เดกซ์โทรโมราไมด์ (Dextromoramide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเดกซ์โทรโมราไมด์(Dextromoramide หรือ Dextromoramide tartrate) เป็นยาแก้ปวดประเภทโอปิออยด์ (Opioid analgesic) ถูกค้นพบเมื่อปีค.ศ.1956(พ.ศ.2499) ยานี้มีฤทธิ์แรงกว่ามอร์ฟีน 3 เท่า แต่ก็มีระยะเวลาออกฤทธิ์สั้นกว่า ทางคลินิกมักจะใช้ยานี้มาบำบัดอาการปวดที่รุนแรง ทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง เช่น อาการปวดจากการผ่าตัด ปวดด้วยเหตุกระดูกหัก ปวดจากโรคมะเร็ง /เนื้องอกรวมถึงอาการปวดจากนิ่วในถุงน้ำดี รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเดกซ์โทรโมราไมด์เป็นได้ทั้ง ยารับประทาน ยาเหน็บทวาร ยาฉีด และยาพ่น

หลังจากตัวยาเดกซ์โทรโมราไมด์ดูดซึมเข้ากระแสเลือด ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3.5 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาเดกซ์โทรโมราไมด์ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ยาเดกซ์โทรโมราไมด์ มีผลข้างเคียงที่รุนแรงคือ กดการหายใจของร่างกายและยังก่อให้เกิดฤทธิ์เสพติด นอกจากนี้อาจพบเห็นอาการ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว และท้องผูก เกิดขึ้นได้เช่นกัน

จากข้อมูลทางคลินิก ส่งผลให้มีข้อห้ามใช้ยาเดกซ์โทรโมราไมด์กับผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอุดกั้น เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผู้ป่วยด้วยโรคตับวาย สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร รวมถึงเด็กเล็ก สำหรับผู้สูงอายุต้องลดขนาดการใช้ยานี้ลงมาด้วยมีรายงานว่ายานี้สามารถก่อให้เกิดผลเสีย/พิษ/ผลข้างเคียงรุนแรงต่อ ตับ ไต ต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ ซึ่งกรณีที่แพทย์ตรวจพบความผิดปกติของตับ-ไตหรือต่อมไทรอยด์ แพทย์จะสั่งหยุดการใช้ยานี้ทันที

อาจกล่าวได้ว่ายาเดกซ์โทรโมราไมด์มีประโยชน์บำบัดอาการปวดได้ดีก็จริง แต่ก็มีระยะเวลาในการใช้ยาเพียงสั้นๆ และด้วยมีฤทธิ์ที่ทำให้เสพติด ในต่างประเทศจึงจัดให้เป็นยาควบคุมตามกฎหมายยาเสพติด การใช้ยาชนิดนี้จะมีแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น และยาเดกซ์โทรโมราไมด์ ที่จำหน่ายในรูปแบบยาแผนปัจจุบันมีชื่อการค้าว่า Palfium

เดกซ์โทรโมราไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เดกซ์โทรโมราไมด์

ยาเดกซ์โทรโมราไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยาระงับอาการปวดหลังผ่าตัด
  • ระงับอาการปวดจากโรคมะเร็ง ปวดจากบาดแผลกระดูกหัก ปวดจากนิ่วในถุงน้ำดี

เดกซ์โทรโมราไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเดกซ์โทรโมราไมด์เป็นอนุพันธ์ยาโอปิออยด์(Opioid)ชนิดสังเคราะห์ มีกลไกการออกฤทธิ์ที่สมองในบริเวณ ตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อว่า Opioid receptor ส่งผลให้เกิดการปิดกั้นการนำกระแสประสาทประเภทความเจ็บปวด จากกลไกนี้เอง จึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ

เดกซ์โทรโมราไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเดกซ์โทรโมราไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีตัวยา Dextromoramide ขนาด 5 และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีดที่มีส่วนประกอบ Dextromoramide ขนาด 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

เดกซ์โทรโมราไมด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเดกซ์โทรโมราไมด์ มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. กรณียาฉีด:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ หรือเข้าใต้ผิวหนังครั้งละ 15 มิลลิกรัม

ข. กรณียารับประทาน:

  • ผู้ใหญ่: ให้คำนวณจากน้ำหนักของร่างกายโดยรับประทานยาครั้งละ 0.07–0.285 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

อนึ่ง:

  • ความถี่ในการใช้ยานี้ ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • ยานี้ใช้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเดกซ์โทรโมราไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเดกซ์โทรโมราไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเดกซ์โทรโมราไมด์ สามารถรับประทานยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานที่ขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาเดกซ์โทรโมราไมด์ อาจทำให้เกิดอาการปวด กำเริบ ขึ้น

เดกซ์โทรโมราไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

มีข้อสรุป ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ที่สามารถพบเห็นได้ทางคลินิกจากยาเดกซ์โทรโมราไมด์ เช่น การกดการหายใจของร่างกาย เกิดอาการ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว ท้องผูก เหงื่อออกมาก และการใช้ยานี้ยาวนาน จะก่อให้เกิดภาวะติดยาได้

มีข้อควรระวังการใช้เดกซ์โทรโมราไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเดกซ์โทรโมราไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และใช้ยานี้ตามที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก หรือมีเศษผงปนในน้ำยา
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นรับประทาน
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเดกซ์โทรโมราไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เดกซ์โทรโมราไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเดกซ์โทรโมราไมด์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเดกซ์โทรโมราไมด์ร่วมกับยา Acepromazine, Aclidinium, Alvimopan, Amiloride, Articaine, Asenapine, ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงสูงขึ้นจากยาทุกชนิดดังกล่าว
  • ห้ามใช้ยาเดกซ์โทรโมราไมด์ร่วมกับยา Azelastine ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะ กดระบบประสาทส่วนกลาง(กดสมอง) ยิ่งขึ้น

ควรเก็บรักษาเดกซ์โทรโมราไมด์อย่างไร?

ควรเก็บยาเดกซ์โทรโมราไมด์ ภายใต้คำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

เดกซ์โทรโมราไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเดกซ์โทรโมราไมด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Palfium (พอลเฟียม)Madrid

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Palphium, Jetrium, Dimorlin

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Dextromoramide[2017,Aug26]
  2. file:///C:/Users/apai/Downloads/150914-par-dextromoramide-acepharmaceuticals%20(3).pdf[2017,Aug26]
  3. http://www.druginfosys.com/drug.aspx?drugcode=227&type=1[2017,Aug26]
  4. http://derekwmeyer.blogspot.com/2011/09/eurojunk-revised.html[2017,Aug26]
  5. http://www.farmacia-museoaramburu.org/exposicion/palfium-ampollas/[2017,Aug26]