เบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์ (Beta-Lactamase inhibitors)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์(Beta-Lactamase inhibitors)เป็นกลุ่มยาปฏิชีวนะที่ใช้ต่อต้านแบคทีเรียชนิดที่ผลิตเอนไซม์ที่สามารทำลายโครงสร้างของยาปฏิชีวนะบางกลุ่ม เช่น กลุ่มเพนิซิลลิน(Penicillin) การใช้ยาเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์ มีข้อด้อยอยู่บางประการคือ ไม่สามารถใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียได้ด้วยตนเอง จะต้องใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะชนิดอื่น เพราะยาเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์จะทำหน้าที่ช่วยป้องกันมิให้ยาปฏิชีวนะที่ใช้ร่วมกันถูกแบคทีเรียทำลายนั่นเอง

ในทางคลินิก จะนำกลุ่มยาเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์ มาช่วยบำบัดอาการโรคที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียประเภท/ชนิดแกรมลบ (Gram-negative bacteria) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ทน/ดื้อต่อยาปฏิชีวนะที่มีโครงสร้างเคมีประเภทเบต้า-แลคแทม(Beta lactam, สารเคมีที่เป็นโครงสร้างของยาปฏิชีวนะบางกลุ่ม เช่น Penicillin โดยเรียกยาปฏิชีวนะกลุ่มนี้ว่า Beta lactam antibiotic) อย่างยากลุ่ม เพนิซิลลิน นั่นเอง

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์ จะเป็น ยาฉีด หรือ ยารับประทาน ที่ต้องผสมร่วมกับยาปฏิชีวนะชนิดอื่น โดยอาจจะจำแนกยาในหมวด/กลุ่มเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์ ออกเป็นรายการย่อยดังนี้

1. ยา Tebipenem: จัดเป็นยารุ่นที่ 1 ของกลุ่มยา Carbapenem โดยออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อ แบคทีเรียชนิด Mycobacterium tuberculosis

2. ยา 6-Methylidene Penam 2: จัดเป็นยาเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์รุ่นใหม่ ซึ่งมีฤทธิ์ต้านทานเอนไซม์เบต้า-แลคแทมมากกว่ายา Clavulanate ถึง 70 เท่า

3. ยา Clavulamic acid หรือ Clavulanate: ปกติมักใช้ร่วมกับยา Amoxicillin หรือ กับ ยา Ticarcillin

4. ยา Sulbactam: มักใช้ร่วมกับยา Ampicillin หรือยา Cefoperazone

5. ยา Tazobactam: ใช้ร่วมกับยา Piperacillin

นอกจากนี้ ยากลุ่มเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์ ยังแบ่งเป็นยาอีกกลุ่มย่อยที่เรียกว่า “Non-beta-lactam Beta-Lactamase inhibitors” ซึ่งมีรายการยาย่อยดังนี้

1. ยา Avibactam: ใช้ร่วมกับยา Ceftazidime และปัจจุบันได้ขยายผลโดยนำมาใช้ร่วมกับ Ceftaroline

2. ยา Relebactam: เป็นยาที่อยู่ระหว่างการศึกษาประสิทธิผลในทางคลินิก โดยจะนำไปรักษาอาการปอดบวม และการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดต่างๆ

อนึ่ง กลุ่มแบคทีเรียชนิดที่สามารถตอบสนองกับยาเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์ เช่นMycobacterium tuberculosis, Staphylococcus, Enterobacteriaceae, Haemophilus influenzae, Neisseria gonorrhoeae, Klebsiella pneumoniae, Citrobacter, และ Morganella

ทั้งนี้ การเลือกใช้ยาเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์ ชนิดใดในการรักษาโรค แพทย์จะต้องใช้ข้อมูลหลายประการมาประกอบกัน เช่น

  • การติดเชื้อเกิดที่อวัยวะหรือระบบอวัยวะใดของร่างกาย
  • ผู้ป่วยแพ้ยาในสูตรตำรับยานั้นๆหรือไม่
  • ระดับความรุนแรงของโรค
  • อายุ เพศ โรคประจำตัว ของผู้ป่วย
  • ยาอื่นๆที่ผู้ป่วยใช้อยู่ ทั้งนี้เพื่อเพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)

เบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เบต้าแลคแทมเมสอินฮิบิเตอร์

ยาเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์ มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ ป้องกันและบำบัดรักษาอาการป่วยเนื่องมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองกับยากลุ่มนี้ เช่น

  • การติดเชื้อ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
  • การติดเชื้อของอวัยวะในช่องท้อง(เยื่อบุช่องท้องอักเสบ)
  • การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง(เยื่อหุ้มสมองอักเสบ)
  • การติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
  • การติดเชื้อที่ผิวหนัง
  • การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน หรือในอวัยวะของระบบสืบพันธุ์ในสตรี

เบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์ มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์จากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า เบต้า-แลคแทมเมส(Beta lactamase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่แบคทีเรียสร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะบางกลุ่ม เช่น Penicillin จึงส่งผลให้แบคทีเรีย ไม่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะนั้นๆ จากกลไกดังกล่าวจึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ

เบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น

  • ยาชนิดรับประทาน และ
  • ยาฉีด

เบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์มีขนาดบริหารยาอย่างไร?

ด้วยในกลุ่มยาเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์ มีหลากหลายรายการตัวยาย่อย ขนาดรับประทาน/การใช้/การบริหารยานี้ จึงขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ โดยแพทย์จะอาศัยข้อมูลหลายข้อมูลของตัวผู้ป่วย เช่น อายุผู้ป่วย เพศ โรคประจำตัว ยาอื่นๆที่ผู้ป่วยใช้อยู่ รวมถึงเลือกใช้ยาเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์ให้ตรงตามอาการ/ ตามชนิดแบคทีเรียที่ก่อโรค และให้มีความปลอดภัยมากที่สุดต่อผู้ป่วย นอกจากนั้น หลายอาการโรคต้องใช้เวลาของการรับประทาน/การใช้ยาให้ครบตามระยะเวลามาตรฐานทางการแพทย์ถึงแม้อาการผู้ป่วยจะดีขึ้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียนั้นๆ ดังนั้นการบริหารยานี้ จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป บทความนี้จึงขอไม่กล่าวถึงขนาดการใช้ยานี้

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆอย่างเช่น โรคตับ โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์ตรงเวลา

เบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อตับ: เช่น เกิดดีซ่าน ตับอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดภาวะ Stevens-Johnson syndrome

มีข้อควรระวังการใช้เบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ระหว่างการใช้ยานี้แล้วอาการป่วยดีขึ้น ห้ามหยุดใช้ยานี้ทันที ต้องใช้ยานี้จนครบคอร์ส(Course)ของการรักษาตามคำสั่งแพทย์
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อพบเห็นอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง แน่นอึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้า-ปาก-คอเกิดอาการบวม กรณีพบเห็นอาการแพ้ยาให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ, ผู้ป่วยที่มีภาวะระบบทางเดินน้ำดีอุดตัน รวมถึงผู้ที่ติดสุรา
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาซัลแบคแทมร่วมกับยา Probenecid อาจทำให้ระดับยาซัลแบคแทมในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้น และเสี่ยงต่อการได้รับอาการข้างเคียงจากยาซัลแบคแทมตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Clavulanate ร่วมกับยา Leflunomide อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดผลเสีย ต่อตับ(ตับอักเสบ)ของผู้ป่วย หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

ควรเก็บ ยาเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์ ทั้งชนิด รับประทาน และชนิดยาฉีด ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ส่วนชนิดยาน้ำแขวนตะกอนที่ผสมน้ำแล้ว ให้เก็บภายใต้อุณหภูมิ 2- 8 องศาเซลเซียส

เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Amsubac (แอมซูแบค)KAPL
Bacticep (แบคทิเซฟ)M & H Manufacturing
Cebactam (ซีแบกแทม) L.B.S.
Cefpar SB (เซฟปาร์ เอสบี)KAPL
Cefper (เซฟเปอร์) Biolab
Prazone-S (พราโซน-เอส) Venus Remedies
Rexatam (เรกซาแทม)NCPC
Sulam (ซูแลม)Siam Bheasach
Sulbacilline (ซัลแบคซิลลิน) Daewoong Pharma
Sulbaccin (ซัลแบคซิน)MacroPhar
Sulcef (ซัลเซฟ) Siam Bheasach
Sulperazon (ซัลเพอราโซน)Pfizer
Sulpermed  (ซัลเพอรเมด)Millimed
Trifamox (ไตรฟามอก) IBL  Laboratories Bago S.A.
Zosyn (โซซิน)Pfizer

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/%CE%92-Lactamase_inhibitor#Mechanism_of_action [2016,Oct15]
  2. https://www.drugs.com/drug-interactions/amoxicillin-clavulanate-with-arava-189-0-1440-852.html [2016,Oct15]
  3. https://www.drugs.com/drug-class/beta-lactamase-inhibitors.html [2016,Oct15]
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2806661/ [2016,Oct15]
  5. http://jama.jamanetwork.com/article.aspx?articleid=193481 [2016,Oct15]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Tazobactam [2016,Oct15]