เซ็งจริงๆ เซ็งเรื้อรัง (ตอนที่ 6 และตอนจบ)

การดูแลตัวเองของผู้ป่วยเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การปรับตารางชีวิตประจำวันเมื่อรู้สึกว่ามีกำลังมากขึ้นจะช่วยให้ดีขึ้น เพราะจากการศึกษาพบว่าการวางโปรแกรมการออกกำลังกายที่ดีจะสามารถช่วยให้คนที่เป็นโรคนี้รู้สึกมีกำลังและรู้สึกดีขึ้น

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ควรระลึกเสมอก็คือ ผู้ป่วยโรคนี้สามารถทำได้เพียงการออกกำลังกายเบาๆ เท่านั้น การออกกำลังกายที่มากหรือเร่งทำในระดับที่สูงเร็วเกินไปอาจทำให้อาการแย่ลงได้

การรักษาแบบ Cognitive-behavioral therapy ที่สอนให้คนรู้จักเปลี่ยนวิธีการคิดและพฤติกรรม เพื่อจัดการกับอาการอ่อนเพลียและอาการอื่นๆ ก็สามารถช่วยผู้ป่วยโรคนี้ได้ แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การมีทัศนคติที่ดีจะช่วยคนที่เป็นโรคนี้ได้อย่างมาก ทั้งนี้เพราะว่าร่างกายมีความสัมพันธ์กับจิตใจ การปรึกษาแพทย์และเรียนรู้ที่จะจัดการกับอาการของตัวเองจะช่วยให้วงจรการเกิดอาการซ้ำมีน้อยลง

การดูแลตัวเอง (Home treatment) เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการรักษาโรคเซ็งเรื้อรัง โดยสามารถปฏิบัติดังนี้

  • ปรับตารางเวลาเพื่อใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาที่รู้สึกว่ามีกำลังดีและเหนื่อยน้อยให้เหมาะกับกิจกรรม แต่อย่าพยายามทำอะไรให้มากนัก เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการเหนื่อยเกินไป ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายวันในการฟื้นตัวได้
  • ปรับปรุงพฤติกรรมการนอน เช่น นอนเมื่อรู้สึกง่วง และตื่นในเวลาเดียวกันทุกวัน หากรู้สึกตื่นแล้วนานกว่า 15 นาที ให้ลุกขึ้นจากเตียง ออกจากห้องนอนไปทำกิจกรรมอื่นจนกว่าจะรู้สึกง่วงนอน
  • พยายามหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และยาสูบ ก่อนการเข้านอน
  • ปรับสภาพห้องนอนให้มีอุณหภูมิสบาย ขจัดแสงและเสียงที่รบกวน
  • อาจงีบหลับได้เมื่อจำเป็น (ประมาณ 20-60 นาที) แต่ไม่ควรทำในตอนเย็น
  • ออกกำลังกายเบาๆ เป็นประจำ การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (Stretching) เป็นการเริ่มต้นออกกำลังกายที่ดี การเดิน การว่ายน้ำ หรือขี่จักรยานก็เป็นประโยชน์ดี แต่ต้องรักษาภาวะสมดุลระหว่างการออกกำลังกายและอาการเหนื่อยเกินไปให้ดี
  • กินอาหารให้สมส่วน
  • อาจใช้การแพทย์ทางเลือก อย่าง การฝังเข็ม (Acupuncture) การนวด (Massage therapy) และการเล่นโยคะ เพื่อช่วยในการลดความเจ็บปวด ความเครียด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และรู้สึกดีขึ้น

    ส่วนการกินวิตามินและอาหารเสริมในผู้ป่วยโรคเรื้อรังนั้นอาจช่วยได้บ้าง แต่อย่างไรก็ดีผลการวิจัยยังมีค่อนข้างน้อยว่าใช้ได้ผลหรือไม่

    นอกจากนี้ การไปพบแพทย์ทุก 2-3 เดือน จะช่วยในการติดตามพัฒนาการและประเมินผลการเปลี่ยนแปลงของอาการที่เป็นไปได้ว่าอาการอ่อนล้าอาจมาจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่โรคเซ็งเรื้อรังก็ได้

    แหล่งข้อมูล

    1. Chronic Fatigue Syndrome (CFS) http://www.cdc.gov/cfs/general/index.html [2014, May 2].
    2. Chronic Fatigue Syndrome. http://www.webmd.com/chronic-fatigue-syndrome/chronic-fatigue-syndrome-topic-overview [2014, May 2].