เทคนิคการเลือกซื้ออาหารสดและอาหารแห้ง ตอน 1 การเลือกซื้ออาหารประเภทเนื้อสัตว์

เทคนิคการเลือกซื้ออาหารสดและอาหารแห้ง-1

      

เมนูอร่อย สไตล์สุขภาพ

      

เทคนิคการเลือกซื้ออาหารสดและอาหารแห้ง

ตอน 1 การเลือกซื้ออาหารประเภทเนื้อสัตว์

      

      วัตถุดิบที่มีคุณภาพและการเตรียมอย่างถูกวิธีตามลักษณะของประเภทอาหาร นับเป็นอีกหนึ่งของความพิถีพิถันของความเริ่มต้นความสะอาด ความอร่อย น่ารับประทาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้มาจากเทคนิคการเลือกซื้ออาหารสดและอาหารแห้งนับเป็นขั้นตอนแรกในการทำอาหาร ที่จะส่งผลในขั้นตอนต่อๆไปให้เมนูอาหารจานโปรดของเราเป็นที่น่าดึงดูดใจของผู้พบเห็นและผู้รับประทาน การเลือกวัตถุดิบจึงจำเป็นต้องสดใหม่

      ตามประเภทตามชนิดของอาหาร ปลอดภัยจากการปนเปื้อนสารเคมีต่างๆอาหารบางชนิดต้องระบุวัน/ เดือน/ ปี ที่ผลิต และวันหมดอายุให้กับผู้บริโภค หากเป็นเนื้อสัตว์บางชนิดต้องผ่านการฆ่าที่ถูกวิธี ดังนั้นจึงมีวิธีการเลือกซื้อดังต่อไปนี้

      เนื้อหมู จะมีสีชมพูปนแดงเรื่อๆ นุ่ม ผิวเป็นมัน เนื้อแน่น ไม่มีกลิ่นเหม็นหรือเป็นเมือกลื่น ไม่ช้ำเลือด ไม่แห้ง จับดูไม่มียางเหนียว กดแล้วเนื้อเด้งกลับไม่เป็นรอยบุ๋ม ถ้าเป็นหมูสามชั้น ควรเลือกชั้นที่เนื้อมากกว่ามัน ไม่มีพังพืดแทรกระหว่างมัน

      ข้อแนะนำ ควรเลือกซื้อเนื้อหมูที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ เนื้อหมูที่ปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง ถ้าหั่นและปล่อยทิ้งไว้เนื้อหมูจะมีลักษณะแห้ง ส่วนเนื้อหมูปกติเมื่อหั่นทิ้งไว้จะพบน้ำซึมออกมาบริเวณผิว

      เนื้อวัว เนื้อวัวที่ดีควรมีสีแดงสม่ำเสมอตลอดทั้งชิ้น ควรมีไขมันแทรกกระจายอยู่ในเนื้อ เนื้อที่ติดมันควรมีมันสีขาวครีม ไม่ช้ำเลือด เมื่อใช้นิ้วกดแล้วจะไม่บุ๋ม ไม่มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว เหม็นเน่า หรือเมือกลื่น

      ข้อแนะนำ ควรเลือกซื้อเนื้อวัวที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ การเลือกซื้อเนื้อวัวแช่เย็น ให้สังเกตวันที่ผลิตบนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งไม่ควรเกิน 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ผลิตจนถึงวันที่ซื้อ

      เนื้อไก่ ควรมีลักษณะเนื้อแน่น ผิวตึงไม่เหี่ยวย่น สีเนื้อสด ใต้ปีก ขา ลำคอ ไม่มีสีคล้ำ ต้องไม่มีจุดเลือดออกหรือตุ๋มหนอง ก้านคอและรอยเชือดยังสดอยู่ ตาไม่ลึกบุ๋ม ไม่มีเมือกที่ผิวเนื้อ ใช้นิ้วแตะต้องไม่มีรอยบุ๋มตามแรงกด สัตว์ปีกที่มีลักษณะบ่งชี้อาจตายด้วยโรคติดเชื้อ จะมีเลือดคั่ง มีจุดแดงๆกระจายตามผิวหนัง

      ข้อแนะนำ ไก่แก่ ปลายเล็บมน หนังใต้อุ้งเท้าจะหนาแข็ง เดือยจะยาว ไก่อ่อน เล็บจะแหลม หนังใต้อุ้งเท้าจะบาง เดือยจะสั้น

      กุ้ง เลือกกุ้งที่หัวกับตัวติดกันแน่น ตาใส หัวกุ้งไม่มีสีน้ำตาล เนื้อใสแข็ง สีของเปลือกกุ้งตรงตามลักษณะชนิดของกุ้ง เช่นกุ้งก้ามกรามหรือกุ้งนาง เปลือกจะมีสีน้ำเงินอ่อน กุ้งแชบ๊วย เปลือกสด สีขาวใส

      หอย มีทั้งหอยทะเลและหอยน้ำจืด ผู้บริโภคมักคุ้นชินกับหอยทะเล เช่น หอยแครง หอยลาย หอยแมลงภู่ ฯลฯ ต้องสด ฝาหรือเปลือกควรปิดสนิท ไม่เปิดอ้า ไม่มีกลิ่นเหม็น เนื้อหอยควรมีสีตามธรรมชาติ ไม่ซีดจาง

      ปู ซื้อปูเป็นดีที่สุด หากไม่มีให้กดที่หน้าอก ปูดองจะแข็งกดไม่ลง ถ้าต้องการปูไข่ให้สังเกตที่ฝาปิดหน้าอกจะใหญ่ ใช้นิ้วดีดดูเสียงจะแน่นๆทึบๆ

      ปลา ต้องมีเหงือกสีแดงสด ไม่เขียวคล้ำ ไม่มีกลิ่นเหม็น ตาใสไม่ช้ำเลือดหรือขุ่นเป็นสีเทา เนื้อต้องแน่น กดไม่เป็นรอยบุ๋มอยู่นาน ถ้าเป็นเนื้อปลากรายขูดเนื้อปลาใส มีเลือดติดอยู่บ้าง

      ไข่ จะมีผิวนวลคล้ายมีแป้งเคลือบอยู่ที่เปลือกไข่(ถ้าเปลือกไข่เกลี้ยงแสดงว่าเป็นไข่เก่า) เปลือกไข่ต้องไม่แตกร้าว เปลือกสะอาดไม่มีมูลสัตว์หรือคราบสกปรกติดมา ไข่สดใหม่จะมีน้ำหนักมากกว่าไข่เก่า และเมื่อเขย่าดู

แหล่งข้อมูล:

  1. กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. คู่มือการเลือกซื้อ เนื้อ นม ไข่. [อินเตอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: 2555 [ เข้าถึงเมื่อ 25 พฤษภาคม 2561]. http://certify.dld.go.th./certify/images/Manual/06.pdf
  2. พงษ์ศักดิ์ ทรงพระนาม. อาหารไทย.กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น; 2547.
  3. สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหาร สำหรับผู้สัมผัสอาหารและผู้ประกอบกิจการด้านอาหาร.[อินเตอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: 2557 [ เข้าถึงเมื่อ 28 พฤษภาคม 2561].http://foodsan.anamai.moph.go.th/download/D_Media/Handbook/คู่มือหลักสูตรผู้สัมผัสอาหาร.pdf