เด็กจ้ำม่ำ น่ารักแต่ก็น่ากลัว (ตอนที่ 2)

เด็กจ้ำม่ำ น่ารักแต่ก็น่ากลัว

แพทย์หญิงอุมาพร ได้แนะนำถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ควบคุมอาหารและออกกำลังกายซึ่งเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้รักษา ผู้ป่วย และครอบครัว

สำหรับการป้องกัน แพทย์หญิงอุมาพร ได้แนะนำว่า โรคอ้วนป้องกันได้โดยการสร้างนิสัยการกินที่ดีตั้งแต่วัยทารก ควรให้ทารกกินนมแม่ กรณีจำเป็นต้องใช้นมผสม ควรชงให้ถูกสัดส่วนและให้ในปริมาณพอดี ไม่ป้อนนมหรืออาหารให้เด็กมากเกินไปเมื่อเด็กอิ่มแล้ว ไม่ควรฝึกให้เด็กกินอาหารรสหวานจัด หรืออาหารที่มีไขมันมากเกินไป รวมทั้งขนมจุบจิบที่ไม่มีประโยชน์

โดยหลักการรับประทานอาหารที่ถูกต้อง คือ ควรให้อาหารครบ 5 หมู่ ฝึกให้กินผักทุกมื้อตั้งแต่เป็นทารก สำหรับเด็กที่อายุ 1 ขวบขึ้นไปควรได้รับอาหารหลัก 3 มื้อ และอาหารว่าง 2 มื้อ ดื่มนมวันละ 2–3 แก้ว ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที ไม่ควรให้เด็กดูทีวีหรือเล่นเกมมากเกินไป ถ้าผู้ปกครองปฏิบัติดังนี้และทำตนเป็นตัวอย่างที่ดีด้วยแล้ว จะทำให้เด็กปลอดภัยจากโรคอ้วนได้อย่างแน่นอน

โรคอ้วนในเด็ก (Childhood obesity) เป็นสภาวะที่มีผลกระทบต่อเด็กและวัยรุ่นที่มีน้ำหนักตัวมากเกินอายุและความสูง เพราะแต่ละน้ำหนักที่มากเกินล้วนก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพเหมือนผู้ใหญ่ เช่น การเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง คลอเรสเตอรอลสูง เป็นต้น

ซึ่งนอกจากปัญหาสุขภาพแล้ว ยังสามารถก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการไม่เห็นคุณค่าในตนเอง (Poor self-esteem) และภาวะซึมเศร้าหดหู่ (Depression)

องค์การอนามัยโลกได้ระบุว่า ปัญหาโรคอ้วนในเด็กเป็นปัญหาที่รุนแรงทั่วโลกในศตวรรษที่ 21 โดยในปี พ.ศ.2558 มีเด็กที่เป็นโรคอ้วนอายุต่ำกว่า 5 ปี ประมาณ 42 ล้านคน โดยร้อยละ 50 อยู่ในประเทศแถบเอเชีย และร้อยละ 25 อยู่ในประเทศแถบแอฟริกา

โรคอ้วนในเด็กทำให้เด็กมีโอกาสสูงในการเสียชีวิตก่อนกำหนด (Premature death) และพิการ (Disability) เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ผู้ที่เป็นโรคอ้วนตั้งแต่เด็กมักจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนและเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม (Noncommunicable diseases = NCDs) ได้เร็วกว่าคนปกติ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น

การประเมินว่าเด็กเป็นโรคอ้วนหรือไม่ อาจทำได้ด้วยการหาค่าดัชนีมวลกาย (The body mass index = BMI) โดยมีสูตรคำนวณคือ

BMI = น้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม) / ความสูง (หน่วยเป็นเมตร) ยกกำลังสอง

แล้วนำไปเทียบกับตารางดัชนีมวลกายมาตราฐาน ซึ่งค่าดัชนีมวลกายของเด็กและวัยรุ่นจะขึ้นกับเพศ อายุ เผ่าพันธุ์ และการเจริญเติบโตทางเพศ (จะไม่ใช้การวัด BMI กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี)

แหล่งข้อมูล

1. เด็กไทยเกินล้าน ‘อ้วน’. http://www.thaihealth.or.th/Content/35776-เด็กไทยเกินล้าน ‘อ้วน’.html [2017, March 26].

2. ปัญหาโรคอ้วนในเด็ก. http://www.thaihealth.or.th/Content/27886-ปัญหาโรคอ้วนในเด็ก.html [2017, March 26].

3. Why does childhood overweight and obesity matter? http://www.who.int/dietphysicalactivity/childhood_consequences/en/ [2017, March 27].

4. Childhood Obesity. http://www.medicinenet.com/childhood_obesity/article.htm [2017, March 27].