครรภ์วิกลรูป/พิการใดๆ

สำหรับประเทศไทย มีผลิตภัณฑ์ประเภทยาอมแก้เจ็บคอที่ใช้เบนซิล แอลกอฮอล์มาเป็นสารสำคัญ นอกนั้นจะถูกใช้เป็นสารยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียเสียเป็นส่วนมาก

เบนซิล แอลกอฮอล์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยาเบนซิล แอลกอฮอล์มีสรรพคุณดังนี้

  • ใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยา เครื่องสำอาง และ/หรือ อาหารต่างๆ โดยมีวัตถุประ สงค์เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่อาจปนเปื้อนกับผลิตภัณฑ์ และช่วยยืดอายุการใช้ งานของผลิตภัณฑ์นั้นๆ
  • ใช้เป็นสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์ประเภทยาอมแก้เจ็บคอ/ยาลูกอม โดยมีส่วนประกอบของยาอื่นร่วมด้วยเช่น Cetylpyridinium Cl 1.33 มิลลิกรัม + Benzyl alcohol 6 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ใช้เป็นยาฆ่าเหาในรูปแบบของโลชั่น
  • ใช้ทารักษาแผลในปากในรูปแบบของยาเจล

เบนซิล แอลกอฮอล์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเบนซิล แอลกอฮอล์มีกลไกการออกฤทธิ์  เช่น

  • สำหรับโลชั่นฆ่าเหา: เบนซิล แอลกอฮอล์ ก่อให้เกิดกลไกปิดกั้นท่อหายใจของตัวเหา ส่งผลให้ตัวเหาขาดอากาศและตายลงในที่สุด
  • สำหรับสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์ต่างๆรวมทั้งในยาบางชนิดนอกเหนือจากโลชั่นฆ่าเหา: เบนซิล แอลกอฮอล์จะป้องกันไม่ให้แบคทีเรียเจริญเติบโต หยุดการแพร่พันธุ์และตายลงในที่สุด

เบนซิล แอลกอฮอล์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเบนซิล แอลกอฮอล์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:    

  • โลชั่นทาศีรษะฆ่าเหา: ขนาดความเข้มข้น 5% (5 กรัม/100 มิลลิลิตร)
  • ยาเจลป้ายแผลในปาก: ขนาดความเข้มข้น 10% (0.1 กรัม/กรัม)
  • ยาลูกอมแก้เจ็บคอ
  • สารยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในผลิตภัณฑ์ยาฉีด และ ยาใช้เฉพาะที่

การบริหารยาที่มีส่วนประกอบหลักของเบนซิล แอลกอฮอล์มีขนาดอย่างไร?

ในบทความนี้ ขอกล่าวถึงเฉพาะ 'ยาเบนซิล แอลกอฮอล์ที่เป็นโลชั่นทาฆ่าเหา' โดยขนาดการใช้ยานี้ ตัวอย่าง เช่น

  • ทาโลชั่นนี้ในบริเวณหนังศีรษะรวมถึงเส้นผม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 2 - 3 สัปดาห์

อนึ่งขั้นตอนปฏิบัติในการทาโลชั่นฯ: ก่อนใช้ยา/โลชั่นนี้ควรต้องอ่านเอกสารกำกับยาให้เข้าใจถึงวิธีใช้, ถ้าไม่เข้าใจให้สอบถามเพิ่มเติมจากแพทย์พยาบาลหรือเภสัชกร และกรณีเด็กที่ติดเหาควรให้ผู้ใหญ่เป็นผู้ทายาให้ โดยขั้นตอนหลักโดยทั่วไปในการใช้โลชั่นนี้ เช่น

  • ใช้ผ้าขนหนู/ผ้าสะอาดคลุมใบหน้าและบริเวณตา ขณะทาโลชั่นบนหนังศีรษะให้หลับตา
  • การทาโลชั่นควรทาให้ทั่วศีรษะไปจนกระทั่งหลังหูและหลังคอ
  • ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที (อาจใช้นาฬิกาจับเวลาช่วยเตือน)
  • หลังจาก 10 นาทีผ่านไปให้ล้างโลชั่นที่ทาออก โดยรินล้างออก ระวังไม่ให้ผ่านใบหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงโลชั่นเข้าตา จมูก และปาก
  • ล้างมือให้สะอาดอีกครั้งหลังสัมผัสโลชั่นในขั้นตอนที่ 4
  • เพื่อความมั่นใจและเป็นการป้องกันโลชั่นติดค้างที่หนังศีรษะ อาจใช้แชมพูสระผมล้างหนังศีรษะและเส้นผมอีกครั้ง
  • ใช้หวีเสนียด (หวีที่ใช้สางเหา) แปรงผม/หวีผมหลายๆครั้งเพื่อกำจัดซากเหาที่ตายรวมถึง ไข่เหาบนหนังศีรษะและเส้นผม
  • อาจต้องใช้โลชั่นเป็นครั้งที่ 2 หรือ 3 เพื่อกำจัดเหาที่เพิ่งฟักออกจากไข่
  • อุปกรณ์ที่สัมผัสกับหนังศีรษะและเส้นผม ให้ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำร้อนเช่น ปลอก หมอน หมอน ผ้าขนหนู หวี เพื่อทำลายเหาให้สิ้นซาก

 *****หมายเหตุ:

  • ห้ามใช้ยา/โลชั่นนี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนด้วยจะมีผลข้างเคียงจากยาสูง
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเบนซิล แอลกอฮอล์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบนซิล แอลกอฮอล์อาจส่ง ผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

เบนซิล แอลกอฮอล์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

การสัมผัสผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของยาเบนซิล แอลกอฮอล์อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองทางผิวหนังโดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน, และหากเข้าตาจะทำให้ตาอักเสบ ที่อาจรุนแรงจนเกิดกระจกตาเป็นแผลได้

มีข้อควรระวังการใช้เบนซิล แอลกอฮอล์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเบนซิล แอลกอฮอล์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์โลชั่นที่มีส่วนประกอบของเบนซิล แอลกอฮอล์กับเด็กทารกและเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 เดือนลงมา ด้วยจะทำให้เกิดภาวะหายใจติดขัด/หายใจลำบากและ/หรือเกิดอาการชัก
  • ห้ามมิให้ยานี้เข้าตา ด้วยจะทำให้เกิดการระคายเคืองและอาจเกิดกระจกตาเป็นแผล หากตัวผลิตภัณฑ์สัมผัสกับตา ให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันทีหลายๆครั้ง ถ้ามีอาการมากหลังล้างตาแล้วให้รีบไปโรงพยาบาลทันที
  • การใช้ผลิตภัณฑ์กับเด็ก(อายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป): ควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ และขณะใช้ผลิตภัณฑ์ต้องอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่
  • กรณีโลชั่นทาฆ่าเหา: ห้ามใช้เกินคำสั่งของแพทย์ (สัปดาห์ละครั้งใช้ 2 - 3 สัปดาห์)
  • สำหรับเจลป้ายปาก: ไม่ควรใช้ยาเกิน 7 วัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับ สตรีที่ตั้งครรภ์, และสตรีที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของเบนซิล แอลกอฮอล์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เบนซิล แอลกอฮอล์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

เนื่องจากเบนซิล แอลกอฮอล์ถูกใช้เป็นยาทาภายนอก/ยาใช้ภายนอก และสารยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในยาฉีดและในผลิตภัณฑ์ต่างๆ จึงยังไม่พบปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดรับประทานใดๆ

ควรเก็บรักษาเบนซิล แอลกอฮอล์อย่างไร?

ควรเก็บผลิตภัณฑ์ของยาเบนซิล แอลกอฮอล์: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เบนซิล แอลกอฮอล์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเบนซิล แอลกอฮอล์ มียาชื่อการค้าอื่นๆ และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
AVERTEX Benzyl Alcohol (อะเวอร์เทค เบนซิล แอลกอฮอล์) Blairex Laboratories, Inc.
Cepacol (เซพาคอล) sanofi-aventis
Ulesfia (ยูเลสเฟีย) Concordia pharmaceutical Inc,
Zilactin (ไซแลคติน) Blairex Laboratories, Inc.

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Benzyl_alcohol   [2023,April29]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Benzyl_chloride   [2023,April29]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Cepacol/?type=brief   [2023,April29]
  4. https://www.rxlist.com/ulesfia-drug.htm   [2023,April29]
  5. https://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/drugInfo.cfm?setid=0910d0d8-dc69-43bb-967d-08cab8ae917b   [2023,April29]
  6. https://books.google.co.th/books?id=26rSwpklHZcC&pg=PA167&lpg=PA167&dq=benzyl+alcohol+mechanism&source=bl&ots=wD2HBqdG9b&sig=5_lO9rU2BDn9MhBCiYWLE_BPMk4&hl=th&sa=X&ei=0BggVdKlHYORuQSN-IH4BA&ved=0CEoQ6AEwBjgU#v=onepage&q=benzyl%20alcohol%20mechanism&f=false   [2023,April29]