เซโคบาร์บิทอล (Secobarbital)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเซโคบาร์บิทอล(Secobarbital หรือ Secobarbital sodium) เป็นอนุพันธ์ยาในกลุ่มบาร์บิทูเรต(Barbiturate) ในอังกฤษจะรู้จักกันในชื่อ “ควินาลบาร์บิโทน (Quinalbarbitone)” ข้อบ่งใช้ของยานี้เพื่อใช้เป็น ยานอนหลับ ยาช่วยคลายความวิตกกังวล บำบัดอาการชัก หรือใช้เป็นยาสงบประสาท/ยาคลายเครียดกับผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด ตัวยานี้จะออกฤทธิ์ลดกิจกรรมต่างๆในระบบประสาทที่รวมถึงสมองโดยเลียนแบบสารกาบา(GABA) รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเซโคบาร์บิทอลเป็นยารับประทาน และสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 90% หลังรับประทานยานี้ประมาณ 10–15 นาที ตัวยาก็จะเริ่มออกฤทธิ์ ขนาดรับประทาน 100 มิลลิกรัม สามารถทำให้ร่างกายหลับได้ยาวนานทั้งคืน ยาเซโคบาร์บิทอลจะมีระยะเวลาอยู่ในร่างกายของเด็กนานน้อยกว่าของผู้ใหญ่ ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายยาชนิดนี้/ยานี้ก่อนที่จะขับทิ้งไปกับปัสสาวะ

ยาเซโคบาร์บิทอลมีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ รวมถึงผู้ที่มีภาวะหายใจขัด/หายใจลำบากหรือทางเดินหายใจตีบตัน เคยมีผู้ลักลอบใช้ยาเซโคบาร์บิทอลเป็นยากระตุ้นความบันเทิง (Recreational drug) และก่อให้เกิดกรณีเสียชีวิตโดยผู้เสพใช้ยานี้เกินขนาด หรือไม่ก็มีอาการทางประสาททำร้ายร่างกายตนเอง เพื่อความมั่นใจว่ายาเซโคบาร์บิทอลมีความปลอดภัยต่อตนเอง ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรเรียนรู้และปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา ต้องแจ้งประวัติการเจ็บป่วย มีโรคประจำตัวชนิดใดบ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคของระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคตับ โรคไต โรคซึมเศร้า โรคพิษสุราเรื้อรัง หรือเคยมีประวัติติดยาเสพติด
  • กรณีผู้ป่วยเป็นสตรี ต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบว่าตนเองอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือไม่ ด้วยตัวยาเซโคบาร์บิทอลสามารถทำให้ทารกในครรภ์เสพติดยาได้
  • หากเป็นสตรีในภาวะให้นมบุตร แล้วมีความจำเป็นต้องใช้ยาเซโคบาร์บิทอล แนะนำให้เลี้ยงบุตรด้วยนมผงดัดแปลงแทนน้ำนมของมารดา ทั้งนี้เพื่อป้องกันการส่ง ผ่านตัวยานี้ผ่านทางน้ำนมไปถึงทารก
  • การรับประทานยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ทั้งขนาดและระยะเวลาของการใช้ยานี้เพื่อหลีกเลี่ยงอาการติดยา และการถอนยา
  • ห้ามแบ่งยาชนิดนี้ให้ผู้อื่นรับประทาน
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมสุราหรือเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์เพราะจะกดการทำงานของระบบประสาท/กดสมองมากยิ่งขึ้น
  • รีบหยุดใช้ยานี้ แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด หากพบเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ เช่น มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงในลักษณะอยากทำร้ายตนเอง รู้สึกสับสน เกิดอาการประสาทหลอน วิตกกังวลมากขึ้น

ตามกฎหมายของไทย ยาเซโคบาร์บิทอลจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2 เราจึงไม่พบเห็นการซื้อขายยานี้ตามร้านขายยาเหมือนยาอันตรายชนิดอื่นๆ และหากผู้ป่วยมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ยานี้ สามารถปรึกษาแพทย์ที่ทำการตรวจรักษาหรือสอบถามจากเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป

เซโคบาร์บิทอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เซโคบาร์บิทอล

ยาเซโคบาร์บิทอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็น ยานอนหลับ ยาคลายความวิตกกังวล/ยาคลายเครียด
  • ใช้เป็นยาสงบประสาท/กดสมองก่อนเข้ารับการผ่าตัด

เซโคบาร์บิทอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาเซโคบาร์บิทอลมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้ารวมตัวกับตัวรับ(Receptor)ในสมองที่มีชื่อว่า GABA receptor ส่งผลยับยั้งการส่งสัญญาณประสาทในสมอง เกิดภาวะสงบประสาท และทำให้นอนหลับได้ยาวนาน 6–8 ชั่วโมง

เซโคบาร์บิทอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเซโคบาร์บิทอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่บรรจุ Secobarbital sodium ขนาด 100 มิลลิกรัม/แคปซูล

เซโคบาร์บิทอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเซโคบาร์บิทอลมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับบำบัดอาการนอนไม่หลับ:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 100 มิลลิกรัม ก่อนนอน
  • เด็ก: การใช้ยานี้และขนาดยานี้ในเด็กอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

ข.สำหรับสงบประสาทก่อนเข้ารับการผ่าตัด:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 200–300 มิลลิกรัม ก่อนเข้ารับการผ่าตัด 1–2 ชั่วโมง
  • เด็ก: รับประทานยา 2–6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ก่อนเข้ารับการผ่าตัด ขนาดรับประทานสูงสุดในเด็กไม่เกินครั้งละ 100 มิลลิกรัม

อนึ่ง:

  • ไม่ควรใช้ยานี้นานเกิน 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการเสพติดยาเซโคบาร์บิท

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเซโคบาร์บิทอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซโคบาร์บิทอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเซโคบาร์บิทอล สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

เซโคบาร์บิทอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเซโคบาร์บิทอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และท้องผูก
  • ผลต่อการเกิดมะเร็ง: เช่น การใช้ยานี้ติดต่อกันนานอาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งตับ และเนื้องอกสมอง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ฝันร้าย กระสับกระส่าย ประสาทหลอน นอนไม่หลับ วิตกกังวล พฤติกรรมต่างๆเปลี่ยน นอกจากนี้ยังต้องระวังการติดยาเซโคบาร์บิทอลที่อาจเกิดขึ้น

*และประการสำคัญ การได้รับหรือใช้ยานี้เกินขนาด สามารถทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้จากการกดสมองของยานี้

มีข้อควรระวังการใช้เซโคบาร์บิทอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเซโคบาร์บิทอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ที่ติดสุรา และผู้ใช้ยาเสพติด
  • ห้ามใช้ยานี้ต่อเนื่องนานเกิน 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามรับประทานยาอื่นใดร่วมกับยาเซโคบาร์บิทอลโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยา
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • หากรับประทานยานี้ตามขนาดที่แพทย์แนะนำแล้ว ยังมีอาการนอนไม่หลับ ห้ามปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นเอง ควรกลับมาพบแพทย์เพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษา
  • ห้ามใช้ยานี้ผิดวัตถุประสงค์ของการรักษา เช่น นำไปใช้ในลักษณะของยากระตุ้นความบันเทิง ด้วยมีเหตุทำให้ผู้เสพยาเซโคบาร์บิทอลเกินขนาดเสียชีวิตมาแล้ว
  • ห้ามขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆเมื่อมีอาการง่วงนอนที่เป็นผลจากการใช้ยานี้ รวมถึงการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะมีผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ซึ่งเป็นอาการแพ้ยานี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเซโคบาร์บิทอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เซโคบาร์บิทอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเซโคบาร์บิทอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาเซโคบาร์บิทอลร่วมกับยา Hydrocodone, Codeine, Tramadol เพราะจะทำให้กดระบบประสาทส่วนกลางมากขึ้นจนส่งผลให้มีอาการหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เกิดภาวะโคม่า และถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด
  • ห้ามใช้ยาเซโคบาร์บิทอลร่วมกับ ยาFentanyl เพราะยาเซโคบาร์บิทอลสามารถทำให้ระดับยา Fentanyl ในกระแสเลือดลดต่ำลงจนเป็นเหตุให้ด้อยประสิทธิภาพของการรักษา นอกจากนี้การใช้ยาร่วมกันยังทำให้มีภาวะกดประสาทส่วนกลางสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจไม่ออก และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเซโคบาร์บิทอลร่วมกับ ยาDicumarol เพราะจะทำให้ฤทธิ์ยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือดจากตัวยาDicumarol ต่ำลง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเซโคบาร์บิทอลร่วมกับ ยาChlorpheniramine เพราะจะทำให้เกิดอาการ วิงเวียน รู้สึกสับสน และขาดสมาธิมากขึ้น

ควรเก็บรักษาเซโคบาร์บิทอลอย่างไร?

ควรเก็บยาเซโคบาร์บิทอลภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เซโคบาร์บิทอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเซโคบาร์บิทอล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Seconal (ซีโคนอล)Ohm Pharmaceuticals

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Secobarbital [2018,March24]
  2. https://www.drugs.com/ppa/secobarbital.html [2018,March24]
  3. https://www.drugs.com/dosage/secobarbital.html [2018,March24]
  4. https://davisplus.fadavis.com/3976/meddeck/pdf/secobarbital.pdf [2018,March24]
  5. SECONAL SODIUMSECOBARBITAL SODIUM ... - DailyMed [2018,March24]