เซรุ่มแก้พิษงู (Snake Antivenom)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ในประเทศไทย มีอุบัติการณ์ผู้ป่วยถูกงูกัดประมาณ 7,000 – 8,000 รายต่อปี (ทั้งงูพิษและงูไม่มีพิษ) ส่วนใหญ่แล้วเป็นงูที่ไม่ทราบชนิด พิษของงูในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ

ก. งูที่มีพิษต่อระบบประสาท เช่น งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาต และหยุดหายใจ

ข. งูที่มีพิษต่อระบบโลหิต เช่น งูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ พิษของงูจะกระตุ้นการทำงานของ Coagulation Factor(สารเกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด)ซึ่งช่วยในการแข็งตัวของเลือด ทำให้ Factor เหล่านี้ในร่างกายลดจำนวนลง จึงทำให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย

ค. งูที่มีพิษต่อกล้ามเนื้อ เช่น งูทะเล ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลายตัว (Rhabdomyolysis) และเกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง (Hyperkalemia)

“เซรุ่มแก้พิษงู บางท่านออกเสียงเป็น ซีรัมแก้พิษงู (Snake antivenom)” ถือเป็นยาพื้นฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ในบัญชียาจำเป็น ในประเทศไทยมีการผลิตเซรุ่มใช้โดยสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ทั้งแบบ

  • เซรุ่มแก้พิษงูเฉพาะชนิด (Monovalent antivenom) และ
  • เซรุ่มแก้พิษงูรวม (Polyvalent antivenom)

โดยการนำพิษงูในปริมาณที่เหมาะสมไปกระตุ้นในม้าและสกัดสารภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทาน/ภูมิต้านทานออกมาจากเลือดของม้า

ทั้งนี้ปริมาณการให้เซรุ่มฯในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นกับ วิจารณญาณของแพทย์ ชนิดของงู และการตอบสนองต่อเซรุ่มฯของผู้ป่วย

เซรุ่มแก้พิษงูมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เซรุ่มแก้พิษงู

เซรุ่มแก้พิษงูมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ในการต่อต้านพิษของงูในผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากงู การพิจาณาใช้เซรุ่มแก้พิษงูของงู มีความแตกต่างกันไปในตามลักษณะของอาการซึ่งขึ้นกับประเภทของงู ได้แก่

ก. งูพิษต่อระบบประสาท พิจาณาใช้เซรุ่มฯเมื่อมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เช่น เริ่มมีอาการหนังตาตก แต่ในงูบางสายพันธุ์ เช่น งูทับสมิงคลา หรืองูสามเหลี่ยม ควรให้เซรุ่มฯโดยทันทีแม้ยังไม่มีอาการ

ข. งูที่มีพิษต่อระบบโลหิต พิจารณาใช้เมื่อมีเลือดออกตามระบบอวัยวะต่างๆ เช่น อาเจียนเป็นเลือด หรือมีค่า/เวลาในการแข็งตัวของเลือดผิดปกติจากการตรวจเลือด มีเกล็ดเลือดต่ำ หรือมีอาการปวดบวมเฉพาะที่อย่างรุนแรง(อาจเกิดจากเลือดคั่งจนเป็นก้อนบวม)

เซรุ่มแก้พิษงูมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

เซรุ่มแก้พิษงู เป็นสารโปรตีนที่ได้จากการสกัดเลือดของม้าที่ได้รับการฉีดกระตุ้นด้วยพิษงู (Antigen) ในปริมาณที่เหมาะสม ม้าจะสร้างสารภูมิคุ้มกันที่เรียกว่าอิมมิวโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) มีส่วนประกอบสำคัญคือสารภูมิคุมกันชนิดอิมมิวโนโกลบูลิน จี (Immunoglobulin G, IgG) ซึ่งIgGจะเข้าจับกับพิษของูในกระแสเลือดอย่างจำเพาะ และทำให้หมดความเป็นพิษ

เซรุ่มแก้พิษงูมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร? และมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

เซรุ่มแก้พิษงูที่มีใช้ในประเทศไทย ผลิตโดยสถานเสาวภา สภากาชาดไทย แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

ก. เซรุ่มแก้พิษงูเฉพาะชนิด (Monovalent antivenom) สำหรับงู 7 สายพันธุ์ ได้แก่ เซรุ่มแก้พิษงูเห่า (Naja kaouthia) เซรุ่มแก้พิษงูจงอาง (Ophiophagus hannah) เซรุ่มแก้พิษงูสามเหลี่ยม (Bungarus fasciatus) เซรุ่มแก้พิษงูทับสมิงคลา (Bungarus candidus) เซรุ่มแก้พิษงูกะปะ (Calloselasma rhodostoma) เซรุ่มแก้พิษงูเขียวหางไหม้ (Trimeresurus albolabris) เซรุ่มแก้พิษงูแมวเซา (Daboia russelli siamensis)

ข. เซรุ่มแก้พิษงูรวม (Polyvalent antivenom) ผลิตจากการนำพิษงูหลายสายพันธุ์ไปกระตุ้นในม้าตัวเดียว มี 2 ชนิด คือ

  • เซรุ่มแก้พิษงูรวมระบบประสาท (Neuro polyvalent snake antivenom) สำหรับแก้พิษ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา
  • เซรุ่มแก้พิษงูรวมระบบโลหิต (Hemato polyvalent snake antivenom) สำหรับแก้พิษ งูแมวเซา งูกะปะ และงูเขียวหางไหม้

เซรุ่มพิษงูของสถานเสาวภา มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็น ‘ยาผงแห้ง’ ต้องละลายด้วยสารละลายซึ่งบรรจุมากับบรรจุภัณฑ์

ขนาดของเซรุ่มฯที่ควรให้แก่ผู้ป่วย ยังไม่ค่อยมีการศึกษามากนัก ปริมาณการให้เซรุ่มฯขึ้นกับชนิดของงู บริหารโดยการหยดเข้าหลอดเลือดดำ ซึ่งแพทย์/พยาบาลจะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชนิดในระหว่างการให้เซรุ่มฯ เซรุ่มฯจะออกฤทธิ์ใน 1 ชั่วโมง ส่วนอาการทางคลินิกของผู้ป่วย ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งจึงจะดีขึ้น หากการตอบสนองต่อการักษาไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาให้เซรุ่มฯซ้ำ

เมื่อมีการสั่งเซรุ่มแก้พิษงูควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งใช้เซรุ่มแก้พิษงู ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้ เช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมี
  • ประวัติโรคประจำตัว ทั้งโรคที่เคยเป็น โรคที่กำลังดำเนิน/เป็นอยู่ และโรคเรื้อรัง
  • ประวัติการใช้ยา ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่าย และยาที่ซื้อใช้เอง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร
  • แจ้งให้แพทย์/พยาบาล และเภสัชกรทราบ หากกำลังตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร

เซรุ่มแก้พิษงูมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

เซรุ่มแก้พิษงู อาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากยา/เซรุ่มฯ เช่น มีอาการปวดบริเวณที่ฉีดยา มีปฏิกิริยาทางผิวหนัง เช่น ขึ้นผื่น และ อาจมีไข้

อาการต่อไปนี้อาจพบได้แต่น้อยมาก ได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน และมีปฏิกิริยาทางการไหลเวียนของเลือด (เช่น หัวใจเต้นเร็ว หรือ หัวใจเต้นช้า กว่าปกติ ความดันโลหิตต่ำ เหงื่อออกมาก วิงเวียนศีรษะ) และ ปฏิกิริยาภูมิแพ้ (เช่น ใบหน้าแดง คอแดง ลมพิษ ผื่นคัน หายใจลำบาก) บางรายอาจเป็นมากถึงเกิดอาการช็อกได้ ซึ่งอาจพบในช่วงระหว่างขณะกำลังรับเซรุ่มฯ หรือภายในช่วงระยะเวลาสั้นๆภายหลังการได้รับเซรุ่มฯ

ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดปฏิกิริยาภายหลังรับยา/เซรุ่มฯไปแล้ว 1-2 สัปดาห์ หลังการรับเซรุ่ม เช่น อาการไข้ ปวดข้อ มีผื่นตามร่างกาย ส่วนมากมักมีอาการไม่รุนแรง สามารถรักษาตามอาการได้

มีข้อควรระวังการใช้เซรุ่มแก้พิษงูอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้เซรุ่มแก้พิษงู เช่น

  • ผู้ป่วยที่ถูกงูเห่า หรือ งูจงอางกัด อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
  • เนื่องจากเซรุ่มแก้พิษงู เตรียมจากพลาสมาของม้า จึงอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาแพ้/แพ้ยาต่อโปรตีนม้าได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาดังกล่าว ก่อนฉีดเซรุ่มฯควรทดสอบความไวของผู้ป่วยโดยฉีดเซรุ่มฯเจือจาง 1:100 ปริมาณ 0.02 มล. เข้าใต้ผิวหนังผู้ป่วยเพื่อดูปฏิกิริยา อย่างไรก็ตาม การทดสอบนี้ไม่สามารถคาดการณ์การเกิดอาการช็อกและ/หรืออาการแพ้ได้ทั้งหมด100%ในผู้ป่วยทุกราย และทางการแพทย์ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าผู้ป่วยคนใดจะเกิดหรือไม่เกิดปฏิกิริยาแพ้ยาจากการฉีดเซรุ่มฯนี้

ควรเก็บรักษาเซรุ่มแก้พิษงูอย่างไร?

ควรเก็บรักษาเซรุ่มแก้พิษงูโดยฝ่ายเภสัชกรรมของสถานพยาบาล ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ในตู้เย็น แต่ให้เก็บในที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส(Celsius) หรือเก็บรักษาด้วยวิธีการอื่นตามที่ระบุบนฉลากของยา/เอกสารกำกับยา/เซรุ่มฯ

บรรณานุกรม

  1. สถานเสาวภา สภากาชาดไทย. เซรุ่มแก้พิษงู http://www.saovabha.com/th/product_serum.asp?nTopic=2 [2018,May26]
  2. สุชัย สุเทพารักษ์. เซรุ่มต้านพิษงู. คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี https://med.mahidol.ac.th/poisoncenter/sites/default/files/public/pdf/books/Antidote_book3-03_Antivenoms.pdf [2018,May26]