เซเลกิลีน (Selegiline)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

เซเลกิลีน (Selegiline, ชื่ออื่น เช่น  L-deprenyl)  คือ ยารักษาโรคพาร์กินสัน, และยังใช้เป็นยาต้านเศร้าได้อีกด้วย, โดยจัดอยู่ในกลุ่มยา  Selective MAO-B inhibitors (Selective Monoamine oxidase B inhibitor, ยาที่เกี่ยวกับการทำงานของสารสื่อประสาทชนิด Dopamine), และสามารถใช้เป็นยาเดี่ยว หรือหากใช้ร่วมกับยา Levodopa ก็สามารถลดขนาดการใช้ยา Levodopa ลงได้,  รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ เช่น ยาชนิดรับประทานทั้งแบบเม็ดแบบแคปซูล และในรูปแบบพลาสเตอร์ปิดผิวหนัง

ขณะที่ยาเซเลกิลีน ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดทางระบบทางเดินอาหาร หรือทางผิวหนังจะเกิดการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 90%, ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายยานี้อย่างต่อเนื่อง, ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อกำจัดยาเซเลกิลีนโดยเฉพาะชนิดรับประทานออกจากกระแสเลือด

การใช้ยาเซเลกิลีนสำหรับบำบัดอาการของโรคพาร์กินสัน จะต้องอาศัยความต่อเนื่อง, การหยุดใช้ยานี้ทันทีทันใดจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) จากยาเซเลกิลีนติดตามมา  เช่น มีไข้ รู้สึกสับสน มีความนึกคิดผิดปกติไป หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ และการขับเหงื่อออกลดลง

ผู้ที่รับประทานยาเซเลกิลีนอย่างต่อเนื่องอาจได้รับผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ปากคอแห้ง ทนสภาพอากาศร้อนได้ไม่ดีเท่าเดิม คลื่นไส้  ปวดท้อง และผู้ป่วยบางรายอาจหลับได้ในทันทีขณะทำกิจกรรมใดๆอยู่ก็ตาม, แพทย์จึงมักแนะนำให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานกับเครื่องจักรเมื่อมีการใช้ยานี้เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

การรับประทานยาเซเลกิลีนร่วมกับอาหารที่มีสารไทรามีน (Tyramine, สารที่มีผลต่อการทำ งานของสารสื่อประสาทบางชนิด)สูง เช่น ชีส/เนยแข็ง (Cheese) ไวน์แดง เบียร์ เนื้อสัตว์ ตับ กล้วย และอะโวคาโด  อาจทำให้ความดันโลหิตของผู้ป่วยสูงขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรหมั่นตรวจสอบความดันโลหิตของตนเองอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำเมื่อใช้ยานี้

การใช้ยาเซเลกิลีนกับผู้ป่วยสูงอายุจะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะจัดเป็นผู้ ป่วยกลุ่มที่สามารถเกิดอาการข้างเคียงต่างๆจากยานี้ได้ง่ายกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ, หรือการจะใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร แพทย์จะต้องพิจารณาถึงผลดี-ผลเสียมาประกอบกันก่อนใช้ยานี้

*สำหรับผู้ป่วยที่เผลอรับประทานยาเซเลกิลีนเกินขนาดนั้น จะก่อให้เกิดพิษต่อระบบประสาทส่วนกลางโดยสังเกตจากอาการมีไข้รวมถึงสัญญาณชีพต่างๆในร่างกายผู้ป่วยผิดปกติ มีรายงานว่าการใช้ยานี้ผิดขนาดโดยใช้ร่วมกับยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มTCAsเป็นเหตุให้ผู้ป่วยถึงตายได้  

ยาเซเลกิลีน ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับผู้ป่วยเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนความปลอดภัยในการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างเพียงพอ

ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้จัดให้ยาเซเลกิลีนอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น และห้ามผู้ป่วยไปซื้อยามารับประทานเอง

เซเลกิลีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

 

ยาเซเลกิลีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น         

  • บำบัดอาการโรคพาร์กินสัน
  • บำบัดอาการโรคซึมเศร้า

เซเลกิลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธ์ของยาเซเลกิลีน คือตัวยาจะแทรกแซงและรบกวนการดูดกลับของสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า ‘โดพามีน’ ในบริเวณส่วนประสาทที่ เรียกว่า ไซแนปส์ (Synapse, จุด/รอยประสานประสาท), ส่งผลให้เกิดการปรับสมดุลใหม่ของสารสื่อประสาทในร่างกายทำให้อาการของโรคพาร์กินสันและอาการซึมเศร้าดีขึ้น

เซเลกิลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเซเลกิลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:  เช่น  

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 5 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทานขนาด 5 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • พลาสเตอร์ปิดผิวหนังขนาดความแรง 6, 9 และ 12 มิลลิกรัม/24 ชั่วโมง

เซเลกิลีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเซเลกิลีนมีขนาดการใช้: เช่น

ก. บำบัดโรคพาร์กินสัน: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 5 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งพร้อมอาหาร, ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม/วัน

ข. บำบัดอาการซึมเศร้า:  เช่น

  • ผู้ใหญ่: ใช้ยาเซเลกิลีนในรูปแบบพลาสเตอร์ปิดผิวหนังขนาด 6 มิลลิกรัม/24 ชั่วโมงปิดผิว หนังวันละ1ครั้ง, ขนาดการใช้ที่เหมาะสมอยู่ที่ 6 - 12 มิลลิกรัม/24 ชั่วโมง, ขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 12 มิลลิกรัม/24 ชั่วโมง วันละ1ครั้ง

*อนึ่ง ในเด็ก: ทางคลินิกยังไม่มีข้อมูลการใช้ยานี้ในผู้ป่วยเด็ก การจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเซเลกิลีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซเลกิลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเซเลกิลีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม การลืมรับประทานยาเซเลกิลีนบ่อยๆหลายครั้ง ประสิทธิภาพในการรักษาจะลดลงด้วย

เซเลกิลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเซเลกิลีน สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย:  เช่น

  • ผลต่อภาวะทางจิต: เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล สับสน ซึมเศร้า ประสาทหลอน ฝันแปลกๆ อารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น ก้าวร้าวขึ้น
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม ปวดหัว เสียสมดุลของการทรงตัว ชาปลายนิ้วมือ-เท้า ง่วงนอน เกิดไมเกรน
  • กรณีรับประทานยานี้เกิน 10 มิลลิกรัม/วัน อาจทำให้เกิดการสูญเสียความทรงจำไประยะหนึ่ง
  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็มีภาวะความดันโลหิตต่ำ ใบหน้าแดง ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากคอแห้ง เกิดแผลในปาก คลื่นไส้ กระเพาะอาหารอักเสบ ปวดท้อง   ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย เบื่ออาหาร ท้องอืด อาเจียน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจพบอาการ ผื่นคัน ผมร่วง ผิวหนังติดโรคเชื้อรา หรือเกิดแผลที่ผิวหนัง
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด  ต่อมลูกหมากโต
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ หรือ เกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อกระตุก
  • ผลต่อการมองเห็น: เช่น เกิดตาพร่า และมีการมองเห็นภาพที่ผิดปกติไป

มีข้อควรระวังการใช้เซเลกิลีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเซเลกิลีน: เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ ร่วมกับยา Fluoxetine, Bupropion, Buspirone, ยากลุ่ม SSRI, Propoxyphene, Tramadol, ยากลุ่ม TCAs, ยากลุ่ม MAOIs, ยากลุ่ม 5-HT1 agonist
  • ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยเนื้องอก ฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง หรือหยุดการใช้ยานี้ทันที โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • *หากอาการไม่ดีขึ้นหลังการใช้ยานี้ ควรรีบต้องกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • *หยุดการใช้ยานี้ทันที หากพบอาการแพ้ยาหลังรับประทาน และรีบมาโรงพยาบาล อาจทันที/ฉุกเฉิน ตามความรุนแรงของอาการ
  • ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับเฝ้าดูพฤติกรรมของผู้ป่วยว่า มีความคิดอยากทำร้ายตนเองหรือไม่ ถ้าพบผิดปกติ ต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
  • ระวังการรับประทานยานี้ ร่วมกับอาหารที่มีสารไทรามีน (Tyramine) สูง, ควรรับประทานอาหารตามคำแนะนำของแพทย์
  • พาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเซเลกิลีนด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เซเลกิลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเซเลกิลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น:  เช่น

  • ห้ามใช้ยาเซเลกิลีน ร่วมกับยา Phentermine, Pseudoephedrine, ด้วยอาจทำให้ ความดันโลหิตสูงถึงระดับอันตรายจนทำให้อาจถึงตายตามมาได้
  • ห้ามใช้ยาเซเลกิลีน ร่วมกับยา Fenfluramine, 5-hydroxytryptophan, ด้วยจะทำให้เกิด กลุ่มอาการเซโรโทนินซึ่งกรณีที่รุนแรงที่สุดถึงกับทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการโคม่าและถึงตายในที่สุด
  • การใช้ยาเซเลกิลีน ร่วมกับยา Albuterol (Salbutamol) อาจเพิ่มอาการข้างเคียงต่อหัวใจตามมาเช่น หัวใจเต้นผิดปกติ เจ็บหน้าอก   หัวใจเต้นเร็ว  ความดันโลหิตสูง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาเซเลกิลีน ร่วมกับยา Hydrochlorothiazide อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำและทำให้ปวดหัว   วิงเวียน เป็นลม อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ เพื่อป้องกันอาการข้างเคียงดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาเซเลกิลีนอย่างไร?

ควรเก็บยาเซเลกิลีน: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่อง แช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เซเลกิลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเซเลกิลีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Julab (จูแล็บ) Biolab
Jumex (จูเม็กซ์) sanofi-aventis
Sefmex (เซฟเม็กซ์) Unison

 

อนึ่ง: ยาชื่อการค้าของยาเซเลกิลีนในประเทศตะวันตกเช่น Eldepryl, Emsam

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Monoamine_oxidase_inhibitor  [2022,Nov26]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Selegiline  [2022,Nov26]
  3. https://www.drugs.com/mtm/selegiline.html  [2022,Nov26]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Sefmex/?type=BRIEF  [2022,Nov26]
  5. https://www.mims.com/malaysia/drug/info/selegiline?mtype=generic  [2022,Nov26]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/selegiline-index.html?filter=3&generic_only=  [2022,Nov26]