เบกซาโรทีน (Bexarotene)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

เบกซาโรทีน(Bexarotene) คือ ยาในกลุ่มเรตินอยด์(Retinoid)รุ่นที่3  ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาต่อต้านโรคมะเร็ง อย่างเช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Cutaneous T-cell lymphoma  รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน และยาทาภายนอก  ซึ่งเมื่อยานี้เข้าสู่กระแสเลือด จะเกิดการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้มากกว่า 99% และจะถูกตับทำลายโครงสร้างเคมีเดิม  ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง ก่อนที่ยาจะถูกขับทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ  ตัวยานี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งและกระตุ้นให้เกิดภาวะถดถอย/ก้อนเนื้อยุบลงของเนื้อร้ายดังกล่าว  

อย่างไรก็ตาม ยาเบกซาโรทีนสามารถส่งผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ต่อทารกในครรภ์มารดาได้  สตรีที่ต้องใช้ยาเบกซาโรทีนจะต้องได้รับการสืบค้นล่วงหน้าประมาณ 1 สัปดาห์เป็นอย่างต่ำเพื่อยืนยันว่า ไม่มีการตั้งครรภ์แน่นอนจึงจะใช้ยานี้ได้ และยังต้องทำการสืบค้นการตั้งครรภ์ทุกๆ 1 เดือนในระหว่างการใช้ยานี้                                        

ยังมีกลุ่มผู้ป่วยอีกหลายกลุ่มที่ไม่เหมาะกับการใช้ยาเบกซาโรทีน  อาทิ เช่น

  • สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร: ด้วยยานี้อาจปนเปื้อนออกมากับน้ำนมจนก่ออันตรายต่อทารกได้
  • ผู้ป่วยโรคไต, ผู้ที่มีไขมันคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง,  ผู้ป่วยเบาหวาน,  ผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์,  ผู้ป่วยโรคตับ,  ผู้ที่มีภาวะตับอ่อนอักเสบ,   ผู้ป่วยด้วยโรคของถุงน้ำดี(ถุงน้ำดีอักเสบ),  ผู้ป่วยโรคต้อกระจก,  รวมถึงผู้ที่ติดสุรา,  ด้วยยาเบกซาโรทีนอาจส่งผลให้อาการของผู้ป่วยกลุ่มนี้เลวลง 

นอกจากนั้น การใช้ยาเบกซาโรทีนร่วมกับยาอื่นๆบางตัว อาจทำให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)เกิดขึ้น อย่างเช่น ยา  Erythromycin,  Gemfibrozil,  Itraconazole,  Ketoconazole,  Phenobarbital,   Phenytoin  ฯลฯ 

 ทั้งนี้ ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของการใช้ยาเบกซาโรทีน โดยมีแนวทางปฏิบัติ  เช่น

  • หากพบอาการวิงเวียนหลังใช้ยานี้ จะต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆ และ/หรือการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ตัวยานี้อาจทำให้ภูมิต้านทาน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่อเชื้อโรคลดน้อยลง ผู้ใช้ยานี้จึงควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยบางกลุ่ม อย่างเช่น ผู้ที่เป็นโรคหวัด
  • ยานี้อาจทำให้เกิดผิวหนังไหม้ได้ง่ายเมื่อออกแดด(ผื่นแพ้แสงแดด)
  • ยานี้ไม่เหมาะที่จะใช้กับผู้ป่วยเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)

ยาเบกซาโรทีน จัดเป็นยาอันตรายสูง การใช้ยานี้ต้องคอยควบคุมความผิดปกติต่างๆของร่างกายที่อาจเกิดขึ้นตามมาและเฝ้าติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิดตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล  

กรณีที่ผู้ป่วยต้องการทราบข้อมูลการใช้ยาชนิดนี้เพิ่มเติม  สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา หรือจากเภสัชกรตามร้านขายยาได้โดยทั่วไป  

เบกซาโรทีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

เบกซาโรทีน

ยาเบกซาโรทีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Cutaneous T-cell lymphoma

เบกซาโรทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

 กลไกการออกฤทธิ์ของยาเบกซาโรทีนคือ ตัวยานี้จะควบคุมสารพันธุกรรม(DNA)ที่ควบคุมการแบ่งตัวเพื่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง  จึงส่งผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง  และทำให้ก้อนเนื้อมะเร็งเกิดภาวะถดถอย/ก้อนเนื้อมะเร็งยุบตัวลง ด้วยกลไกนี้จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

เบกซาโรทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเบกซาโรทีน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 75 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 75 มิลลิกรัม/แคปซูล

เบกซาโรทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเบกซาโรทีน มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 300 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนังทั้งตัว 1 ตารางเมตร(Body surface area/m2)/วัน โดยทั่วไป จะรับประทานยานี้วันละครั้ง พร้อมอาหาร
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอในด้านความปลอดภัยและขนาดการใช้ยานี้ ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*อนึ่ง:

  • แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานยานี้ เป็น 100-400 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1ตารางเมตร/วัน โดยขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วย
  • ระยะเวลาในการใช้ยานี้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง

ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเบกซาโรทีน  ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร  เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก  ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัดหายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น  โรคเบาหวาน  โรคต่อมไทรอยด์ โรคตับ  ตับอ่อนอักเสบ  โรคของถุงน้ำดี  โรคต้อกระจก  รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยา และ/หรืออาหารเสริมอะไรอยู่  เพราะยาเบกซาโรทีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร

 เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้ 

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเบกซาโรทีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยานี้ในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาเบกซาโรทีนตรงเวลา  

เบกซาโรทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเบกซาโรทีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย  เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น ลิ่มเลือดจับตัวเร็วขึ้น เกิดภาวะ Eosinophilia(เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil ในเลือดสูง) Thrombocythemia (เกล็ดเลือดสูงกว่าปกติ)
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง โปรตีนในเลือดต่ำ น้ำหนักตัวลดหรือไม่ก็เพิ่ม ระดับเอนไซม์อะมัยเลส(Amylase, เอนไซม์การทำงานของตับอ่อน)ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
  • ผลต่อกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ซึมเศร้า กระสับกระส่าย สับสน วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น คออักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอ ปอดบวม ไอเป็นเลือด
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดแผลที่ผิวหนัง เป็นสิว ผมร่วง เกิด ตุ่ม/ผื่นผิวหนัง
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขัด โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ไตทำงานผิดปกติ/ไตอักเสบ

 

มีข้อควรระวังการใช้เบกซาโรทีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเบกซาโรทีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร  และเด็ก
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ หรือใช้ยานี้นานเกินจากคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะผิวแห้งไหม้จากแสงแดด ระหว่างการใช้ยานี้ให้เลี่ยงการโดนแสงแดดหรืออากาศเย็นจัด
  • ระวังการใช้ยานี้ร่วมกับสบู่ หรือสารที่มีฤทธิ์ในการกัดผิวหนัง เช่น กรดมะนาว และแอลกอฮอล์ ด้วยจะทำให้ผิวหนังอักเสบ เกิดแผลได้ง่าย
  • ต้องเฝ้าระวังผลข้างเคียงอื่นๆที่อาจเกิดกับอวัยวะต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ ผลไม่พึงประสงค์  เช่น หัวใจ  เลือด  ตับ  ไต  ผิวหนัง กล้ามเนื้อ ตับอ่อน ต่อมไทรอยด์  รวมถึงระดับไขมันในเลือด  เป็นต้น
  • ปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์ พยาบาล อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

         ***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเบกซาโรทีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เบกซาโรทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเบกซาโรทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเบกซาโรทีน ร่วมกับยา Erythromycin, Gemfibrozil, Itraconazole,  Ketoconazole,  ด้วยสามารถทำให้ได้รับผลข้างเคียงจากยาเบกซาโรทีนมากยิ่งขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ ยาเบกซาโรทีน ร่วมกับยา Phenobarbital, Phenytoin, Rifampin,  ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาเบกซาโรทีนด้อยลงไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ ยาเบกซาโรทีน ร่วมกับ ยาInsulin,  Glyburide/ Glibenclamide,  Pioglitazone,  Vitamin A, ด้วยยาเบกซาโรทีน สามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยาดังกล่าวเหล่านี้มากขึ้น
  • การใช้ ยาเบกซาโรทีน ร่วมกับยา Lamivudine อาจทำให้เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ  กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน   แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาเบกซาโรทีนอย่างไร?

ควรเก็บยาเบกซาโรทีน: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่มิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง 
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์  

เบกซาโรทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเบกซาโรทีน  มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Tragretin (ทรากรีติน) Eisai Inc 2M (Med-Maker)

 

บรรณานุกรม

  1. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2011/021055s006pdf [2022,Jan1]
  2. https://www.drugs.com/mtm/bexarotene.html [2022,Jan1]  
  3. https://www.drugs.com/drug-interactions/bexarotene-index.html?filter=3&generic_only= [2022,Jan1]   
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Bexarotene [2022,Jan1]   
  5. https://go.drugbank.com/drugs/DB00307 [2022,Jan1]    
  6. https://hemonc.org/wiki/Bexarotene_(Targretin) [2022,Jan1]