เท้าใครใหญ่ที่สุด (ตอนที่ 2)

เท้าใครใหญ่ที่สุด-2

      

      โรคเท้าช้างมีการแพร่กระจายจากคนมาสู่คนด้วยการถูกยุงที่มีเชื้อกัด แล้วตัวอ่อน (Larvae) ก็จะอาศัยและเจริญเติบโตอยู่ในกระแสเลือด ต่อมน้ำเหลือง โดยใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในการโตเต็มที่หรือที่เรียกว่า Microfilariae ซึ่งสามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน 5-7 ปี

      เชื้อพยาธิจะมีผลกระทบต่อระบบต่อมน้ำเหลือง (Lymphatic system) ในร่างกาย ซึ่งมีหน้าที่กำจัดของเสียและพิษ ถ้าต่อมน้ำเหลืองอุดตัน จะทำให้การถ่ายของเสียเป็นไปได้ยาก มีการสะสมของน้ำเหลือง (Lymphatic fluid) ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการบวม

      โรคเท้าช้างถือเป็นโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย (Neglected tropical disease = NTD) เกิดมากในแอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และอเมริกาใต้ โดยยุงที่เป็นพาหะจะแตกต่างกันไปในแต่ละที่ เช่น ยุงก้นปล่อง (Anopheles) เป็นตัวพาหะในแถบสหรัฐอเมริกา ยุงรำคาญ (Culex quinquefasciatus) ยุงลาย (Aedes) และยุงเสือหรือยุงลายเสือ (Mansonia) เป็นตัวพาหะในแถบแปซิฟิกและเอเชีย

      โดยมีการประมาณว่า มีประชากรราว 120 ล้านคน ใน 73 ประเทศ ที่ติดเชื้อโรคนี้ และมี 40 ล้านคน ที่ต้องพิการจากโรคนี้ เนื่องจากเป็นโรคที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ดังนั้นคนที่เป็นโรคนี้มักมีความเสี่ยงในการติดเชื้อทุติยภูมิ (Secondary infection) มากขึ้น เพราะต่อมน้ำเหลืองทำงานได้ไม่เต็มที่

      ในระยะแรกที่ติดเชื้อจะไม่ปรากฏอาการ (Asymptomatic) จนมีพัฒนาการของโรค โดยอาการที่พบมากที่สุดของโรคเท้าช้างก็คือ อาการบวมตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งมักเกิดที่บริเวณ

  • ขา
  • อวัยวะสืบพันธุ์
  • เต้านม
  • แขน

      โดยบริเวณขาเป็นบริเวณที่พบมากที่สุด ซึ่งอาการบวมนี้สามารถทำให้ปวดและมีปัญหาในการเคลื่อนไหว นอกจากนี้ยังมีผลต่อผิวหนัง ซึ่งอาจจะมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • แห้ง
  • หนา
  • เป็นแผลพุผอง (Ulcerated)
  • สีเข็มกว่าปกติ
  • เป็นปุ่ม (Pitted)

และบางรายอาจมีอาการอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น เป็นไข้และหนาวสั่น

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเท้าช้าง ได้แก่

  • การอาศัยอยู่ในประเทศแถบร้อน (Tropical and subtropical areas)
  • การอยู่ในบริเวณที่มียุงมาก
  • การอยู่ในบริเวณที่มีสุขลักษณะไม่ดี

แหล่งข้อมูล:

  1. Elephantiasis: What to Know. https://www.webmd.com/a-to-z-guides/elephantiasis-what-to-know#1 [2018, February 8].
  2. Parasites - Lymphatic Filariasis.https://www.cdc.gov/parasites/lymphaticfilariasis/ [2018, February 8].
  3. What Is Elephantiasis? https://www.healthline.com/health/elephantiasis [2018, February 8].
  4. Lymphatic filariasis. http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs102/en/ [2018, February 8].