เซโฟแทกซีม (Cefotaxime)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเซโฟแทกซีม (Cefotaxime) เป็นยาในกลุ่มเซฟาโลสปอริน (Cephalosorin) รุ่นที่ 3 มีฤทธิ์ต่อต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมลบและแกรมบวก (Gram-negative and Gram-positive) ถูกพัฒนาโดยบริษัทยา Hoechst-Roussel Pharmaceuticals ประเทศเยอรมันในปลายปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) สรรพคุณทางคลินิกโดยทั่วไปจะนำยานี้มาใช้รักษาการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน การติดเชื้อในกระแสเลือด/ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ การติดเชื้อในช่องท้อง ในกระดูก และในสมอง โดยสามารถออกฤทธิ์และครอบคลุมเชื้อแบคทีเรียชนิดต่างๆได้หลากหลายชนิดเช่น Staphylococcus aureus, Staphylococcus epidermidis, Streptococcus pneumoniae, Staphylococcus pyogenes, Escherichia coli, Haemophilus influenzae, Neisseria gonorrhoeae, Neisseria meningitides, Klebsiella species, Burkholderia cepacia, Proteus mirabilis, Proteus vulgaris, Enterobacter species, Bacteroides species และ Fusobacterium species

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาเซโฟแทกซีมจะเป็นยาฉีด โดยสามารถฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือ เข้าหลอดเลือดก็ได้ เมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดจะมีการกระจายตัวไปตามเนื้อเยื่อและของเหลวตามร่างกายเช่น น้ำไขสันหลัง เยื่อหุ้มสมอง ยานี้ยังสามารถซึมผ่านรกและเข้าไปในน้ำนมของมารดาได้ ตัวยาเซโฟแทกซีมจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 40% ตับจะเป็นอวัยวะที่เปลี่ยนโครงสร้างของยาเซโฟแทกซีมไปเป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์ (Inactive metabolites) และเป็นสารเดสอะเซทิลเซโฟแทกซีม (Desacetyl cefotaxime, สารที่ออกฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย) ร่างกายคนเราต้องใช้เวลาประมาณ 1 - 1.5 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาเซโฟแทกซีมและสารเดสอะเซทิลเซโฟแทกซีมออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและบางส่วนไปกับอุจจาระ

ทั้งนี้มีข้อจำกัดและข้อระวังที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนการใช้ยาเซโฟแทกซีมเช่น

  • ต้องไม่ใช่ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยาเซโฟแทกซีมหรือแพ้ยาในกลุ่มเซฟาโลสปอรินมาก่อน
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรเป็นกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบ (ผลข้างเคียง) จากการใช้ยาทุกประเภทซึ่งรวมยาเซโฟแทกซีมด้วย
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างหากได้รับยาเซโฟแทกซีมก็อาจจะทำให้มีอาการกำเริบได้มากยิ่งขึ้นเช่น โรคในระบบทางเดินอาหาร โรคตับ โรคไต โรคเลือดที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด
  • ผู้ที่มีการใช้ยาชนิดอื่นอยู่ก่อนอาจส่งผลการรักษาต่อยาเซโฟแทกซีมด้วยอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาเซโฟแทกซีมกับยากลุ่มต่างๆเหล่านั้นเช่น Aminoglycosides, Furosemide, ยากลุ่ม NSAIDs, Amphotericin B, Cyclosporine, Tacrolimus, Vancomycin ซึ่งยาเหล่านี้ล้วนแล้วสามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของไตผู้ป่วยได้ทั้งสิ้น
  • การใช้ยานี้เป็นเวลานานบ่อยถี่เกินไปอาจทำให้ร่างกายผู้ป่วยมีการติดเชื้อที่ไม่ตอบสนองต่อยานี้ได้อย่างเช่น ติดเชื้อราตามมา
  • สามารถพบอาการท้องเสียจากการใช้ยาเซโฟแทกซีม แพทย์มักจะแนะนำว่าไม่ควรใช้ยาอื่นๆมาบำบัดอาการท้องเสียด้วยตนเอง แต่ควรให้แพทย์เป็นผู้วิเคราะห์ว่าผู้ป่วยสมควรต้องได้รับยาแก้ท้องเสียหรือไม่
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวโดยเฉพาะโรคเบาหวานเมื่อได้รับยาเซโฟแทกซีมอาจทำให้ผลการตรวจสอบน้ำตาลในปัสสาวะมีค่าที่ผิดเพี้ยนไปจากปกติ ผู้ป่วยควรต้องสื่อสารกับแพทย์ที่ทำการรักษาโรค เบาหวานด้วยว่ามีการใช้ยาเซโฟแทกซีม

ยาเซโฟแทกซีมเป็นยาอีกหนึ่งรายการที่องค์การอนามัยโลกรับรองให้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่ควรมีประจำไว้ในสถานพยาบาล คณะกรรมการอาหารและยาของไทยก็ได้บรรจุให้ยาเซโฟแทกซีมอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยระบุเงื่อนไขการใช้ดังนี้

1. ใช้สำหรับการติดเชื้อในทารกแรกเกิดเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิด Kernicterus (สมองอักเสบจากสารบิลิรูบินสูงในเลือด) จากการใช้ยา Ceftriaxone

2. ใช้สำหรับโรคติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลางที่เกิดจากแบคทีเรียแกรมลบในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี

3. ใช้เป็นยาแทน (Alternative drug) ของยา Ceftriaxone ซึ่งมีสรรพคุณใกล้เคียงกันแต่ต่างกันที่ยาเซโฟแทกซีมมีระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้นกว่ายา Ceftriaxone แพทย์จึงต้องให้ยาเซโฟแทกซีมบ่อยกว่าโดยเฉลี่ยวันละ 3 - 4 ครั้งในขณะที่ใช้ยา Ceftriaxone เพียงวันละครั้งเท่านั้น

อนึ่งการใช้ยาเซโฟแทกซีมจะต้องกระทำแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น และผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมการใช้ยานี้ได้จากแพทย์ผู้รักษาและเภสัชกรได้โดยทั่วไป

เซโฟแทกซีมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เซโฟแทกซีม

ยาเซโฟแทกซีมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • บำบัดและรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียตามอวัยวะต่างๆเช่น สมองและเยื่อหุ้มสมอง ช่องท้อง กระดูก ข้อ อุ้งเชิงกราน ปอด ผิวหนัง ระบบทางเดินปัสสาวะ เยื่อหุ้มหัวใจ
  • รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด/ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ
  • ใช้ป้องกันการติดเชื้อในระหว่างการผ่าตัด
  • บำบัดรักษา Lyme disease (การติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Borrelia )

เซโฟแทกซีมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเซโฟแทกซีมมีกลไกออกฤทธิ์โดยตัวยาจะยับยั้งการสร้างสารเปบทิโดไกลแคน (Peptido glycan) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของการสร้างผนังเซลล์ในแบคทีเรียส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้และตายลงในที่สุด

เซโฟแทกซีมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเซโฟแทกซีมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาฉีดขนาด 0.5, 1, 2 และ 10 กรัม/ขวด
  • ยาฉีดขนาด 1 กรัม/50 มิลลิลิตร และ 2 กรัม/50 มิลลิลิตร

เซโฟแทกซีมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเซโฟแทกซีมมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาได้หลากหลายขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยแพทย์พิจารณาจากชนิดของโรคและความรุนแรงของอาการโรค ในบทความนี้ขอยกตัวอย่าง เช่น

ก. การใช้ยาในผู้ใหญ่จะเหมาะสมกับหลายอาการโรคดังนี้เช่น:

  • การติดเชื้อในกระแสเลือด: ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 1 - 2 กรัมทุก 6 - 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 14 วัน ขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 2 กรัมทุก 4 ชั่วโมง
  • การติดเชื้อที่สมอง: ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 2 กรัมทุก 4 - 6 ชั่วโมง ขนาด การใช้ยาสูงสุดขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • การติดเชื้อในช่องท้อง: ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 1 - 2 กรัมทุก 6 - 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 7 - 14 วัน ขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 2 กรัมทุก 4 ชั่วโมง
  • การติดเชื้อในข้อกระดูก: ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อก็ได้ขนาด 1 - 2 กรัมทุก 6 - 8 ชั่วโมงเป็นเวลา 1 - 4 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ขนาดการใช้ยาสูง สุดไม่เกิน 2 กรัมโดยฉีดเข้าหลอดเลือดดำทุก 4 ชั่วโมง

นอกจากนี้ยังมีขนาดการใช้ยาเพื่อบำบัดอาการโรคของผู้ใหญ่อีกมากมายที่ไม่สามารถระบุลงในบทความนี้ได้หมด

ข. การใช้ยากับเด็กเท่าที่พบเห็นเป็นดังนี้เช่น:

  • บำบัดรักษาอาการ Lyme disease: เด็กอายุ 1 เดือนขึ้นไป: ใช้ยาขนาด 150 - 200 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งฉีดเข้าหลอดเลือดดำวันละ 3 - 4 ครั้งระยะเวลาการใช้ยาอยู่ ที่ 14 - 28 วัน ขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 6 กรัม/วัน
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็กในอาการติดเชื้อแบคทีเรียตามอวัยวะต่างๆซึ่งยังมิได้ระบุในบทความนี้ ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเซโฟแทกซีม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซโฟแทกซีมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?

การฉีดยาเซโฟแทกซีมจะกระทำในสถานพยาบาลโดยมีตารางการฉีดยาตามคำสั่งของแพทย์ การลืมให้ยากับผู้ป่วยจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก

เซโฟแทกซีมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเซโฟแทกซีมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆดังนี้เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มีภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ มีภาวะชัก
  • ผลต่ออวัยวะไต: เช่น มีครีเอตินิน (Creatinine, ค่าการทำงานของไต) ในเลือดสูง กรวยไตอักเสบ
  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเต้นเร็ว
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีภาวะผื่นคัน ลมพิษ Stevens-Johnson syndrome
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะต่างๆเช่น Eosinophilia (เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil สูง) Leukopenia (เม็ดเลือดขาวทุกชนิดต่ำ) Granulocytopenia (เม็ดเลือดขาวชนิด Granulocyte ต่ำ) Neutropenia (เม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil ต่ำ) Thrombocytopenia (เกล็ดเลือดต่ำ) โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก
  • ผลต่อการทำงานของตับ: เช่น มีระดับ SGOT (Serum glutamic oxaloacetic transaminase, เอนไซม์การทำงานของตับ) และ SGPT (Serum glutamic pyruvic transaminase, เอนไซม์การทำงานของตับ) ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น ช่องคลอดอักเสบ เกิดการติดเชื้อราในช่องคลอด

มีข้อควรระวังการใช้เซโฟแทกซีมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเซโฟแทกซีมเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • หากใช้ยานี้แล้วเกิดอาการแพ้ยาต้องหยุดใช้ยานี้ทันทีและแจ้งแพทย์/พยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉินเช่น ผื่นคันขึ้นทั้งตัว หายใจลำบาก ริมฝีปากบวม
  • ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะท้องเสีย ถ่ายอุจจาระเหลว ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ กรณีการถ่ายมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด หรือท้องเสียอย่างรุนแรง ต้องรีบรายงานและแจ้งแพทย์/พยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ผู้ป่วยต้องได้รับยานี้จนครบคอร์ส (Course) ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดอาการเชื้อดื้อยา
  • ห้ามใช้ยานี้ที่มีสิ่งเจือปนเช่น กรณีพบฝุ่นผงปนมากับตัวยา
  • ยานี้ใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ห้ามนำไปรักษาการติดเชื้อไวรัสเพราะยานี้ฆ่าไวรัสไม่ได้
  • การใช้ยานี้ติดต่อกันนานๆจะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อชนิดอื่นที่ยาเซโฟแทกซีมไม่สามารถต่อต้านได้อย่างเช่น เชื้อรา เป็นต้น
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเซโฟแทกซีมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เซโฟแทกซีมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเซโฟแทกซีมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเซโฟแทกซีมร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดเช่น Ethinyl estradiol ด้วยจะสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตั้งครรภ์ตามมา ควรคุมกำเนิดด้วยถุงยางอนามัยชายระหว่างใช้ยานี้
  • การใช้ยาเซโฟแทกซีมร่วมกับยา Probenecid อาจทำให้ระดับยาเซโฟแทกซีมในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงที่รุนแรงตามมาเช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และทำให้ไตทำงานผิดปกติ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาเซโฟแทกซีมร่วมกับยา Amikacin อาจก่อให้เกิดผลเสียกับไตรวมถึงมีภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ต่างๆร่วมด้วยเช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะลดลง หัวใจเต้นผิดปกติ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาเซโฟแทกซีมอย่างไร?

ควรเก็บยาเซโฟแทกซีมตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เซโฟแทกซีมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเซโฟแทกซีมที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Cefomic (เซโฟมิก) L. B. S.
Ceforan (เซโฟแรน) General Drugs House
Cefox (เซฟอกซ์) Utopian
Claforan (คลาฟอแรน)sanofi-aventis
Claraxim (คลาราซิม) Siam Bheasach
Fotax (โฟแท็กซ์)M & H Manufacturing
Necaxime (เนกาซิม) Nectar Lifesciences

บรรณานุกรม

  1. http://www.drugs.com/cdi/cefotaxime.html [2016,April23]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Cefotaxime [2016,April23]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/cefotaxime/?type=brief&mtype=generic [2016,April23]
  4. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/85#item-8590 [2016,April23]
  5. http://www.drugs.com/drug-interactions/cefotaxime-index.html?filter=2&generic_only= [2016,April23]