เตตระเคน (Tetracaine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเตตระเคน(Tetracaine หรือ Tetracaine hydrochloride ย่อว่า Tetracaine HCl) หรือเรียกในชื่ออื่นว่า อะเมโทเคน(Amethocaine) ถูกใช้เป็นยาชาเฉพาะที่สำหรับผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดเล็ก หรือทำหัตถการทางการแพทย์ต่างๆ การใช้เตตระเคนทาบนผิวหนังหรือบนพื้นที่ของร่างกายเพียง 30 วินาที – 15 นาที ก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดอาการชาได้แล้ว ยาเตตระเคนมีหลายรูปแบบเภสัชภัณฑ์ เช่น ยาหยอดตา ยาฉีดเข้าน้ำไขสันหลัง ยาทาเฉพาะที่ ยาชาชนิดนี้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1941(พ.ศ.2484) และองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองไว้ให้บริการแก่ประชาชน

อย่างไรก็ตาม ยาเตตระเคนก็มีข้อจำกัดการใช้ที่ผู้บริโภคควรทราบดังนี้ เช่น

  • ยาเตตระเคนที่ใช้เป็นยาหยอดตาเพื่อระงับอาการเจ็บปวดตา ก่อนทำการรักษา ต้องใช้ตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ด้วยยาชาชนิดนี้มีฤทธิ์ลดการผลิตน้ำตา และ อาจเป็นผลเสียทำให้ตาแห้ง สิ่งสำคัญคือ การใช้ยาเตตระเคนกับตาเป็นเวลานานๆ สามารถทำให้กระจกตาขุ่นมัวได้
  • ห้ามใช้ยาเตตระเคนชนิดทาผิวหนังในบริเวณที่เป็นแผลเปิด เพื่อหลีกเลี่ยงการดูดซึมยาเตตระเคนเข้าสู่กระแสเลือด
  • ห้ามใช้ยาเตตระเคนหยอดหูชั้นกลาง ด้วยจะทำให้ตัวยาไหลผ่านท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) ผ่านเข้าสู่ลำคอ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการชาและไม่สามารถกลืนน้ำ หรืออาหารได้
  • ยาเตตระเคนสำหรับฉีดเข้าน้ำไขสันหลังเพื่อลดความรู้สึกเจ็บปวดของผู้ป่วยเมื่อต้องเข้ารับการทำหัตถการทางการแพทย์ต่างๆ ไม่เหมาะกับผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงหรือความดันโลหิตต่ำ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ หรือมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก ด้วยยาเตตระเคนจะทำให้อาการเจ็บป่วยดังกล่าวรุนแรงมากยิ่งขึ้น

เคยมีการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลการใช้ยาเตตระเคนในรูปสารละลายเปรียบเทียบกับยาลิโดเคนเจล(Lidocaine Gel)ในผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกพบว่ายาทั้งสองตัวมีประสิทธิผลดีทั้งคู่ คือช่วยลดอาการเจ็บขณะทำการผ่าตัดต้อกระจกแต่ก็มิได้หมายความว่า ประชาชนทั่วไปจะเลือกใช้ยาชาตัวใดตัวหนึ่งได้ตามใจชอบ ด้วยยาชาแทบทุกชนิดมีอันตรายและมีผลข้างเคียงต่างๆ การใช้ยาเตตระเคนไม่ว่าจะเป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์ใดๆก็ตาม ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ หรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาเตตระเคนได้จากเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป

เตตระเคนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เตตระเคน

ยาเตตระเคนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • เป็นยาหยอดตา เพื่อระงับอาการปวดเมื่อต้องนำสิ่งแปลกปลอมออกจากตา
  • ช่วยระงับปวดขณะทำหัตถการตรวจวัดความดันลูกตา หรือขณะผ่าตัดต้อกระจก
  • เป็นยาฉีดเข้าน้ำไขสันหลังเพื่อลดอาการเจ็บ/ปวดขณะทำหัตถการทางการแพทย์
  • ใช้ทาผิวหนังทำให้ชาก่อนแทงเข็มฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ

เตตระเคนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเตตระเคนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะปิดกั้นการส่งกระแสประสาทในบริเวณที่ได้รับยานี้ ทำให้ความรู้สึกต่างๆเช่น การสัมผัส การรับรู้ถึงอุณหภูมิ ถูกจำกัดหรือมีอาการชา จนเป็นผลให้แพทย์ทำหัตถการต่างๆได้สะดวกมากขึ้น

เตตระเคนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเตตระเคนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด ที่ประกอบด้วย Tetracaine HCl 1%
  • ยาหยอดตา ที่ประกอบด้วย Tetracaine 0.5%
  • ยาเจลทาผิวหนัง ที่ประกอบด้วย Tetracaine 40 มิลลิกรัม/กรัม

เตตระเคนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเตตระเคนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. กรณีใช้ยาเจลเตตระเคนทาผิวหนังก่อนแทงเข็มฉีดยา: โดยการใช้ยาเตตระเคนในลักษณะของเจลต้องกระทำโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น

  • ผู้ใหญ่: บีบยาลงบนผิวหนังที่ต้องการแทงเข็มฉีดยาโดยใช้ปริมาณตามคำแนะนำ ในเอกสารกำกับยา ห้ามถูนวดเจลบนผิวหนัง จากนั้นให้ใช้แผ่นฟิล์มพลาสติกที่แนบมากับผลิตภัณฑ์ปิดทับทิ้งไว้ ห้ามปิดทับแผ่นฟิล์มนานเกิน 1 ชั่วโมง เมื่อผู้ป่วยรู้สึกชาแล้ว ให้ดึงแผ่นฟิล์มออก แล้วจึงแทงเข็มฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำด้วยเทคนิคปลอดเชื้อตามปกติ
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลในเรื่องประสิทธิผล ขนาดยานี้ และผลข้างเคียงของยานี้ในเด็ก

ข. กรณีใช้ยาเตตระเคนชนิดฉีดเข้าน้ำไขสันหลัง: การใช้ยาเตตระเคนฉีดเข้าบริเวณโพรงไขสันหลัง ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้ ทั่วไป อาการชาของร่างกายจะมีระยะเวลาประมาณ 2–3 ชั่วโมง

ค. สำหรับหยอดตาเพื่อให้มีอาการชา:

  • ผู้ใหญ่: หยอดตา 1-2 หยด เมื่อรู้สึกชาแพทย์จึงจะทำหัตถการต่างๆ เช่น นำสิ่งแปลกปลอมออกจากตา

    กรณีผ่าตัดเล็กบริเวณตา แพทย์อาจต้องหยอดตา 1–2 หยด 1–3 ครั้ง ทุกๆ 5–10 นาที

    ห้ามหยอดตาที่มีลักษณะเป็นแผลเปิดเพราะจะทำให้ยาเตตระเคนดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว

  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลในเรื่องประสิทธิผล ขนาดยานี้ และผลข้างเคียงของยานี้ในเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเตตระเคน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ มีแผลติดเชื้อ เช่นเป็นโรคเริม รวมทั้งกำลัง กินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเตตระเคนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรเพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

เตตระเคนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเตตระเคนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบต่างๆอวัยวะของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น แน่นหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นช้า หัวใจหยุดเต้น ความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ตัวสั่น ง่วงนอน ชัก มีไข้
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ริมฝีปากบวม
  • ผลต่อตา: เช่น เกิดภาวะตาพร่า รูม่านตาเล็กลง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น กระสับกระส่าย รู้สึกสับสน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด หยุดหายใจ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน เหงื่อออกมาก

มีข้อควรระวังการใช้เตตระเคนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเตตระเคน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาเตตระเคน
  • ห้ามใช้ยาเตตระเคนชนิดเจลทาถูนวดผิวหนัง หรือทาเป็นบริเวณกว้างเกินความจำเป็น เพราะจะทำให้ตัวยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และเกิดผลกระทบต่อระบบการเต้น ของหัวใจ และอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำลง
  • ห้ามทายาเตตระเคนเจล ในบริเวณผิวหนังที่เป็นแผลเปิด
  • ขณะที่ได้รับยาฉีดเตตระเคนเข้าทางน้ำไขสันหลัง ต้องควบคุมสัญญาณชีพ ของร่างกายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอัตราการเต้นของหัวใจ และ ความดันโลหิต
  • กรณีหยอดตาด้วยยาเตตระเคนแล้วมีอาการแสบระคายเคือง ให้ผู้ป่วยรีบแจ้งแพทย์ ทราบทันที
  • การใช้ยาเตตระเคนกับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยาโดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • หลังจากได้รับยาเตตระเคน ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเตตระเคนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เตตระเคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเตตระเคนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเตตระเคนร่วมกับยา Sodium nitrite , Diazepam , Flurazepam และ Prilocaine ด้วยอาจทำให้เกิดภาวะ Methemoglobinemia ตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเตตระเคนร่วมกับยา Alprazolam , Chlordiazepoxide ด้วยจะ ทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ และง่วงนอนอย่างรุนแรง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเตตระเคนร่วมกับ ยาSulfadiazine เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาSulfadiazine ลดน้อยลง

ควรเก็บรักษาเตตระเคนอย่างไร?

ควรเก็บรักษาเตตระเคนดังนี้ เช่น

  • ควรเก็บยาเตตระเคนชนิดเจล และชนิดยาฉีด ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • สามารถเก็บยาเตตระเคนชนิดหยอดตา ภายใต้อุณหภูมิ 2–25 องศาเซลเซียส
  • ห้ามเก็บยาเตตระเคนทุกประเภท ในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว และห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ

เตตระเคนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเตตระเคน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Ametop (อะเมท็อป)Perstorp Specialty Chemicals AB
Pontocaine (พอนโทเคน)Abbott

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Tetracaine [2018,aug18]
  2. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2016/208135s000lbl.pdf [2018,aug18]
  3. https://www.drugs.com/mtm/pontocaine.html [2018,aug18]
  4. file:///C:/Users/apai/Downloads/20150915_8505cfa0-5f6c-4567-934e-e9be95a4b58e.pdf [2018,aug18]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/tetracaine/?type=brief&mtype=generic [2018,aug18]
  6. https://www.drugs.com/mtm/tetracaine-injection.html [2018,aug18]
  7. file:///C:/Users/apai/Downloads/20171212_b29124f7-c238-4961-b810-f4e7fabe4bb1.pdf [2018,aug18]
  8. https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.9055.pdf [2018,aug18]
  9. https://adacountyparamedics.org/wp-content/uploads/2017/08/Tetracaine_Hydrochloride.pdf [2018,aug18]
  10. https://www.drugs.com/drug-interactions/tetracaine-topical-index.html?filter=3&generic_only= [2018,aug18]
  11. https://www.drugs.com/pro/tetracaine.html#s-34089-3 [2018,aug18]
  12. https://www.medicinenet.com/tetracaine_ophthalmic_drops/article.htm#what_is_tetracaine_ophthalmic_drops_and_how_does_it_work_mechanism_of_action [2018,aug18]
  13. https://www.emedicinehealth.com/drug-tetracaine_topical/article_em.html [2018,aug18]
  14. https://www.drugs.com/drug-interactions/tetracaine-index.html?filter=2&generic_only= [2018,aug18]