เทลมิซาร์แทน (Telmisartan)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเทลมิซาร์แทน(Telmisartan) เป็นยาในกลุ่ม แอนจิโอเทนซิน II รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Angiotensin II receptor antagonist) ทางคลินิกนำมารักษาโรคความดันโลหิตสูง (Essential hypertension) มีวางจำหน่ายตั้งแต่ ปีค.ศ.1999 (พ.ศ.2542) ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Micardis” รูปแบบผลิตภัณฑ์ยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน โดยหลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ยาเทลมิซาร์แทนจะกระจายตัวในกระแสเลือดได้ ประมาณ 42 – 100% จากนั้นจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้มากกว่า 99.5% ปกติร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านไปกับอุจจาระ

ยาเทลมิซาร์แทน ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับผู้ใหญ่เท่านั้น ห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์ด้วยตัวยาสามารถผ่านรกและเข้าถึงทารก จนอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและการทำงานของไตของทารกในครรภ์จนถึงขั้นทำให้ทารกเสียชีวิตได้ และยาเทลมิซาร์แทนยังสามารถขับผ่านออกทางน้ำนมมารดา จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรด้วยเช่นกัน

ข้อจำกัดอื่นของการใช้ยาเทลมิซาร์แทนที่ผู้ที่บริโภค/ผู้ป่วย ควรทราบเพิ่มเติมมีดังนี้ เช่น

  • หยุดการใช้ยานี้ แล้วมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน เมื่อพบว่ามีความดันโลหิตต่ำ หรือมีอาการบวมตามร่างกาย เช่น มือ-ใบหน้า-ปาก-ลิ้น และ/หรือหายใจลำบาก
  • การใช้ยาเทลมิซาร์แทนร่วมกับยาอื่นๆ ต้องขอคำปรึกษาจากแพทย์เท่านั้น ด้วยยาเทลมิซาร์แทน สามารถก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาอื่นๆได้ อย่างเช่น ยาขับปัสสาวะ, ยากลุ่มACE inhibitor, NSAID, Digoxin รวมถึงยาอื่นๆอีกหลายรายการที่ไม่สามารถระบุในบทความนี้ได้หมด
  • ยานี้สามารถก่อให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะจนถึงขั้นเป็นลม จึงห้ามรับประทานร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะทำให้ผลข้างเคียงดังกล่าว รุนแรงขึ้น
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ ด้วยเสี่ยงต่อ ผลข้างเคียงที่อาจตามมา หรือทำให้การลดความดันโลหิตล้มเหลว
  • การรับประทานยาเทลมิซาร์แทนเมื่อร่างกายอยู่ในภาวะเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำ เช่น ท้องเสีย จะสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตต่ำ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเทลมิซาร์แทนเมื่อมีอาการท้องเสีย หรือมีภาวะร่างกายขาดน้ำ
  • รับประทานยานี้ตรงตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด การรับประทานยานี้เกินขนาดจะทำให้เกิดอาการเป็นลม ชีพจรเต้นเร็วหรือไม่ก็ช้า วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง ซึ่งผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด ควรต้องนำส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • การใช้ยาลดความดันโลหิตที่รวมถึงยาเทลมิซาร์แทน ผู้ป่วยจะต้องมารับการตรวจร่างกายตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อติดตามผลการรักษา และเพื่อการตรวจเลือดเพื่อดูสมดุลของสารอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)ภายในเลือดที่อาจผิดปกติจากการใช้ยานี้ได้
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว อย่างเช่น หัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือด โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน โรคถุงน้ำดีอักเสบ ควรต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้งเมื่อเข้ามาตรวจรักษา ด้วยอาการโรคประจำตัวดังกล่าว อาจได้รับผลกระทบ(อาการแย่ลง)มากขึ้นเมื่อใช้ยาเทลมิซาร์แทน
  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มซาร์แทน

ยาเทลมิซาร์แทนสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่พบเห็นได้บ่อย เช่น ปวดหลัง ท้องเสีย ปวดไซนัส และแน่น/คัดจมูก

สำหรับตลาดยาของบ้านเรา อาจพบเห็นผลิตภัณฑ์ยาทลมิซาร์แทนที่มีสูตรตำรับเป็นยาเดี่ยว หรือประเภทที่มียาลดความดันโลหิตชนิดอื่นอย่าง Amlodipine ผสมอยู่ด้วย การจะเลือกใช้เป็นลักษณะยาเดี่ยวหรือใช้สูตรตำรับผสมนั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา ประกอบกับยาเทลมิซาร์แทนถูกจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย ผู้ป่วย/ผู้บริโภค จึงจำเป็นต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์แต่เพียงผู้เดียว

เทลมิซาร์แทนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เทลมิซาร์แทน

ยาเทลมิซาร์แทนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง
  • ลดความเสี่ยงของการเกิด โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือด

เทลมิซาร์แทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเทลมิซาร์แทนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์กับตัวรับ(Receptor) ที่อยู่ในผนังหลอดเลือดซึ่งถูกเรียกว่า AT1 receptor (Angiotensin 1 receptor) ส่งผลที่ต่อเนื่องทำให้สาร Angiotensin II ไม่สามารถแสดงฤทธิ์ที่ทำให้ หลอดเลือดหดตัว จึงเกิดการคลายตัวของหลอดเลือดตามมา นอกจากนี้ยังส่งผลลดการหลั่งสาร Aldosterone ซึ่งเป็นฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตที่ทำให้ร่างกายมีการคั่งของเกลือโซเดียมและน้ำ(ส่งผลเกี่ยวข้องกับการควบคุมความดันโลหิตของร่างกาย) จากกลไกดังกล่าวมาแล้วทั้งหมด ทำให้ยานี้มีฤทธิ์สนับสนุนการลดความดันโลหิตได้ตามสรรพคุณ

เทลมิซาร์แทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเทลมิซาร์แทนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 20, 40, และ 80 มิลลิกรัม / เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Telmisartan 40 มิลลิกรัม + Amlodipine besilate 5 มิลลิกรัม / เม็ด, Telmisartan 40 มิลลิกรัม + Amlodipine besilate 10 มิลลิกรัม / เม็ด, Telmisartan 80 มิลลิกรัม + Amlodipine besilate 5 มิลลิกรัม / เม็ด, Telmisartan 80 มิลลิกรัม + Amlodipine besilate 10 มิลลิกรัม / เม็ด

เทลมิซาร์แทนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเทลมิซาร์แทนมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. รักษาโรคความดันโลหิตสูง:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยา 40 มิลลิกรัม วันละครั้ง ขนาดที่คงระดับการรักษาอยู่ที่ 40 – 80 มิลลิกรัม วันละครั้ง

ข.ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือด:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 80 มิลลิกรัม วันละครั้ง

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ ก่อนหรือหลัง อาหารก็ได้
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกด้านความปลอดภัยและขนาดยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • หลังการใช้ยานี้ ตัวยาจะเริ่มแสดงฤทธิ์การลดความดันโลหิต ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อการปรับขนาดรับประทานที่เหมาะสม และจะเห็นประสิทธิผลสูงสุดของการใช้ยานี้ แพทย์จึงมักนัดผู้ป่วยประมาณ 4 สัปดาห์ หลังเริ่มรับประทานยานี้
  • การใช้เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แพทย์มักพิจารณาใช้ยานี้กับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป
  • ไม่ต้องปรับขนาดรับประทานในผู้ป่วยโรคไต และผู้ที่ต้องฟอกเลือดล้างไต
  • สำหรับผู้ป่วยโรคตับ แพทย์มักให้เริ่มรับประทานยานี้ในขนาดต่ำๆก่อน แล้วจึงค่อยๆพิจารณาปรับขนาดยาตามความเหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป
  • ขณะใช้ยานี้แล้วเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นมา ต้องหยุดใช้ยานี้ แล้วรีบมาพบสูติแพทย์เพื่อการฝากครรภ์คลอด พร้อมกับปรับแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเทลมิซาร์แทน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น หัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือด โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน โรคถุงน้ำดี/โรคถุงน้ำดีอักเสบ รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเทลมิซาร์แทน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเทลมิซาร์แทน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า

อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาเทลมิซาร์แทน ให้ตรงเวลา

เทลมิซาร์แทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเทลมิซาร์แทนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสียหรือท้องผูก อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน ปากแห้ง รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง กระเพาะอาหารอักเสบ เกิดริดสีดวงทวาร ลำไส้อักเสบ กรดไหลย้อน ปวดฟัน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ(Atrial fibrillation) หัวใจล้มเหลว
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ไซนัสอักเสบ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ หอบหืด เยื่อจมูกอักเสบ หยุดหายใจ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ กล้ามเนื้อเกร็งตัว/เป็นตะคริว ปวดเส้นเอ็น อาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะไมเกรน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน เป็นแผลที่ผิวหนังง่าย ผื่นผิวหนังอักเสบ ลมพิษ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ท่อปัสสาวะอักเสบ หลั่งน้ำอสุจิลำบาก
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: เช่น เกิดการติดเชื้อ อย่างเชื้อราได้ง่าย เกิดฝีได้ง่าย หูชั้นกลางอักเสบ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะเบาหวาน ระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง และ คอเลสเตอรอลในเลือดสูง ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหติจาง เกิดภาวะ Eosinophilia(เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil ในเลือดสูง) Thrombocytopenia(ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ)
  • ผลต่อไต: เช่น ไตวายเฉียบพลัน ค่าครีเอตินิ(Creatinine)ในเลือดเพิ่มสูง
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อตา: เช่น เยื่อตาอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้เทลมิซาร์แทนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเทลมิซาร์แทน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ระหว่างการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ควรต้องควบคุมอาหาร พักผ่อน ออกกำลังกาย ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร เสมอ
  • ตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หากพบว่ามีภาวะความดันโลหิตต่ำหรือสูงขณะที่มีการใช้ยาเทลมิซาร์แทน ให้ผู้ป่วยรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • แจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอื่นๆอะไรอยู่บ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาทลมิซาร์แทน
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเทลมิซาร์แทนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมถึงต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เทลมิซาร์แทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเทลมิซาร์แทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามรับประทานยาเทลมิซาร์แทนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ด้วยจะทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ ปวดศีรษะ วิงเวียน เป็นลม และหัวใจเต้นผิดปกติ
  • ห้ามใช้ยาเทลมิซาร์แทนร่วมกับยา Aliskiren ด้วยจะเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายกับไต/ไตอักเสบ ความดันโลหิตต่ำ ระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต หัวใจเต้นผิดจังหวะ จนถึงขั้นหัวใจหยุดเต้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเทลมิซาร์แทนร่วมกับยา Spironolactone ด้วยจะทำให้ระดับ เกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง และทำให้มีภาวะไตวายตามมา กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต หัวใจเต้นผิดจังหวะ จนถึงขั้นหยุดเต้น

ควรเก็บรักษาเทลมิซาร์แทนอย่างไร?

ควรเก็บยาเทลมิซาร์แทนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เทลมิซาร์แทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเทลมิซาร์แทนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Micardis (ไมคาร์ดิส)Boehringer Ingelheim
Twynsta (ทวินสตา)Boehringer Ingelheim

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Cortel-A, A2BH, Adcom H, Angitel-H, Amodep-TM, Arbitel-H, Aritel-A, Astel-H, Axeten-H, Cortel-H, Cilacar,Biotel-40H, Arbitel-H

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Telmisartan [2016,Nov19]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/twynsta/?type=brief [2016,Nov19]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/telmisartan/?type=brief&mtype=generic [2016,Nov19]
  4. https://www.drugs.com/pro/telmisartan.html [2016,Nov19]
  5. http://docs.boehringer-ingelheim.com/Prescribing%20Information/PIs/Micardis%20Tabs/MICARDIS20-40-80mg.PDF [2016,Nov19]
  6. http://www.mims.com/malaysia/drug/info/micardis [2016,Nov19]