เทมาซีแพม (Temazepam)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเทมาซีแพม(Temazepam) เป็นยาประเภทเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) ตัวยาจะทำให้ร่างกายรู้สึกง่วงนอน โดยตัวยามีระยะเวลาการออกฤทธิ์ได้นานปานกลาง ทางคลินิกจึงใช้ยานี้เป็นยานอนหลับ ยาเทมาซีแพมยัง ลดความวิตกกังวล บำบัดอาการชัก และช่วยคลายกล้ามเนื้ออีกด้วย แต่การใช้ตัวยานี้เป็นเวลานาน สามารถทำให้เกิดอาการติดยาขึ้นได้ รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยานี้เป็นยาชนิดรับประทาน

ยาเทมาซีแพม สามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้ถึงประมาณ 96% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลา ประมาณ 8–20 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด และผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่แพทย์ไม่สั่งจ่ายยาเทมาซีแพมให้ได้ อาทิเช่น

  • ผู้ที่แพ้ยานี้ และผู้ที่แพ้ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน
  • ผู้ที่มีการทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ เช่น กล้ามเนื้อกระตุก รวมถึงผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผู้ที่มีการหายใจผิดปกติชนิดที่หายใจช้ามากและหายใจตื้นหรือที่เรียกว่า Hypoventilation
  • ผู้ป่วยโรคต้อหินชนิดมุมเปิด (Acute narrow-angle glaucoma)
  • ผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ในระยะรุนแรง
  • ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ(นอนหลับแล้วหยุดหายใจ) รวมถึงผู้ที่มีภาวะหอบหืด
  • ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรง รวมถึงผู้ที่มีประวัติชอบทำร้ายตนเอง
  • ผู้ที่ติดสุราหรือติดยาเสพติด
  • สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาทุกประเภทซึ่งรวมเทมาซีแพมด้วยที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยา จึ่งต้องใช้ยาต่างๆตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

ทางคลินิก แพทย์จะเริ่มให้ยาเทมาซีแพม ที่ขนาดต่ำๆและใช้ยานี้เป็นระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น โดยอาจอยู่ในช่วง7–10 วัน ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการเสพติดยาของผู้ป่วย และการรับประทานยานี้ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น การปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นเอง *อาจทำให้ร่างกายได้รับยานี้เกินขนาดและส่งผลต่อสมองจนทำให้รู้สึกง่วงนอนมาก สับสน จนถึงขั้นโคม่า ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจขัด/หายใจลำบาก และความดันโลหิตต่ำ กรณีที่ทราบว่ารับประทานยานี้เกินขนาดและผู้ป่วยยังมีสติสัมปชัญญะดีพอ อาจใช้วิธีการกระตุ้นให้อาเจียนเอายาส่วนที่รับประทานเกินออก ในทางกลับกัน คือ ถ้าผู้ป่วยหมดสติ จะต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์จะทำการช่วยเหลือตามอาการ โดยเฉพาะเรื่องการหายใจและความดันโลหิตที่ต่ำลง

การใช้ยาเทมาซีแพมจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยไปสรรหาตัวยาชนิดนี้มารับประทานเอง ทั้งนี้ในประเทศไทยสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยานี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Euhypnos 20”

เทมาซีแพมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เทมาซีแพม

ยาเทมาซีแพมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยานอนหลับ
  • ช่วยสงบประสาท/ยาคลายเครียด และทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย(ยาคลายกล้ามเนื้อ)โดยให้กับผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด

เทมาซีแพมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเทมาซีแพม มีกลไกการออกฤทธิ์ที่สมอง โดยตัวยามีการออกฤทธิ์ที่บริเวณตัวรับ(Receptor)ที่เรียกว่า Benzodiazepine receptors ที่มีผลต่อการปรับสารสื่อประสาทของสมอง จนทำให้ร่างกายรู้สึกง่วงนอน ผ่อนคลาย จึงเป็นที่มาของสรรพคุณ

เทมาซีแพมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเทมาซีแพมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทานที่ประกอบด้วย Temazepam ขนาด 7.5 , 15 , 20 , 22.5 และ 30 มิลลิกรัม/แคปซูล

เทมาซีแพมมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเทมาซีแพมมีขนาดรับประทาน เช่น

ก.สำหรับช่วยให้นอนหลับ:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 7.5–30 มิลลิกรัม ครั้งเดียวก่อนนอน ขนาดรับประทานยาสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วัน ระยะเวลาที่ใช้ยานี้ต้องไม่เกิน 7–10 วัน
  • ผู้สูงอายุ: เริ่มต้นรับประทานยา 5 มิลลิกรัม ครั้งเดียวก่อนนอน ขนาดรับประทานยาสูงสุดไม่เกิน 10–20 มิลลิกรัม/วัน ระยะเวลาที่ใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์

ข.สำหรับให้ผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 20–40 มิลลิกรัม ประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • ผู้สูงอายุ: รับประทานยา 10–20 มิลลิกรัม ประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับการผ่าตัด

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา เทมาซีแพม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคจิตประสาท /โรคทางจิตเวช รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเทมาซีแพมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเทมาซีแพม สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่าให้รับประทานที่ขนาดปกติ

เทมาซีแพมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเทมาซีแพมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย วิงเวียน เดินเซ ตัวสั่น
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล ซึม มีอารมณ์เคลิบเคลิ้ม ฝันร้าย ประสาทหลอน เกิดความรู้สึกอยากทำร้ายตนเอง
  • ผลต่อตับ : เช่น ระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ปากแห้ง ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก ปวดท้อง อาเจียน รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่อออกมาก มีผื่นคัน ผมร่วง
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ก่อให้เกิดภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น ความรู้สึกทางเพศลดลง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง กล้ามเนื้อไม่มีแรง/กล้ามเนื้ออ่อนแรง ขาเป็นตะคริว
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า แสบ/เคืองตา หนังตากระตุก
  • ผลต่อไต: เช่น มีโปรตีนในปัสสาวะ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด/หายใจลำบาก

มีข้อควรระวังการใช้เทมาซีแพมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเทมาซีแพม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่นแคปซูลแตกหัก และ/หรือ เปลี่ยนสี
  • ห้ามใช้ยานี้ต่อเนื่องนานเกิน 7-10 วัน
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับยานอนหลับชนิดอื่นๆ
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีปัญหาของ ระบบทางเดินหายใจ กล้ามเนื้อ จิตประสาท ตับ ไต รวมถึงผู้ที่มีประวัติติดสุราหรือติดยาเสพติด ด้วยจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยานี้ที่รุนแรงจนอาจถึงเสียชีวิตได้
  • กรณีที่ใช้ยานี้แล้วไม่ได้ผล ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล โยไม่ต้องรอจนถึงวันแพทย์นัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเทมาซีแพมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เทมาซีแพมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเทมาซีแพมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาเทมาซีแพมร่วมกับยา Codeine , Fentanyl , Hydrocodone , Morphine, Tramodol , เพราะจะส่งผลกดระบบประสาทจนทำให้มีอาการหายใจขัด/หายใจลำบาก/ กดการหายใจ จนเข้าขั้นโคม่า และอาจเสียชีวิตในที่สุด
  • ห้ามรับประทานยาเทมาซีแพมร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยานี้เพิ่มมากขึ้น อาทิ วิงเวียน ง่วงนอน การครองสติทำได้ยาก
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเทมาซีแพมร่วมกับยา Chlorpheniramine , Diphenhydramine, เพราะจะก่อให้เกิดอาการ วิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน การตัดสินใจทำได้ไม่ดีเหมือนปกติ
  • ห้ามใช้ยาเทมาซีแพมร่วมกับยา Nitroglycerin , Nadolol, ด้วยจะก่อให้เกิดความดันโลหิตต่ำตามมา

ควรเก็บรักษาเทมาซีแพมอย่างไร?

ควรเก็บยาเทมาซีแพม ภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

เทมาซีแพมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเทมาซีแพม มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Restoril (เรสโทริล)Novartis Pharmaceuticals
Euhypnos 20 (ยูฮิปนอส 20) Pfizer

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/temazepam.html[2017,July29]
  2. https://www.drugs.com/drug-interactions/temazepam-index.html?filter=3&generic_only=[2017,July29]
  3. https://www.drugs.com/restoril-images.html[2017,July29]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/temazepam?mtype=generic[2017,July29]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Temazepam[2017,July29]